เต็ดตรา แพ้ค ย้ำความสำเร็จครั้งใหม่ โชว์กรณีศึกษาประเทศไทย ในรายงานความยั่งยืนล่าสุด

เต็ดตรา แพ้ค ผู้นำเสนอโซลูชันการแปรรูปอาหารและบรรจุภัณฑ์อาหารชั้นนำของโลก จัดงานเสวนาเพื่อนำเสนอรายงานความยั่งยืนประจำปี 2565 ของเต็ดตรา แพ้ค โดยมี สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า และผู้แทนจากบริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมพูดคุยเกี่ยวกับวาระความยั่งยืนของประเทศ การดำเนินการที่เกี่ยวข้องที่จะทำให้ระบบอาหารมีความยืดหยุ่นและยั่งยืน รวมถึงความสำเร็จและความก้าวหน้าของเต็ดตรา แพ้ค ในปีที่ผ่านมา

ความยั่งยืนคือหัวใจหลักในการดำเนินธุรกิจของเต็ดตรา แพ้ค บริษัทมุ่งเน้นที่จะเพิ่มความพร้อมและความปลอดภัยของอาหาร ลดขยะอาหาร รวมทั้งปรับปรุงเพื่อยกระดับประสิทธิภาพของทรัพยากรและการขนส่งตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่ามาโดยตลอด ซึ่งในรายงานความยั่งยืนฉบับที่ 23 ของเต็ดตรา แพ้ค แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จขององค์กร รวมถึงโครงการที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อปกป้องอาหาร ผู้คน และโลก อันได้แก่

• การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการดำเนินงานลง 36% โดย 80% ของพลังงานที่ใช้มาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน พร้อมเพิ่มการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นสองเท่าถึง 5.55 เมกะวัตต์
• การจำหน่ายบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากพืชจำนวน 17,600 ล้านชิ้น และฝาที่ผลิตจากพืชจำนวน 10,800ล้านชิ้นในปีที่ผ่านมา ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปได้มากถึง 96 กิโลตัน เมื่อเทียบกับพลาสติกทจากฟอสซิล
• การลงทุนจำนวน 40 ล้านยูโร เพื่อผลักดันการจัดเก็บและรีไซเคิลกล่องเครื่องดื่ม 50,000 ล้านกล่อง ซึ่งมีส่วนช่วยให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน
• เด็กกว่า 61 ล้านคนใน 41 ประเทศได้รับนม หรือเครื่องดื่มที่มีคุณค่าทางโภชนาการอื่น ๆ ซึ่งบรรจุในกล่องของเต็ดตรา แพ้ค ผ่านโครงการโภชนาการในโรงเรียน
• การทดสอบและรับรองเทคโนโลยีเชิงพาณิชย์ในการใช้วัสดุที่ทำจากโพลีเมอร์แทนที่ชั้นอะลูมิเนียมในบรรจุภัณฑ์แบบปลอดเชื้อ โดยเริ่มทดสอบจากการใช้เยื่อกระดาษรูปแบบใหม่ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกสำหรับบรรจุภัณฑ์อาหารแบบกล่องที่จัดจำหน่ายในอุณหภูมิห้องโดยไม่ต้องแช่เย็น
• การเป็นบริษัทในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มรายแรกที่เปิดตัวฝาซึ่งทำจากโพลิเมอร์รีไซเคิล ร่วมกับ Elvir บริษัทในเครือของ Savencia Fromage & Dairy ผู้ผลิตเครื่องแปรรูปนมชั้นนำของโลก
• การร่วมมือกับบริษัทนวัตกรรมหลายแห่งเพื่อเปลี่ยนอาหารเหลือทิ้งให้เป็นแหล่งอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ตลอดจนพัฒนาสูตรอาหารที่มีโปรตีนเป็นส่วนประกอบหลัก ซึ่งนอกจากจะช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นต์แล้ว โปรตีนทางเลือกยังลดการใช้ที่ดินและน้ำลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับแหล่งที่มาของโปรตีนแบบเดิม ๆ
• ความมุ่งมั่นในการลดขยะอาหาร ลดการใช้น้ำ และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของไลน์การผลิตต้นแบบลงให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2573

