เปิดสูตร “ยั่งยืน” แบบ “ไทยเบฟ”

การตลาด - กลุ่มไทยเบฟเดินหน้ารับมือความท้าทาย ดันธุรกิจนอนแอลฯ ขึ้นมามีบทบาทเทียบกลุ่มหลักทั้งหมด รับเทรนด์ตลาดเฮลท์แอนด์เวลเนส พร้อมลุยธุรกิจใหม่อีวี ขณะที่งบลงทุนปีหน้าไม่เกิน 8,000 ล้านบาท ชะลอการไล่ซื้อธุรกิจเน้นสร้างผลลัพธ์ธุรกิจในพอร์ตโฟลิโอที่ซื้อมาก่อนหน้ามากมาย พร้อมเดินหน้าจัดงาน Sustainability Expo 2022 หรือ SX 2022

กลุ่มบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าสู่เป้าหมายแห่ง PASSION 2025 ตามพันธกิจเดิมที่วางไว้ ท่ามกลางความท้าทายของการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะกับสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และแน่นอนว่าโควิดก็ยังคงไม่จบง่ายๆ

ขณะที่ผลกระทบอื่นๆ ก็ยังคงเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ถดถอยลง ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศและทั่วโลกก็ยังคงอยู่ในสภาวะที่เผชิญกับปัจจัยลบหลายประการ ภาวะค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงในขณะนี้ เป็นต้น

ล่าสุดกลุ่มไทยเบฟได้ทำการปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ โดยผลักดันให้กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ขึ้นมามีบทบาทมากขึ้น ควบคู่ไปกับกลุ่มธุรกิจสุรา และเบียร์ และอาหาร เพื่อให้เป็นอีกตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจและสร้างการเติบโตแบบยั่งยืน ซึ่งแม้ว่ามาร์จิ้นจะต่ำกว่ากลุ่มสุราและเบียร์ก็ตาม แต่กลุ่มไม่มีแอลกอฮอล์ก็จะสอดคล้องกับเทรนด์ของโลกในขณะนี้ที่ผู้บริโภคใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้นผ่านธุรกิจเฮลท์แอนด์เวลเนสที่กำลังเติบโตอย่างดีทั่วโลก

ตอกย้ำด้วยตัวเลขตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในประเทศกลุ่มอาเซียนที่มีสัดส่วนตลาดมากถึงระหว่าง 32-87% ของตลาดเครื่องดื่มทั้งระบบ

ทั้งนี้ ไทยเบฟมีสัดส่วนรายได้มาจาก กลุ่มสุรา 45.6% มากที่สุด, รองลงมาคือ กลุ่มเบียร์ 43.3%, กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 5.8% และอาหาร 5.4% น้อยที่สุด ส่วนกำไรสุทธิ มาจากกลุ่มสุรา มากที่สุดที่ 75.3%, กลุ่มเบียร์ สัดส่วนกำไร 21.1%, กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 2.6% และกลุ่มอาหารแค่ 1% เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม แผนการดำเนินธุรกิจของไทยเบฟ ในปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม 2565-กันยายน 2566) วางไว้ที่ 5,000-8,000 ล้านบาท

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่ม บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปีหน้าทางกลุ่มฯ จะมุ่งดำเนินการธุรกิจที่ซื้อกิจการมาก่อนหน้านี้ที่มีจำนวนมาก เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ของการลงทุนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และต้องการเติบโตแบบธรรมชาติหรือออร์แกนิกโกรวธ์ ( Organic Growth) มากกว่าการไปซื้อกิจการใหม่ๆ เข้ามาอีก

“เราจะมุ่งเน้นเรื่องของการสร้างและขยายศักยภาพด้านดิจิทัลแพลตฟอร์ม ระบบโลจิสติกส์ อินโนเวชันต่างๆ รวมไปถึงการเน้นธุรกิจที่เกี่ยวกับเฮลท์แอนด์เวลเนส ในกลุ่มของธุรกิจที่ไม่มีแอลกอฮอล์ที่จะขยายมากขึ้นด้วย”

