สุดยอด 5 สตาร์ตอัปไทยและอาเซียนร่วมโครงการ Plastic Waste to Value Southeast Asia Challenge เพื่อเปลี่ยนขยะพลาสติกให้มีมูลค่าเพิ่ม

The Incubation Network ร่วมกับ Global Plastic Action Partnership และแพลตฟอร์ม UpLink โดย the World Economic Forum รวมทั้ง Alliance to End Plastic Waste เปิดตัวโครงการ Plastic Waste to Value Southeast Asia Challenge เพื่อแก้ปัญหาการจัดการขยะพลาสติกที่ไม่ถูกต้องในภูมิภาค พร้อมประกาศรายชื่อสตาร์ตอัปทั้ง 5 รายที่จะเข้าร่วมในแผนงานพัฒนาศักยภาพในการจัดการขยะพลาสติกที่ออกแบบขึ้นเฉพาะรายตลอดระยะเวลา 5 เดือน ทั้งนี้โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ในการกระตุ้นให้เกิดวิธีแก้ปัญหาที่ใช้นวัตกรรมที่มุ่งเน้นการรีไซเคิลและการนำพลาสติกที่ใช้แล้วมาแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ (อัพไซเคิล) ในประเทศไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

ผู้สนใจที่สมัครเข้าร่วมโครงการผ่านแพลตฟอร์ม UpLink มีจำนวน 101 ราย ทั้งนี้มีผู้สมัคร 48 รายที่ผ่านการคัดเลือกในเบื้องต้นจากการประเมินอย่างละเอียดโดยนักวิจัย ผู้ปฏิบัติงานด้านความยั่งยืนขององค์กร นักประดิษฐ์ และผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศและเศรษฐกิจหมุนเวียน ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการจะได้รับโอกาสในการสร้างเครือข่ายพันธมิตร ได้รับคำปรึกษาอย่างใกล้ชิด เพิ่มการเป็นที่รู้จักและความน่าสนใจขององค์กร เข้าถึงเครือข่าย และเงินทุนสนับสนุนเพื่อขยายโซลูชันต่อไป

การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนอย่างเร่งด่วนเป็นสิ่งจำเป็นในการรับมือกับวิกฤตมลพิษจากขยะพลาสติกทั่วโลกที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2560-2562 พบว่าประเทศไทย[1] อินโดนีเซีย[2] ฟิลิปปินส์[3] และ เวียดนาม[4] มีปริมาณขยะพลาสติกที่รั่วไหลรวมกันประมาณ 2 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 17 ของปริมาณขยะพลาสติกที่รั่วไหลลงสู่ทะเลต่อปีทั่วโลก[5] ส่วนพลาสติกที่ไม่ได้ก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำอาจถูกนำไปเผาหรือทิ้งในกองขยะ ซึ่งกลายเป็นภัยคุกคามที่อันตรายอย่างยิ่งต่อสุขภาวะด้านสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ

The Incubation Network ส่งเสริมการทำงานของผู้ประกอบการท้องถิ่นและโซลูชันต่าง ๆ ที่ป้องกันการรั่วไหลของขยะพลาสติก ก่อนหน้านี้เราดำเนินโครงการ Thailand Waste Management and Recycling Academy ที่เชื่อมสตาร์ตอัประยะเริ่มต้นกับผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม และโครงการ Thailand SME Scale Up Program ที่ช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจรีไซเคิลและอัพไซเคิลให้สามารถต่อยอดและขยายธุรกิจ ดร.ศิรินทร์ชญา ปรีชาภัฏสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนขององค์กร The Incubation Network กล่าว เรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้สนับสนุนกลุ่มผู้เข้าร่วมโครงการ Plastic Waste to Value Southeast Asia Challenge โดยพวกเขาจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในประเทศไทยและในภูมิภาค

คุณพูนาม วาทีน ผู้เชี่ยวชาญด้านความรู้จาก Global Plastic Action Partnership กล่าวว่า วิธีแก้ปัญหาที่ใช้นวัตกรรมมีความสำคัญต่อการจัดการขยะพลาสติกในภูมิภาค เรายินดีที่ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับ The Incubation Network และ Alliance to End Plastic Waste เพื่อคัดเลือกกลุ่มสุดยอดนักสร้างสรรค์นวัตกรรมชั้นนำที่นำเสนอโซลูชันอันโดดเด่นและสร้างผลกระทบเชิงบวกที่สามารถสร้างมูลค่าให้กับขยะพลาสติกได้ เรามีความมุ่งมั่นที่จะช่วยให้คนกลุ่มนี้เป็นที่รู้จักและสามารถสร้างผลกระทบที่ดียิ่งขึ้นในภูมิภาคนี้

