“หลอดกระจูด” รักษ์โลกจากแดนใต้ ลดปัญหาไฟป่า สร้างรายได้สู่ชุมชน

บริษัท นารา วิสาหกิจ เพื่อสังคม จำกัด ผู้ผลิตหลอดจากธรรมชาติ โดยใช้ต้นกระจูดที่ก่อให้เกิดปัญหาไฟป่าอยู่บ่อยครั้ง มาต่อยอด แปรรูปให้เกิดประโยชน์ ซึ่งเป็นวัตถุดิบธรรมชาติ 100% สามารถใช้ได้ทั้งเครื่องดื่มทั้งร้อนทั้งเย็นทุกประเภท นานถึง 3 วัน และทิ้งลงดินเพื่อให้ย่อยสลายเป็นปุ๋ยได้ภายใน 6 เดือน โดยถือว่าเป็น “หลอดแห่งความสุข ที่สร้างสันติสุขในชุมชน ถูกสุขอนามัย ปลอดภัยต่อทั้งมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม”


นายศุภากร บุรินทร์ชาติ ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท นารา วิสาหกิจ เพื่อสังคม จำกัด เล่าว่า หลังจากที่เรียนจบปริญญาโท ในสายวิศวกรรมศาสตร์มา ก็เริ่มสนใจในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงพัฒนาองค์ความรู้ในเรื่องของ Automation Green technology เรื่อยมา ปัญหาที่พบส่วนใหญ่ในการทำงานด้านนี้นั้น คือปัญหาของการแยกขยะ ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ไม่นิยมแยกขยะทำให้เกิดปัญหาในการจัดเก็บ และรีไซเคิล หนึ่งในนั้นก็คือขยะจากหลอดพลาสติก ซึ่งหลอดถือเป็นขยะติดเชื้อ หากได้รับการจัดเก็บที่ไม่ดี ขยะกลุ่มนี้ก็จะถูกละเลย ไหลเกลื่อนไปตามท่อระบายน้ำ ออกสู่คลอง แม่น้ำ และทะเลต่อไปเรื่อยๆ


ทั้งนี้ขยะเหล่านี้เมื่อได้ลงสู่ทะเลแล้ว ก็จะเกิดอันตรายกับระบบนิเวศ รวมไปถึงสิ่งมีชีวิต อย่างสัตว์ทะเลอีกด้วย พลาสติกเหล่านี้จะแตกตัวจนกลายเป็นไมโครพลาสติก ที่ไม่สามารถย่อยสลายได้และยังไม่สามารถมองเห็นได้อีกด้วย สัตว์ทะเลทั้งหลายก็จะกินพลาสติกหรือแม้แต่ดูดซึมเข้าไปตามทางปาก ทางเหงือกและผิวหนังได้อีกด้วย หลังจากนั้นสัตว์ทะเลพวกนี้ คนก็ไปจับนำมาเป็นอาหาร คนก็กินเข้าไปกลายเป็นวัฏจักรอยู่อย่างนี้เรื่อยไป ซึ่งก็มีคนที่คิดหาทางแก้ปัญหาอยู่หลายรูปแบบ ทั้งหลอดกระดาษ หลอดไบโอพลาสติกแต่ก็ยังไม่ได้รับชุดข้อมูลที่ถูกต้องว่าต้องคัดแยกขยะอย่างไร หรือการย่อยสลายของหลอดประเภทนี้ต้องทำอย่างไร


จึงมาลงเอยที่ “หลอดกระจูด” ซึ่งหลอดชนิดนี้เป็นหลอดดูดจากพืชธรรมชาติ กระจูดบางนรานำมาจากแหล่งธรรมชาติ ทำมาจากลำต้นของต้นหญ้าที่มีลักษณะลำต้นกลวง มีลักษณะเฉพาะที่สามารถนำมาผลิตเป็นหลอดดูด หลอดกาแฟ ผ่านเทคโนโลยีวิศวกรรม ด้านอาหารจนได้หลอดปลอดเชื้อ ปลอดภัยต่อคน สัตว์และสิ่งแวดล้อม ซึ่งคุณสมบัติหลอดกระจูด คือ เป็นวัตถุดิบธรรมชาติ 100% สามารถใช้ได้ทั้งเครื่องดื่มทั้งร้อนทั้งเย็นทุกประเภท นานถึง 3 วัน สามารถทิ้งลงดิน เพื่อให้ย่อยสลายเป็นปุ๋ยได้ภายใน 6 เดือน


ทั้งยังสามารถสร้างอาชีพใหม่ในชุมชนชาวจังหวัดนราธิวาส สร้างผลิตภัณฑ์เป็นหลอดเกรดพรีเมี่ยม ทั้งยังสามารถสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมการผลิตที่พิถีพิถัน เพื่อผู้บริโภคมั่นใจใน สุขอนามัย สะอาดปลอดภัยได้มาตรฐานสากล หลอดกระจูด มีคาร์บอนฟุตพริ้นเข้าใกล้ศูนย์ เป็นมิตรต่อทั้งผู้บริโภค สัตว์ และสิ่งแวดล้อม