ประกอบกับธุรกิจใหม่ๆ ที่ไทยเบฟมีความสนใจลงทุนคือ เรื่องของธุรกิจเฮลท์แอนด์เวลเนส และธุรกิจเกี่ยวกับรถอีวีครบวงจร ซึ่งทั้งหมดต้องเติบโตแบบยั่งยืน (Enabling Sustainable Growth) ด้วยการตั้งเป้าหมายเพื่อให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

ในเรื่องของอีวีนี้ กลุ่มไทยเบฟได้มีการศึกษากันแล้วว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะทุกอย่างต้องเริ่มกันใหม่ในการสร้างอีโคซิสเต็มรองรับทั้งหมดทั้งระบบ เช่น การเปิดบริการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งอาจจะเปิดในทำเลหลากหลายทั้งในพื้นที่ของธุรกิจในเครือทั้งอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ และร้านอาหารในเครือด้วย อาทิ เคเอฟซี คาดว่าจะเริ่มได้ในต้นปีหน้า (2566) เบื้องต้นได้ทดลองติดตั้งหัวชาร์จรถอีวีที่ร้านเคเอฟซีแล้ว 2 แห่งจะเปิดบริการในปลายปี 65 นี้ อาจจะเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องให้เวลาอีกสักระยะ ขณะที่ธุรกิจเดิมที่ทำอยู่แล้วนั้นก็เป็นไปได้ด้วยดี

ทั้งนี้ ผลประกอบการในช่วง 9 เดือนแรกปีงบประมาณ 2565 (สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2565) ของทั้งกลุ่มมีประมาณ 207,922 ล้านบาท เติบโต 8.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ซึ่งยอดขายในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้สูงกว่าช่วงเดียวกันของสามปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าอุปสงค์ของตลาดกลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งและการบริหารตราสินค้าของเราประสบความสำเร็จ โดยมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายตัดบัญชี เติบโต 6.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เป็น 39,110 ล้านบาท

“ปีนี้ประเทศไทยและเวียดนามซึ่งเป็นตลาดหลักทั้งสองแห่งของเรา ได้ผ่อนคลายมาตรการควมคุมโควิด-19 ซึ่งรวมถึงข้อจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศและมาตรการทางสังคม จึงทำให้ผลประกอบการทั้งกลุ่มเติบโตขึ้น” นายฐาปนกล่าว

ถึงแม้การได้กลับมาใช้ชีวิตตามปกตินั้นจะเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่เรายังต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ จากภาวะเงินเฟ้อและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ท่ามกลางความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นจนอาจส่งผลกระทบต่อการบริโภคในครัวเรือน โดยเราจะยังคงดำเนินมาตรการบริหารต้นทุนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป เพื่อให้กลุ่มมีความพร้อมรับมือกับแรงกดดันเหล่านี้ และด้วยรากฐานอันมั่นคงของไทยเบฟ เราเชื่อมั่นว่าจะสามารถรับมือกับความท้าทายต่างๆ ได้อย่างมั่นคงและหนักแน่น แม้ช่วงเวลาอันเลวร้ายที่สุดของการระบาดของโควิด-19 จะผ่านพ้นไปแล้ว แต่เราจะไม่นิ่งนอนใจ เราจะมุ่งมั่นเสริมสร้างธุรกิจและเพิ่มความแข็งแกร่งทางการเงิน พร้อมทั้งดูแลและปกป้องบุคลากรของเราทั้งในด้านสุขภาพและความปลอดภัย
โดยสามารถแยกผลการดำเนินงานแต่ละธุรกิจได้ดังนี้

ธุรกิจสุรา
นายประภากร ทองเทพไพโรจน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจสุรา กล่าวว่า “ในปี 2565 นี้ภาพรวมของกลุ่มธุรกิจสุราในประเทศยังคงมีความแข็งแกร่ง และสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดได้ดี โดยรวงข้าวยังคงเป็นสุราขาวอันดับหนึ่ง ควบคู่กับหงส์ทอง สุราสีอันดับหนึ่งของประเทศไทย หากดูผลการวิจัยช่วง 12 เดือนย้อนหลัง แสงโสมสามารถเติบโตได้ถึงร้อยละ 9 เนื่องจากความแข็งแรงของตราสินค้า ประกอบกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวในประเทศไทยฟื้นตัว ในส่วนของธุรกิจในประเทศเมียนมา แม้ว่าสถานการณ์ในเมียนมาช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจะมีความท้าทาย แกรนด์ รอยัล กรุ๊ป ยังมีผลประกอบการที่แข็งแกร่งและสามารถครองตำแหน่งวิสกี้อันดับหนึ่งในเมียนมาไว้ได้”

