โครงการ APEC Future Food for Sustainability (เอเปก ฟิวเจอร์ ฟูด ฟอร์ ซัสเทนเอบิลิตี้) เปิดโอกาสให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ ในฐานะประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมผู้นำ APEC ที่ผ่านมา ประกวด เมนูอาหารอนาคต ภายใต้แนวคิด BCG แสดงศักยภาพ Soft power ด้านอาหาร วัตถุดิบไทย และความเป็นคลังอาหารของโลก เน้นความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม โดยมี 21 ทีมผ่านเข้ามาเป็นตัวแทนประเทศไทยรังสรรค์เมนูให้แก่ผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจ
นายวิษณุ วงศ์สุมิตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางจาก รีเทล จำกัด หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินการประกวดโครงการ APEC Future Food for Sustainability ให้นิยามอาหารอนาคตเอาไว้ว่า “ต้องเป็นอาหารที่สอดคล้องกับชีวิตประจำวัน ในความหมายคือ ต้องสะดวก ครบถ้วนองค์ประกอบของอาหาร ต้องไม่ทำร้ายร่างกาย ยกตัวอย่าง สารอาหารที่ให้ความหวาน ก็ควรจะแคลอรีต่ำ หรือ 0 แคลอรี หรืออาหารที่เป็นไขมันดี รับประทานแล้วไม่ทำให้ร่างกายแย่ลง เข้ากับวิถีชีวิตที่สะดวก อร่อยด้วย ดีต่อสุขภาพด้วย”
นิยาม อาหารอนาคต ของผู้บริหาร บางจาก รีเทล สอดรับกับแนวคิด ความยั่งยืน อย่างชัดเจน “กลุ่มบางจากเป็นกลุ่มพลังงานสีเขียว ที่เพิ่มธุรกิจใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นพลังงานทางเลือก หรือธุรกิจเกี่ยวกับชีวภาพที่มีมูลค่าสูง ผ่านบริษัทลูกต่างๆ ยกตัวอย่างร้านกาแฟ ‘อินทนิล’ ซึ่งกำลังจะครบ 1,000 สาขาในเดือนธันวาคมนี้ เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่าทั้ง 1,000 สาขาของอินทนิลใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เราดูแลโลกด้วยการเสิร์ฟกาแฟในบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ นอกจากธุรกิจของเราโตขึ้น ธุรกิจของเราก็ยังไม่ทำร้ายหรือทำลายโลก ถึงแม้จะเป็นร้านกาแฟ แต่ด้วยนโยบายเพื่อความยั่งยืน เราพยายามทำทุกอย่างให้อยู่บนพื้นฐานของการไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมให้มันแย่ลง”
ในฐานะกรรมการตัดสินการประกวด วิษณุยังเชื่ออีกว่าโครงการนี้เป็นแรงผลักดันต่อวงการอาหารอนาคตในประเทศไทยได้ “การที่เรามีอาหารอนาคต มันทำให้เปิดโลก จากเดิมคนเชื่อว่าอาหารที่ดีต่อสุขภาพมักจะน่าเบื่อ การกินซ้ำอาจเกิดขึ้นได้ยาก คนที่มี inspiration ต้องยุติหรือทำลายความคิดด้วย financial ที่มันไม่แข็งแรง เคยมีการพูดคุยกันว่า กินอาหารคลีนยังไงก็ไม่อ้วน เพราะต่อมื้อมีราคาแพงมากกว่าอาหารธรรมดาถึงสองสามเท่าตัว จะซื้อเพิ่มก็ยากเพราะรู้สึกว่าราคาสูง จากโครงการนี้ องค์กรใหญ่อย่างเรามองว่าเป็นความ Mass ที่เป็นพลังที่ดี น่าจะเป็นทางที่ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยมันต่ำลง ยิ่งผลิตได้เพิ่มขึ้น ต้นทุนก็มีโอกาสจะถูกลงได้อีก คนรักสุขภาพก็จะเข้ามาจูนกับเรื่องนี้ เป็นแรงผลักดันที่ดี”
