ทำไมต้องรอกฎหมาย EPR? ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกได้ด้วย อีโค ดีไซน์

EPR: Extended Producer Responsibility คือ เครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ผลิตสร้างความรับผิดชอบไปยังช่วงต่างๆ ของวงจรชีวิตบรรจุภัณฑ์ สามารถช่วยให้ผู้ผลิตได้คำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร

ตั้งแต่การเริ่มต้นคิด การออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติก การจัดส่งกระจายสินค้า การรับคืน การเก็บรวบรวม การใช้ซ้ำ จนนำมาสู่การนำกลับมาใช้ใหม่

ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี” นักวิจัยชำนาญการ สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ได้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดกฎหมาย EPR ในประเทศไทย เพื่อให้เกิดระบบที่มีประสิทธิภาพ และยั่งยืน ซึ่งในเยอรมันได้ออกกฎหมาย EPR ฉบับแรกเมื่อ 30 ปีที่แล้ว และในประเทศเพื่อนบ้านของไทย ทั้ง เวียดนาม สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ก็เริ่มพัฒนากฎหมายตัวนี้แล้ว ขณะที่ไทย เพิ่งเริ่มคุยกัน และคาดว่าจะสามารถผลักดันให้ออกมาเป็นกฎหมายภายในอีก 3-5 ปี โดยการทำงานร่วมกับสภาอุตสาหกรรม

แน่นอนว่า กว่าจะออกมาเป็นกฎหมาย ต้องผ่านกระบวนการและใช้เวลาค่อนข้างมาก ระหว่างนี้ในเชิงสมัครใจ ก็อยากให้ผู้มีส่วนร่วมมาช่วยกันสร้างระบบ บรรจุภัณฑ์ที่ยากต่อการรีไซเคิล ทางนักวิชาการ เราเตรียมข้อมูลมาเป็นมาตรการส่งเสริม ถ้าสามารถปรับ ออกเป็นอีโค ดีไซน์ได้ ก็ดี รับผิดชอบบรรจุภัณฑ์ที่ท่านใช้ ปัญหาก็จะคลี่คลายไปได้ระดับหนึ่ง

หากปรับไม่ได้ รีไซเคิลคอนเทนต์ หรือการเลือกใช้วัสดุรีไซเคิลในการผลิตบรรจุภัณฑ์ให้มากขึ้น ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ตรงนี้ก็สามารถช่วยได้ ยิ่งเพิ่มปริมาณให้มากกว่าที่กฎหมายกำหนด ก็ยิ่งดี

“ชัยยุทธิ์ พลเสน” นายกสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า กล่าวว่า บรรดาซาเล้งมีปัญหาเรื่องการคัดแยกบรรจุภัณฑ์ค่อนข้างมาก ส่งผลกระทบต่อการคัดแยกนำไปขายสร้างรายได้ และการคัดแยกเพื่อนำไปรีไซเคิล จากเมื่อก่อนที่เก็บขยะมาแล้ว รายได้กว่า 80% ตอนนี้ขายได้แค่ 50% หากมีเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์กำกับที่บรรจุภัณฑ์ บอกว่าอันนี้เป็นพลาสติกอะไร มีส่วนผสมอะไรเท่าไร รีไซเคิลได้เท่าไร ก็จะช่วยได้เยอะ โดยเฉพาะสำหรับผู้บริโภค ที่ต้องการสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อม

“จะใช้เป็นโลโก้ซาเล้งก็ได้ ว่าบรรจุภัณฑ์นี้รีไซเคิลได้กี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตอนนี้ทางสมาคมซาเล้ง มีการพูดคุยกับ กรมควบคุมมลพษ ขอให้บรรจุเข้าไปในมติที่ประชุม และขณะนี้เราเตรียมทำหนังสือ ยื่นถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอเแนวทางเข้าไป”

“ดร.สุจิตรา” กล่าวเพิ่มเติมว่า ตอนนี้กำลังทำตัวคอนเซ็ปท์ ข้อเสนอทางกม. ทั้งเรื่องของตัวสัญลักษณ์ ที่จะทำให้ผู้บริโภคเห็นแล้วเข้าใจว่าสามารถคัดแยกได้อย่างไร และทำมาตรการส่งเสริมทางการเงินการคลัง หรือทางภาษี ซึ่งทำพร้อมๆ กับเชิงระบบ เพื่อทำให้ผู้บริโภคสะดวกในการคัดแยก

เรื่องของพลาสติกมีรายละเอียดค่อนข้างมาก อย่างพลาสติกชีวภาพ ก็มีหลายหมวด ตอนนี้ทางกระทรวงทรัพย์ฯ พยายามจะให้เหลือหมวดเดียวเรียกว่า คอมโพสเทเบิลพลาสติก เป็นพลาสติกที่สลายตัวได้ทางชีวภาพ ในสภาวะที่เหมาะสมต้องใช้อุณหภูมิที่ค่อนข้างสูง เช่น แก้วกาแฟที่บางร้านบอกว่าเป็นไบโอพลาสติก ย่อยสลายได้ คือ จริงๆ ต้องย่อยสลายในโรงปุ๋ยหมักที่อุณหภูมิสูงกว่า 60 องศา ซึ่งบ้านเรายังไม่มีโรงปุ๋ยหมักที่อุณหภูมิสูงขนาดนี้ เพราะฉะนั้น ถ้าลงทะเลก็ไม่ย่อย หรือพลาสติกแตกสลาย คือ พลาสติกที่เอาเชื้อไบโอไปเสริม มันคือ แตกสลาย ไม่ย่อย คำว่าย่อยสลายต้องแยกเป็นโมเลกุลดียว

สรุปคือ หากกฎหมาย EPR จะเข้ามาช่วยเสริมสร้างระบบให้แข็งแรงขึ้น กำหนดบทบาทความรับผิดชอบ แต่หากเป็นไปได้ ผู้ผลิตที่มีความรับผิดชอบและสามารถดำเนินการได้ด้วยความสมัครใจ การออกแบบบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม น่าจะช่วยให้การแก้ไขปัญหาเรื่องพลาสติกเดินหน้าได้เร็วขึ้น โดยไม่ต้องรอกฎหมายอีก 3-5 ปี

 

ที่มา: https://www.thansettakij.com/sustainable/543234 

วันที่ 10 ตุลาคม 2565