โซลูชันของผู้เข้าร่วมโครงการได้รับการพิจารณาด้วยเกณฑ์ประเมินความสามารถอย่างน้อยหนึ่งในสามด้านดังต่อไปนี้ (1) เพิ่มปริมาณการจัดการ แปรรูป และ/หรือรีไซเคิลขยะพลาสติก (2) สนับสนุนการพัฒนาการดำเนินงานด้านการจัดการและรีไซเคิลขยะพลาสติก และ (3) ปรับปรุงสภาพการทำงานของสถานประกอบการที่จัดการและรีไซเคิลขยะพลาสติก

กลุ่มผู้ร่วมโครงการ The Plastic Waste to Value Southeast Asia Challenge ประกอบด้วย

มูลนิธิเทอร์ราไซเคิล ไทย
มูลนิธิเทอร์ราไซเคิล ไทย นำเสนอโซลูชันที่เรียบง่าย มีการใช้นวัตกรรม และสร้างผลกระทบได้ในวงกว้าง เพื่อป้องกัน กำจัด และรีไซเคิลของเสียออกจากสิ่งแวดล้อม

Bank Sampah Bersinar (ประเทศอินโดนีเซีย)
Bank Sampah Bersinar เป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่ให้บริการโซลูชันการจัดการขยะในชุมชน

ENVIROTECH WASTE RECYCLING INC. (ประเทศฟิลิปปินส์)
Envirotech รวบรวมพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use plastic) และเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์

Kibumi (ประเทศอินโดนีเซีย)
Kibumi เป็นบริษัทสตาร์ทอัพที่สามารถพัฒนานวัตกรรมใหม่ ซึ่งเสริมความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อุปทานด้านการรีไซเคิลพลาสติกผ่านจุดรวบรวมขยะในรูปแบบดิจิทัลและทันสมัย

Plastic People (ประเทศเวียดนาม)
Plastic People เปลี่ยนขยะพลาสติกให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์และนำพลาสติกที่ใช้แล้วมาแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น เฟอร์นิเจอร์หรืออุปกรณ์ตกแต่ง

นิโคลาส โคเลซช์ รองประธานโครงการ Alliance to End Plastic Waste กล่าวว่า การยุติขยะพลาสติกถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วน โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมและความสูญเสียทางเศรษฐกิจเมื่อขยะพลาสติกไม่ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ และยังเสริมอีกว่า มีความต้องการพลาสติกที่ผ่านการใช้งานของผู้บริโภคแล้วเพิ่มขึ้น โครงการ Plastic Waste to Value Southeast Asia Challenge จึงจะสนับสนุนสตาร์ตอัปในภูมิภาคเพื่อปิดช่องว่างนี้ โดยการนำพลาสติกออกจากสิ่งแวดล้อมและนำกลับคืนสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน

Plastic Waste to Value Southeast Asia Challenge นำโดย The Incubation Network และ Global Plastic Action Partnership UpLink โดย the World Economic Forum ซึ่งได้รับทุนจาก Alliance to End Plastic Waste และได้รับการสนับสนุนจาก SecondMuse, The Circulate Initiative, Global Affairs Canada และ DEFRA

เกี่ยวกับ The Incubation Network
The Incubation Network เป็นโครงการที่เน้นแก้ปัญหาผลกระทบเชิงสิ่งแวดล้อม โดยให้การสนับสนุนและต่อยอดวิธีการแก้ปัญหาที่ใช้นวัตกรรมแบบองค์รวมในการแก้ปัญหามลพิษจากขยะพลาสติก เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบนิเวศของผู้ประกอบการผ่านความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรที่หลากหลาย

The Incubation Network คือส่วนหนึ่งของชุมชนที่ทำงานร่วมกันระหว่างสตาร์ทอัปและผู้ประกอบการ นักลงทุน พันธมิตร และโครงการต่าง ๆ The Incubation Network ทำงานร่วมกับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมเพื่อขจัดอุปสรรคในการแก้ปัญหาการรั่วไหลของพลาสติกและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงสนับสนุน และต่อยอดวิธีการแก้ปัญหาที่ยังไม่ได้รับการลงทุนหรืออยู่ในระยะเริ่มต้น และเชื่อมโยงผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบนิเวศเพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างห่วงโซ่คุณค่าในการจัดการของเสียและการรีไซเคิล