ซึ่งกระบวนการผลิต เนื่องจากต้นกระจูดเป็นพืชที่ชุ่มน้ำ ก็จะนำมาผ่านกระบวนการการตรวจสอบและทำความสะอาด ล้างทั้งผิวด้านในและด้านนอก ต่อด้วยกระบวนการฆ่าเชื้อด้วยโอโซน (Ozone) และฆ่าเชื้ออีกรอบโดยการสเตอริไลซ์ เป็นการใช้ความร้อนที่อุณหภูมิสูงกว่า 100 °C ต่อด้วยกระบวนการอบทั้งอบด้วยแสง UV แสงอาทิตย์และตู้อบลมร้อน ทำให้ไม่มีเชื้อหลงเหลืออยู่รวมไปถึงสารเคมีไม่มีเจือปนอยู่ด้วย


สำหรับราคาจะขาย มี 2 ขนาด ขนาด 14 cm กล่องละ 80 บาท มีจำนวนหลอด 50 หลอดต่อกล่อง ขนาด 20 cm กล่องละ 150 บาท มีจำนวนหลอด 100 หลอดต่อกล่อง แบบแพค บรรจุกล่องละ 30 กล่องต่อแพค ราคาแพคละ 3,600 บาท กำลังการผลิตจะอยู่ที่ 500,000 หลอดต่อเดือน ได้มาตรฐานการรับรอง มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน มผช.1558/2563 หลอดจากพืช รวมไปถึงได้รับเครื่องหมายฮาลาล


นอกจากนี้แล้วยังเป็นการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาไฟไหม้ตามป่าพรุ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศ PM2.5 คลายคนคงคุ้นเคยกับข่าวที่เกิดไฟไหม้ตามป่าพรุ

สาเหตุก็เกิดมาจากเวลาที่หน้าแล้งขึ้นมาทีไร จะเกิดไฟไหม้ป่าทุกปี เนื่องจากพืชเหล่านี้พอแห้งแล้ว จากลำต้นที่สูงยาวและมีเป็นจำนวนมาก พอมีเชื้อไฟหรือแม้แต่การเสียดสีของลำต้นเองก็สามารถก่อให้เกิดเป็นไฟลามทุ่งได้ ซึ่งเป็นอันตรายเป็นอย่างมาก


บริษัท นารา วิสาหกิจ เพื่อสังคม จำกัด ยังมีบริษัทแม่ที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร ชื่อว่า บริษัท อังกูร วิสาหกิจ เพื่อสังคม จำกัด ผลิตและจำหน่ายหลอดต่างๆ เช่น หลอดจากต้นข้าว หลอดจากกัญชง เป็นต้น กำลังการผลิตหากรวมกับ บริษัท นาราฯ แล้วจะอยู่ที่ 800,000 - 1,000,000 หลอดต่อเดือน


ในอนาคตพยายามที่จะเข้าหาหน่วยงานราชการมากขึ้น รวมไปถึงเพิ่มการสนับสนุนจากรัฐบาล เนื่องจากปัจจุบันยังไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร ตอนนี้ก็มีกระทรวงอุตสาหกรรม ที่เข้ามาช่วยดูแลในด้านการลดต้นทุนการผลิต รวมไปถึงช่องทางการจัดจำหน่าย ส่วนกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ก็เข้ามาช่วยดูแลในด้านความยั่งยืน วิธีการจัดการวัตถุดิบให้ยังมีใช้ตลอดไป รวมไปถึงเรื่องรายได้ของคนในชุมชนอีกด้วย เป็นต้น


สุดท้ายนี้ต้องการฝากถึงผู้บริโภคว่า ถ้าหากคำนึงถึงราคาของหลอดเพียงอย่างเดียว แน่นอนว่าหลอดจากธรรมชาติเช่นนี้จะเป็นงานที่ใช้กำลังคนทำมือค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้นการที่จะไปสู้ราคากับหลอดพลาสติกนั้นมีโอกาสน้อยมาก แต่ต้องการให้คำนึงถึงต้นทุนของการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม บวกกับต้นทุนทางสังคมที่ได้กลับมาสนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจในชุมชน กลุ่มผู้มีรายได้น้อยหรือกลุ่มรากหญ้าของคนในประเทศ ราคาที่ขายอยู่ทุกวันนี้ไม่ได้แพงไปกว่ากันเท่าใดนัก


ช่องทางการสั่งซื้อ สามารถสั่งซื้อได้ในทางออนไลน์ได้ทั้ง เฟซบุ๊ก : หลอดรักษ์โลก Natural Straw
เว็บไซต์ : narasocialenterprise.com
และช่องทาง Shopee และ Lazada

 

ที่มา: https://mgronline.com/smes/detail/9640000042762

วันที่ 07 พฤษภาคม 2564