ก.อุตฯ นำร่องรีไซเคิลกระดาษ 1 หมื่นกิโลมอบคืนสังคม เตรียมขยายผลนำกระดาษใช้แล้ว วนกลับมาใช้ใหม่

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงฯ เป็นหน่วยงานราชการนำร่องที่นำกระดาษใช้งานแล้วมารีไซเคิลกลับมาใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมผ่านโครงการ 80 ปี กระทรวงอุตสาหกรรม 8,000 กิโลกรัม รีไซเคิลสู่สังคม ซึ่งดำเนินการร่วมกับ บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP ในโอกาสวาระครบรอบ 80 ปีของการก่อตั้ง โดยมีหน่วยงานในสังกัดทั้ง 7 กรมเข้าร่วมด้วยการรวบรวมคัดแยกเศษกระดาษกลับมาใช้งานใหม่เพื่อเป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรม และรีไซเคิลเพื่อมอบแก่สังคม ซึ่งสอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนและนโยบาย BCG Economy ของรัฐบาล (Bio-Circular-Green Economy)หลังจากเปิดตัวโครงการ กระทรวงฯ ได้ตั้งกล่องรับเศษกระดาษขนาดใหญ่ที่ด้านล่างอาคาร และขนาดเล็กของทุกหน่วยงานภายในและมีกิจกรรมรณรงค์เรื่องการแยกกระดาษเพื่อประโยชน์สูงสุด เมื่อรับเศษกระดาษเต็มแล้ว SCGP จะส่งรถมาจัดเก็บประมาณเดือนละ 2 ครั้ง แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ กระดาษขาวดำ กระดาษกล่อง และกระดาษรวม ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. - 31 ส.ค. 65 เป็นเวลา 6 เดือน สามารถรวมกระดาษใช้งานแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 11,596 กิโลกรัม เกินกว่าเป้าหมาย 8,000 กิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 145

โครงการดังกล่าวก่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ คิดเป็นมูลค่ารวม 25,228 บาท ได้กระดาษ 194 รีม ผลิตภัณฑ์จากการรีไซเคิลกระดาษ 1 ชุด ได้สร้างเครือข่ายเศรษฐกิจหมุนเวียน 7 หน่วยงาน ทางด้านสังคม ได้สร้างความรู้ความเข้าใจถึงแนวคิด BCG ให้บุคลากร จำนวน 324 คนจากองค์กร 133 แห่งทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้รีไซเคิลผลิตภัณฑ์เพื่อมอบสู่สังคม ประกอบด้วย มูลนิธิ องค์กรการกุศล และโรงเรียน รวม 8 แห่ง ทางด้านสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) และความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ลดการตัดต้นไม้ 197 ต้น ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) 7,885 กิโลกรัม ลดการใช้น้ำ 301,496 ลิตร ลดการใช้เชื้อเพลิง 16,234 ลิตร และลดการใช้พลังงาน 46,384 กิโลวัตต์ รวมทั้งเป็นการรองรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในอนาคต นายกอบชัยกล่าว

กระทรวงอุตสาหกรรมมีแผนดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง และขยายผลไปยังหน่วยงานส่วนภูมิภาคในปี พ.ศ. 2566 ในรูปแบบการแลกกระดาษ Old for New เฉพาะจังหวัดที่มีโรงงาน SCGP ก่อน อาจจะนำร่อง 6-8 จังหวัดตามความพร้อม ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางประเมินตัวชี้วัดที่ 4.2 เรื่อง การลดใช้กระดาษ ของ สำนักงาน กพร. และเป็นการมุ่งสู่ระบบราชการ 4.0 (PMQA 4.0) โดยกระดาษทั้งหมดที่เข้าโครงการฯ จะถูกนำเข้ากระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมกระดาษและบรรจุภัณฑ์เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น กระดาษรีมใหม่ กล่อง และชุดเฟอร์นิเจอร์กระดาษ เป็นต้น

นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP กล่าวเพิ่มเติมว่า SCGP ยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ ซึ่งสอดคล้องกับกรอบแนวคิด ESG 4 Plus ของบริษัท ได้แก่ 1.มุ่ง Net Zero 2.Go Green 3.Lean เหลื่อมล้ำ 4.ย้ำร่วมมือ Plus เป็นธรรม โปร่งใส ด้วยการมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อสร้างประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ ในการจัดการกระดาษรีไซเคิลอย่างมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง และ SCGP พร้อมที่จะสานต่อความร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรมและทุกภาคส่วนในการขยายผลการจัดการกระดาษรีไซเคิลผ่านกิจกรรมรูปแบบต่าง ๆ เพื่อประสานพลังในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

 

ที่มา: https://www.ryt9.com/s/prg/3361708 

วันที่ 04 ตุลาคม 2565