The Incubation Network ก่อตั้งขึ้นในปี 2562 จากความร่วมมือระหว่าง The Circulate Initiative ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร และ SecondMuse ซึ่งเป็นบริษัทที่เน้นด้านนวัตกรรมที่สร้างความเปลี่ยนแปลง The Incubation Network พร้อมร่วมมือกับผู้ที่สนใจเข้าร่วมเครือข่าย องค์กรธุรกิจต่าง ๆ รวมถึงผู้ให้คำปรึกษา (Mentor) ที่ต้องการแก้ปัญหาการรั่วไหลของขยะพลาสติก และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รายละเอียดเพิ่มเติม www.incubationnetwork.com 

เกี่ยวกับ Global Plastic Action Partnership
กลุ่มพันธมิตรระดับโลกเพื่อต่อสู้กับมลพิษพลาสติก (Global Plastic Action Partnership: GPAP) เปิดตัวเมื่อในกันยายน 2561 ณ งานการประชุมสุดยอดว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นส่วนหนึ่งของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) ที่มีเป้าหมายในการเร่งสร้างผลกระทบด้านบวกภายใต้ข้อตกลงปารีสและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) GPAP ร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ และพันธมิตรระดับโลกเพื่อส่งเสริมการเดินหน้าเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจพลาสติกใหม่ (New Plastics Economy) โดยจัดการที่ต้นเหตุของมลภาวะพลาสติก ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการบริโภคและการนำกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงการปรับปรุงระบบการจัดการขยะที่ปลายน้ำ GPAP ได้ร่วมมือกับรัฐบาล หน่วยงานระดับภูมิภาค องค์กรระหว่างประเทศ และภาคธุรกิจ ตลอดจนนักนวัตกรรมและองค์กรภาคประชาสังคมบนแพลตฟอร์มความร่วมมือที่เป็นกลาง โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มุ่งมั่นและขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก

รายละเอียดเพิ่มเติม https://globalplasticaction.org/ 

เกี่ยวกับ Alliance to End Plastic Waste
Alliance to End Plastic Waste (Alliance) เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรระดับโลก ที่มีภารกิจในการยุติปัญหาขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อม ซึ่งมุ่งดำเนินโครงการและลงทุนในโซลูชันด้านนวัตกรรมเพื่อพัฒนาหรือปรับปรุงการบริหารจัดการขยะพลาสติก โดย ณ เดือนมิถุนายน 2565 องค์กรได้ดำเนินโครงการมากกว่า 50 โครงการใน 30 ประเทศทั่วโลก

การจัดการกับขยะพลาสติกเป็นความท้าทายที่มีความซับซ้อนที่ต้องอาศัยความร่วมมือในการดำเนินการ โดยนับตั้งแต่ปี 2562 Alliance ได้เชิญเครือข่ายผู้นำอุตสาหกรรมที่อยู่ในห่วงโซ่คุณค่าของพลาสติกระดับโลกหารือกับรัฐบาล ภาคประชาสังคม ผู้ประกอบการ และชุมชนต่าง ๆ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับขยะพลาสติก

รายละเอียดเพิ่มเติม www.endplasticwaste.org 

[1] IUCN-EA-QUANTIS. (2020). National Guidance for plastic pollution hotspotting and shaping action, Country report Thailand.
[2] World Economic Forum. (2017). Radically Reducing Plastic Pollution in Indonesia: A Multistakeholder Action Plan National Plastic Action Partnership. Geneva: World Economic Forum.
[3] WWF. (2019). ERP Scheme Assessment for Plastic Packing Waste in the Philippines. Quezon: WWF Philippine.
[4] IUCN-EA-QUANTIS. (2020). National Guidance for plastic pollution hotspotting and shaping action, Country report Vietnam.
[5] IUCN. (2020). The marine plastic footprint. Towards a science-based metric for measuring marine plastic leakage and increasing the materiality and circularity of plastic.

 

ที่มา: https://www.newswit.com/th/Ll0M 

วันที่ 23 สิงหาคม 2565