ธุรกิจเบียร์
นายไมเคิล ไชน์ ฮิน ฟา ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจเบียร์ กล่าวว่า ผลประกอบการของธุรกิจเบียร์มีการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งทั้งในประเทศไทยและเวียดนาม โดยรายได้จากการขายของกลุ่มธุรกิจเบียร์เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.3 เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็น 92,573 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 ขับเคลื่อนโดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจซึ่งฟื้นตัวดีขึ้นในตลาดหลักทั้งสองแห่ง”

ธุรกิจเบียร์มีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.5 เป็น 13,446 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 จากการเพิ่มขึ้นของปริมาณขายและส่วนประสมของผลิตภัณฑ์ที่เอื้ออำนวย รวมถึงการขึ้นราคาและมาตรการควบคุมต้นทุนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

สายธุรกิจเบียร์ ประเทศไทย
นายเลสเตอร์ ตัน เต็ก ชวน ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจเบียร์ ประเทศไทย กล่าวว่า “ธุรกิจเบียร์ในประเทศไทยมีผลประกอบการดีขึ้น มีอัตรากำไรเพิ่มขึ้นในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ท่ามกลางความพยายามในการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดในกลุ่มสินค้าระดับ Mass Premium อย่างต่อเนื่อง ด้วยการเปิดตัว Chang Cold Brew ในเดือนตุลาคม 2562 และ Change Espresso Lager ในเดือนธันวาคม 2563 ซึ่ง Chang Cold Brew ได้ตอกย้ำความสำเร็จด้วยการเป็นตราสินค้าเบียร์ที่เติบโตเร็วที่สุดในกลุ่มสินค้าระดับ Mass Premium และขึ้นมาเป็นตราสินค้าเบียร์อันดับ 5 ของไทยได้ภายใน 1 ปี นอกจากนี้เรายังวางแผนอนาคตด้วยการบริหารตลาดแบบเจาะรายพื้นที่ในเชิงรุก

สายธุรกิจเบียร์ ประเทศเวียดนาม
นายเบนเน็ตต์ เนียว กิม เซียง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซาเบโก้ กล่าวว่า ซาเบโก้มีผลประกอบการที่แข็งแกร่งและมีอัตรากำไรเพิ่มขึ้น มีการเปิดตัว Bia Saigon Lager รุ่นลิมิเต็ดสำหรับเทศกาล Tet ปี 2565 นอกจากนี้เรายังดำเนินแผนงานซาเบโก้ 4.0 อย่างต่อเนื่องมุ่งเน้นเรื่องการเปลี่ยนแปลงแนวทางการทำงานผ่านการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง การลดความซับซ้อน และการสร้างมาตรฐาน และเปิดตัว Bia Saigon Special โฉมใหม่ในเดือนเมษายน 2565 โดยในช่วงการระบาดของโควิด-19 ซาเบโก้ยังคงว่าจ้างพนักงานของบริษัทกว่า 9,000 คน และร่วมสร้างรายได้เข้างบประมาณของรัฐเกือบ 435 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2564

ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์
ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์มีรายได้จากการขายในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 เป็นจำนวน 12,826 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 เมื่อเทียบกับปีก่อน อันเป็นผลจากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 ท่ามกลางการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศไทย โดยกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 เป็น 1,717 ล้านบาท

นายโฆษิต สุขสิงห์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานดิจิทัลและเทคโนโลยี กล่าวว่า เราเห็นโอกาสและได้ดำเนินการเพื่อจับกระแสของผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้นด้วยการขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่มีน้ำตาลน้อยและไม่มีน้ำตาลหรือพลังงาน รวมทั้งเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้รับสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” (Healthier Choice) ที่ผ่านการรับรองอีกด้วย
นอกจากนี้เรายังออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งรวมถึง “ZEA Tuna Essence” ซุปปลาทูน่าสกัด และ “Oishi Honey Lemon 0% Sugar” ซึ่งมียอดขายเติบโตถึงร้อยละ 70 นับตั้งแต่เปิดตัวและยังช่วยผลักดันยอดขายในตลาดชาพร้อมดื่มให้มากยิ่งขึ้น