โครงการประกวดในครั้งนี้ บางจาก รีเทล ยังกล่าวถึงแนวทางการส่งเสริมสนับสนุน ‘อาหารอนาคต’ ไว้อีกว่า “โครงการนี้นำโดย ‘เชฟชุมพล’ ทางเราแม้จะเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ แต่ก็ไม่ใช่คนที่ชี้ขาดว่าอร่อยหรือไม่ เพราะมีผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารที่ทรงคุณวุฒิมากมายหลายท่านมาช่วยกัน แต่สิ่งสำคัญในการมีส่วนร่วมของเรา เป็นการได้มามองว่าอาหารแต่ละเมนูนอกจากอร่อยแล้ว จะแปลงเป็น commercial (คอมเมอร์เชียล) ได้อย่างไร มากน้อยแค่ไหน เพราะร้านอินทนิล 1,000 สาขาที่ตั้งอยู่ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ การที่เราจะทำให้สินค้าหนึ่งอย่างจำหน่ายพร้อมๆ กันด้วยมาตรฐานเดียวกัน ถือว่ายากมากๆ ร้านเราขายเครื่องดื่ม ขนม เบเกอรี ใช้วิธีการ frozen เกือบทั้งหมด เพื่อควบคุมมาตรฐานเดียวกันได้ ลูกค้าที่เข้าอินทนิลจะมีความเชื่ออยู่แล้วว่ามีมาตรฐานเดียวกันทุกสาขา ขนมหรืออาหารอนาคตก็เช่นกัน สมมติว่าทำอร่อยเสร็จเรียบร้อย อยากรู้วิธีการถนอมอาหารของเมนูนี้ เมื่อต้องไปอยู่ที่หน้าสาขา มีคุณภาพดีแล้ว ก็ต้องเกิดประสิทธิภาพด้วย”
ส่วนการได้เห็นกลุ่มคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยให้ความสนใจส่งผลงานเข้าประกวดโครงการ APEC Future Food for Sustainability วิษณุ MD แห่งบางจาก รีเทล ชื่นชมว่า “น้องๆ ที่เข้ารอบมา 21 ทีม ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพด้านวิชาการ รู้ว่าอะไรมีประโยชน์ อะไรควรสร้างสรรค์แบบไหน เป็นคนรักในการทำอาหาร จากเทคโนโลยีมันจะเปลี่ยนมาเป็นรสชาติที่ดี ท้ายสุดคือการปรุง การจัดดิสเพลย์ การพรีเซ็นต์ ให้อาหารมันน่ารับประทาน ทำให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่ไม่ใช่อยากจะเป็นแต่เจ้าของช่องยูทูบแค่นั้น ทำอะไรก็ตามถ้าจะจับไว้ที่ ‘ปัจจัยสี่’ มันจะยั่งยืน คือ อสังหาริมทรัพย์ อาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม มันเปลี่ยนทฤษฎีนี้ไม่ได้จริงๆ ถ้าจะเปลี่ยนก็เปลี่ยนแค่รูปแบบเท่านั้น”
นอกจากชื่นชมศักยภาพของผู้เข้าประกวด ยังสนใจการต่อยอดในเมนูที่ถูกรังสรรค์ขึ้นมา “ที่น่าสนใจคืออาหารไทยที่เป็นของหวาน ของว่างประเภทเมี่ยง ไอศกรีม รวมไปถึงของหวานแคลอรีต่ำ เพราะสอดคล้องกับร้านของเราที่ขายเครื่องดื่ม การที่ควบคู่ไปกับสแน็กหรือของว่างที่มีความเป็นไทย แล้วถูกปรับจูนให้สอดรับกับความเป็นอาหารในอนาคต มันดีและน่าสนใจมาก” นายวิษณุ วงศ์สุมิตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางจาก รีเทล จำกัด ยังทิ้งท้ายเรื่องโอกาสการเติบโตอุตสาหกรรมอาหารอนาคตไว้ว่า “ประเทศไทยอยู่ในภูมิประเทศที่เหมาะสมกับการเป็นแหล่งผลิตอาหารของโลก มองว่าเป็นโอกาสของประเทศไทย เพราะเราขึ้นชื่อเรื่องอาหารอร่อย โอกาสที่จะเติบโตในอุตสาหกรรมอาหารนั้นควรใช้โอกาสนี้ ในการที่จะทำมาตรฐานให้มันสอดคล้องกับเวทีโลก อยู่แค่ในประเทศไทยอาจจะเล็กเกินไป เราต้องเป็นครัวของโลก ไม่ว่าจะเป็นการส่งวัตถุดิบ หรืออาหารสำเร็จรูป ช่องทางการจัดจำหน่ายกับพันธมิตรในแต่ละประเทศ แต่ละทวีป ถ้าเรารวมตัวกันแล้วทำให้ประเทศไทย เป็นที่ส่งออกอาหารที่มีคุณภาพทั่วโลกได้น่าจะดี ไม่ต้องรอให้แต่ละคนมีโอกาสแล้วมากิน หรือแค่การมาเที่ยวมาชิม”
ที่มา: https://mgronline.com/onlinesection/detail/9650000116003