เต็ดตรา แพ้ค มุ่งมั่นและพร้อมที่จะปกป้องทรัพยากรธรรมชาติตลอดห่วงโซ่คุณค่า ควบคู่ไปกับการมีส่วนช่วยให้ผู้คนเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการเพิ่มขึ้นทั่วโลก ด้วยการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดี การกำหนดเป้าหมายที่ท้าทาย และการติดตามความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง จุดมุ่งหมายของบริษัทคือการพัฒนาแนวปฏิบัติในด้านการจัดหาวัตถุดิบอย่างมีความรับผิดชอบ รวมถึงความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ และมีส่วนร่วมในการสร้างความเหมาะสมของการใช้น้ำทั่วโลกตลอดการดำเนินงานภายในองค์กรและห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด เต็ดตรา แพ้ค เน้นย้ำประเด็นความยั่งยืนที่มีความสำคัญต่อธุรกิจและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ด้วยการริเริ่มโครงการต่าง ๆ ที่หลากหลายซึ่งมีส่วนในการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) โดยเฉพาะข้อที่ 6, 7, 9, 12, 13, 15 และ 17

หนึ่งในโครงการที่ระบุไว้ในรายงานทั่วโลกฉบับนี้ คือความร่วมมือระหว่างบริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด กับบริษัท แดรี่พลัส จำกัด ผู้นำในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์นม ซึ่งได้จัดทำแผนงานออกเป็นสามระยะเพื่อลดการใช้น้ำในโรงงาน โดยขณะนั้น โรงบำบัดน้ำเสียของแดรี่พลัสใกล้เต็มขีดสูงสุดในการรองรับน้ำแล้ว และอาจจะไม่สามารถรับภาระเพิ่มเติมจากการขยายกำลังการผลิตได้

ทีมงานของเต็ดตรา แพ้ค และแดรี่พลัส จึงได้พัฒนาขั้นตอนการดำเนินงานตามลำดับความสำคัญเพื่อลดการใช้น้ำในการดำเนินการภายในโรงงานทั้งหมด และเริ่มปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆ เป็นระยะ ผลลัพธ์จากระยะแรกที่สิ้นสุดในเดือนกันยายน 2564 ระบุว่าสามารถประหยัดน้ำได้ 400 ตันต่อวัน เทียบเท่ากับการประหยัดน้ำในสระว่ายน้ำขนาดโอลิมปิกหนึ่งสระต่อสัปดาห์ การใช้โรงบำบัดน้ำเสียโดยรวมลดลงจาก 75% เป็น 60% ซึ่งทำให้มีพื้นที่สำหรับการขยายโครงการได้

“การทำงานกับลูกค้าอย่างใกล้ชิดในประเทศ ทำให้เราได้มีโอกาสบอกเล่าเรื่องราวของเราในรายงานความยั่งยืนระดับโลก เรารู้สึกขอบคุณเป็นอย่างยิ่งที่ทางลูกค้าให้ความไว้วางใจทำงานร่วมกับเราในโครงการนี้ ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์กับการดำเนินงานในอนาคตเท่านั้น แต่ยังจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความยั่งยืนอีกด้วย” คุณปฏิญญา ศิลสุภดล ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืน บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว “กรณีศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าทุกขั้นตอนของการดำเนินงานร่วมกับพันธมิตรของเรานั้น สามารถช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั่วทั้งห่วงโซ่คุณค่า เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน”

สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนเป็นหลักสำคัญยิ่งในวาระแห่งชาติ ซึ่งรวมถึงเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจหมุนเวียนชีวภาพ เต็ดตรา แพ้ค มีบทบาทสำคัญที่จะช่วยผลักดันแนวคิดความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิตใน ประเทศ เพื่อสร้างความร่วมมือและการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการขับเคลื่อนโมเดลที่มีรากฐานของความรับผิดชอบของผู้ผลิตที่เพิ่มขึ้นสำหรับประเทศไทย

“ความมุ่งมั่นสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสามารถสำเร็จได้ด้วยการร่วมมือกันเท่านั้น” คุณชัยยุทธิ์ พลเสน นายกสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า กล่าวเสริม “จากความร่วมมือที่เกิดขึ้น ผมเห็นถึงแนวทางที่เต็ดตรา แพ้ค ได้ขยายขอบเขตไปมากกว่าความรับผิดชอบของบริษัทตนเอง ด้วยการนำเสนอโซลูชันนวัตกรรมที่ช่วยส่งเสริมให้พันธมิตรทางธุรกิจบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนไปด้วยกัน”

อ่านรายงานความยั่งยืนของเต็ดตรา แพ้ค ประจำปี 2565 ได้ที่ https://www.tetrapak.com/sustainability/sustainability-updates

 

ที่มา: https://mgronline.com/business/detail/9650000089242 

วันที่ 19 กันยายน 2565