ธุรกิจอาหาร
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 ธุรกิจอาหารมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.6 เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็น 11,990 ล้านบาท เนื่องจากการฟื้นตัวของการบริโภคภายในร้านอาหาร และการขับเคลื่อนการดำเนินกลยุทธ์อย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มความสามารถในการเจาะตลาดและเข้าถึงลูกค้า ทำให้ธุรกิจมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) เป็นจำนวน 1,578 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 104.1 เมื่อเทียบกับปีก่อน

นางนงนุช บูรณะเศรษฐกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจอาหาร ประเทศไทย กล่าวว่า “เราได้รับประโยชน์จากการที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ กลับมาดำเนินการได้อีกครั้งหลังจากการยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ช่วงโควิด-19 ทำให้ลูกค้าสามารถกลับมารับประทานในร้านอาหารได้ แต่ยอดขายของบริการส่งอาหารถึงบ้าน (home delivery) ก็ยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ เรายังเดินหน้าผลักดันการเจาะตลาดและการเข้าถึงลูกค้า ด้วยการเพิ่มจำนวนสาขาร้านอาหาร โดยเปิดเป็นร้านที่มีขนาดเล็กลงและใช้เงินลงทุนไม่สูงมาก รวมถึงมุ่งเน้นการเปิดร้านนอกห้างสรรพสินค้ามากยิ่งขึ้น

ในปี 2565 กลุ่มธุรกิจเปิดตัวร้าน OISHI BIZTORO และเปิดตัวร้าน Shabu by Oishi ซึ่งเป็นร้านชาบูแบบเลือกสั่งเป็นจาน (A La Carte) และยังมีร้านอาหารรูปแบบใหม่อย่าง KFC & Oishi Food Truck กับ KFC ที่สามารถสั่งได้ผ่านตู้ Kiosk และร้าน Oishi To Go

ส่วนประเด็นเรื่องของการที่แฟรนไชซีรายหนึ่งของเคเอฟซีในไทยที่มีกระแสข่าวก่อนหน้านี้ว่าจะขายสิทธิ์แฟรนไชส์นั้น
นางนงนุชกล่าวว่า ต้องมองใน 2 ประเด็นหลัก คือ นโยบายของทางยัมส์ฯ ต้องการสร้างสมดุลทางธุรกิจเคเอฟซีจึงแยกให้มี 3 แฟรนไชซีใหญ่ และอีกเรื่องคือ เราเองก็มองว่าที่ผ่านมาเราทำมา 4 ปีแล้ว เราก็สามารถโตได้ด้วยตัวเอง จากเดิมที่ซื้อสิทธิ์ตอนแรกมี 250 สาขา ขณะนี้เราขยายมาได้มากถึง 410 สาขาแล้ว เราใช้งบลงทุนของเราเองเท่านี้ก็สร้างการเติบโตขึ้นมาได้ ไม่จำเป็นต้องเอามาเพิ่มอีก และสามารถขยายการลงทุนด้วยงบที่น้อยกว่าการไปซื้อมาเพิ่มอีกด้วย

สรรค์สร้างการเติบโตที่ยั่งยืน
นางต้องใจ ธนะชานันท์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานความยั่งยืนและกลยุทธ์ กล่าวว่า กลยุทธ์ด้านความยั่งยืนของไทยเบฟถูกขับเคลื่อนด้วย 3 เสาหลัก โดยมีเป้าหมายต่อไปนี้
ด้านสิ่งแวดล้อม
• ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจากการดำเนินงานของกลุ่ม (Scope 1) และจากพลังงานที่กลุ่มซื้อมา (Scope 2) ให้เป็นศูนย์ภายในปี 2583
• คืนน้ำสู่ธรรมชาติและชุมชนให้ได้ 100% ภายในปี 2583
• ส่งมอบผลกระทบสุทธิเชิงบวกด้านความหลากหลายทางชีวภาพ

ด้านสังคม
• เพิ่มการมีส่วนร่วมของพนักงานให้ได้มากกว่าหรือเท่ากับ 90% ภายในปี 2573
• 80% ของรายได้จากธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ต้องมาจากเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพภายในปี 2573
• แบ่งปันและสร้างคุณค่าแก่สังคมผ่านเสาหลัก 5 ประการ ได้แก่ การศึกษา สาธารณสุข กีฬา ศิลปะและวัฒนธรรม และการพัฒนาชุมชนและสังคม

การบริหารจัดการภายใต้หลักธรรมาภิบาล
• วางมาตรฐานด้านการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพให้ครอบคลุมทั้งกลุ่มไทยเบฟ
• 100% ของคู่ค้ากลุ่มกลยุทธ์ต้องมีการจัดทำและบังคับใช้จรรยาบรรณสำหรับคู่ค้าของตนเอง
• ผสานความร่วมมือสู่ผลกระทบเชิงบวกด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล

ในปี 2564 ไทยเบฟบรรลุเป้าหมายแล้วดังนี้

• บรรลุเฟสที่ 1 ของโครงการติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาของโรงงาน (Solar Rooftop) ในไทย 5 แห่ง
• ขยายโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพเป็น 7 แห่ง สำหรับผลิตพลังงานความร้อนจากการเผาน้ำกากส่าซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการกลั่นแอลกอฮอล์ เพื่อใช้เป็นพลังงานในโรงงานแทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง
• เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนภายในองค์กรเป็น 41.8%
• ลดการใช้น้ำลง 6.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สำหรับพื้นที่ที่มีการดึงน้ำจากแหล่งน้ำมาใช้มาก (water-stressed area)
• ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน Scope 1 และ Scope 2 ลงได้ 9.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน
• เปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน Scope 3 เป็นครั้งแรก โดยมีหน่วยงานภายนอกร่วมยืนยัน
• นำขยะอาหารและของเสียอื่นๆ จำนวน 60.2% กลับมาใช้ใหม่เพื่อวัตถุประสงค์อื่น
• นำบรรจุภัณฑ์สินค้าจำนวน 82% กลับมาใช้ใหม่และรีไซเคิล (Reuse and Recycle)

*** งาน Sustainability Expo 2022 หรือ SX 2022
ขณะที่ในเรื่องของความยั่งยืน หรือ Sustainability นั้นทางไทยเบฟได้ร่วมมือกับ5 องค์กรธุรกิจชั้นนำด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนระดับสากล ยกระดับการจัดงาน Sustainability ครั้งล่าสุดนี้ให้ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน ภายใต้แนวคิด พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก (Sufficiency for Sustainability)

นายฐาปนกล่าวว่า “งาน Sustainability Expo 2022 หรือ SX 2022 จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เพื่อเปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนมารวมตัวกัน และขยายเครือข่ายออกไปยังต่างประเทศ แต่ยังคงยึดโมเดลและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาเป็นแนวทางในการจัดงาน และสร้างแรงบันดาลใจให้นำไปประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆ ให้เกิดความยั่งยืนในบริบทของสังคมไทย

จากการริเริ่ม TSX Expo ภายใต้เครือข่ายห่วงโซ่อุปทาน หรือ Thailand Supply Chain Network (TSCN) ใน 2 ปีที่ผ่านมา ปีนี้ 5 องค์กรธุรกิจ ได้แก่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสซีจี จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ผนึกกำลังกันพัฒนาแพลตฟอร์มสู่มหกรรมด้านความยั่งยืนระดับภูมิภาค ภายใต้ชื่อ SX 2022 นอกจากนี้ งาน SX2022 ยังเป็นแพลตฟอร์มที่นำเสนอโมเดลธุรกิจที่เรียกว่า B2C2B (Business-to-Consumer-to-Business) ซึ่งยึดผู้บริโภคเป็นแกนกลาง โดยเชื่อมโยงระหว่างองค์กรธุรกิจกับผู้บริโภค และผู้บริโภคจะเชื่อมโยงกลับสู่ภาคธุรกิจ

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การทำงานด้านความยั่งยืนถือเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจของไทยยูเนี่ยน โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้ผู้คน และดูแลรักษาความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล หรือ Healthy Living, Healthy Oceans ให้กับคนรุ่นต่อไป ภายใต้กลยุทธ์ด้านความยั่งยืนของเราที่เรียกว่า SeaChange® “ไทยยูเนี่ยนตั้งใจที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อทั้งอุตสาหกรรมอาหารทะเลของโลกใน 4 ด้าน คือ แรงงานปลอดภัยและถูกกฎหมาย การจัดหาวัตถุดิบด้วยความรับผิดชอบ การดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบ รวมไปถึงการดูแลผู้คนและชุมชน ซึ่งเป็นแกนหลักในการทำงานที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ” นายธีรพงศ์กล่าว

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจี กล่าวว่า “ในภาวะโลกรวน ทุกคนต้องคำนึงถึงการดำรงชีวิตและดูแลโลกไปพร้อมกัน เอสซีจีขอเชิญชวนให้ทุกคนใช้ผลิตภัณฑ์รักษ์โลก เช่น ระบบหลังคาโซลาร์ ที่ช่วยลดการใช้พลังงาน ลดค่าไฟ แพกเกจจิ้งรักษ์โลกที่ช่วยยืดอายุผักและผลไม้ ลดขยะอาหาร สุขภัณฑ์ประหยัดน้ำ รวมถึงนวัตกรรมที่ช่วยให้คุณและครอบครัวปลอดภัยจากฝุ่น PM 2.5 เชื้อโรค และไวรัส เช่น SCG Active AIR Quality เอสซีจีพร้อมสร้างโลกที่น่าอยู่ส่งต่อถึงคนรุ่นต่อไป”

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) กล่าวเสริมว่า ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง Sustainability Expo GC มุ่งมั่นและให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจบนหลักการความยั่งยืนมาโดยตลอด ด้วยสมดุล ESG คือ บรรษัทภิบาล (เศรษฐกิจ) สังคม และสิ่งแวดล้อม “วันนี้ GC มีเป้าหมายที่ท้าทายในการยกระดับสู่การเป็นองค์กรธุรกิจคาร์บอนต่ำ โดยตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ “Net Zero” ภายในปี 2050 ผ่านการดำเนินงานด้านการปรับปรุงกระบวนการผลิตลดการปล่อย Carbon การต่อยอดสู่ธุรกิจ High Value Business และ Low Carbon Business และการปลูกป่าและดักจับคาร์บอน นอกจากนั้น ยังมีโครงการอีกมากมายเพื่อคืนกลับสู่สังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน การดำเนินการทั้งหมดนี้เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิต และส่งต่อโลกที่น่าอยู่ให้คนรุ่นต่อไป”

นายปณต วัฒนสิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าวเสริมว่า “บริษัทฯ ยินดีที่ได้ร่วมจัดงานมหกรรมความยั่งยืน SX2022 เนื่องจากสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของบริษัทฯ คือ Inspiring Experiences, Creating Places for Good หรือการมุ่งเน้นสร้างสิ่งที่ดีที่ยั่งยืนให้แก่ผู้คน ธุรกิจ และชุมชนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นความตั้งใจในการส่งมอบประสบการณ์อันทรงคุณค่าให้ลูกค้า การยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การมุ่งไปสู่การเป็นองค์กรที่ปลอดการปล่อยคาร์บอน หรือการสร้างธุรกิจที่พร้อมสำหรับอนาคตที่มีความไม่แน่นอนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถสร้างสรรค์โลกที่ทุกคนได้รับประสบการณ์อย่างเท่าเทียมและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้”

งาน SX 2022 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 กันยายน-2 ตุลาคม 2565 บนพื้นที่กว่า 40,000 ตรม. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีบริษัทชั้นนำและองค์กรต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศรวมกว่า 100 แห่งมาร่วมงาน และผู้เชี่ยวชาญ ผู้นำองค์กรธุรกิจกว่า 150 รายที่มาร่วมให้ความรู้และแลกเปลี่ยนทัศนคติบนเวทีเสวนา เพื่อให้ความรู้ ความเห็น และเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้สัมผัสเทรนด์นวัตกรรม เทคโนโลโลยีที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนในทุกมิติ ผ่านนิทรรศการ เวทีสัมมนา/เสวนา ตลอดจนหลากหลายกิจกรรมที่เหมาะสำหรับคนทุกเพศทุกวัย

 

ที่มา: https://mgronline.com/business/detail/9650000093412 

วันที่ 04 ตุลาคม 2565