กางยุทธศาสตร์ความยั่งยืน “กลุ่มทรู” สู่การเป็นอันดับ 1 “ดัชนี DJSI” ระดับโลก พร้อมกรณีศึกษา “โรงพยาบาลสนาม” โมเดลผนึกกำลังบริษัทในเครือ – พันธมิตร

เหตุผลของการดำรงอยู่ขององค์กร หรือแบรนด์หนึ่งๆ ไม่ใช่แค่การสร้างรายได้และผลกำไร เพื่อตอบโจทย์ Stakeholder เท่านั้น แต่การมีอยู่ขององค์กร หรือแบรนด์นั้นๆ ต้องมาพร้อมกับเจตจำนง (Purpose) ในการมุ่งดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (Sustainability) นั่นคือ ธุรกิจ – ผู้ถือหุ้น และนักลงทุน – คู่ค้า – พนักงาน – เศรษฐกิจ – สังคม และสิ่งแวดล้อมต้องเติบโตไปด้วยกัน

ที่สำคัญเจตจำนงด้านความยั่งยืน ถือเป็นคำมั่นสัญญาระยะยาวขององค์กรที่มีต่อคู่ค้า ลูกค้า พนักงาน และสังคม ทั้งในวันนี้ และอนาคต ดังนั้นองค์กรต้องมีการกำหนดนโยบายที่ชัดเจน วางยุทธศาสตร์เป้าหมาย และการวัดผลที่มีมาตรฐาน ซึ่งปัจจุบันมีดัชนีประเมินความยั่งยืนทางธุรกิจมากมาย แต่ดัชนีที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกคือ “DJSI” (Dow Jones Sustainability Index) สำหรับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และเข้าเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืน DJSI

เพราะฉะนั้นองค์กรใดที่สามารถติดอันดับ DJSI ถือเป็นเครื่องยืนยันได้ถึงความมุ่งมั่นในเจตจำนงแห่งความยั่งยืนขององค์กรนั้นๆ ซึ่งล่าสุดนับเป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทย และคนไทย เมื่อ “กลุ่มทรู” (True Corporation) ได้คะแนนการประเมินด้านความยั่งยืนสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของโลก ทั้งในกลุ่มธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม และคะแนนรวมสูงสุดจากทั้งหมด 10,900 บริษัท ใน 61 อุตสาหกรรม

MarketingOops! มีโอกาสสัมภาษณ์ “ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ” ประธานคณะผู้บริหารยุทธศาสตร์ข้อมูลและการสื่อสาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น และ “คุณสมเกียรติ วิภูษณมังคละ” ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ทรู พรอพเพอร์ตีส์ จำกัด ถึงยุทธศาสตร์ และเป้าหมายนโยบายด้านความยั่งยืน รวมถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จที่ได้อันดับ 1 ดัชนี DJSI

พร้อมทั้งถอดบทเรียนกรณีศึกษาโรงพยาบาลสนามซีพี – ดับบลิวเอชเอ – จุฬารัตน์ ที่มีมาตรฐานเทียบเท่าโรงพยาบาล สามารถรองรับผู้ป่วยอาการหนักระดับ ICU

ทำความรู้จัก “DJSI” ดัชนีวัดความยั่งยืนขององค์กรระดับโลก – “กลุ่มทรู” เข้าร่วมเป็นสมาชิก
Dow Jones Sustainability Index หรือ DJSI เป็นดัชนีที่ใช้ประเมินประสิทธิผลการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัท ซึ่งได้รับการยอมรับในระดับสากล พัฒนาขึ้นโดย S&P Global และ RobecoSAM บริษัทด้านการลงทุนด้านความยั่งยืน เปิดตัวในปี 1999 โดยมีบริษัทจากทั่วโลกที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เข้าร่วมเป็นสมาชิก และร่วมประเมินด้านความยั่งยืนทางธุรกิจ (Corporate Sustainability Assessment หรือ CSA) ภายใต้ 3 มิติคือ
– มิติด้านเศรษฐกิจ และธรรมาภิบาลทางธุรกิจ (Economic & Governance Dimension)
– มิติด้านสังคม (Social Dimension)
– มิติด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Dimension)

มีวัตถุประสงค์ต้องการให้องค์กรตระหนักถึงการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งมีความสำคัญกับการสร้างมูลค่าธุรกิจ และ Brand Reputation ขององค์กรนั้นๆ ในระยะยาว อันมีผลต่อการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน

ขณะเดียวกันนักลงทุนก็สามารถใช้ดัชนี DJSI เป็นเกณฑ์มาตรฐานพิจารณาการลงทุนในกลุ่มหุ้นยั่งยืน เพราะบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับ DJSI ถือเป็นองค์กรที่มีหลักประกันถึงศักยภาพการดำเนินธุรกิจ ที่มีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น-นักลงทุน คู่ค้า ลูกค้า พนักงาน สังคม และสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบัน DJSI มีบริษัทขนาดใหญ่มากกว่า 10,900 บริษัทใน 61 กลุ่มอุตสาหกรรมจากทั่วโลก ได้รับการประเมินด้านความยั่งยืนธุรกิจ หนึ่งในนั้นคือ “กลุ่มทรู” ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิก DJSI 5 ปีต่อเนื่อง (ปี 2017 – 2021) เนื่องด้วยเครือเจริญโภคภัณฑ์และกลุ่มทรูมีนโยบายด้านความยั่งยืน จึงมองว่าหากปราศจากการประเมินผล ก็ยากที่จะบรรลุเป้าหมาย จึงได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก DJSI เพื่อมีดัชนีวัดความยั่งยืนของบริษัทในทุกปี และได้อัปเดตทิศทางความยั่งยืนทั่วโลกอีกด้วย

ตัวอย่างหนึ่งในคำถามแบบประเมินความยั่งยืนของกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม มีเรื่อง Data Security หรือความปลอดภัยทางข้อมูล หรือคำถามที่เพิ่มเติมขึ้นมา คือเรื่องการประเมินด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะการขยายโครงข่ายเข้าไปยังพื้นที่ต่างๆ บางพื้นที่อาจสร้างกระทบตามมา อย่างการขยายโครงข่ายเข้าไปยังพื้นที่ป่า ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ สิ่งมีชีวิตต่างๆ ในพื้นที่ดังกล่าวด้วย

“มีการศึกษาว่าองค์กรที่จะดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ไม่ใช่แค่ทำกำไรในระยะสั้น แต่คือองค์กรที่สร้างประโยชน์ให้กับสังคม ประชาชน และสิ่งแวดล้อมด้วย ทำให้ไม่ว่าองค์กรนั้นต้องเจอสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ เศรษฐกิจ สังคม และแรงกดดันต่างๆ อย่างไร ก็ยังสามารถดำรงอยู่ได้ และยั่งยืนต่อไป

เพราะฉะนั้นองค์กรที่ยั่งยืน จะคำนึงถึง 3 มิติคือ เศรษฐกิจ-ธรรมาภิบาลทางธุรกิจ, สังคม และสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับวัฒนธรรมองค์กร และค่านิยมองค์กรของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ยึดหลักการ “3 ประโยชน์สู่ความยั่งยืน” คือ สร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติ, ประชาชน – สังคม และธุรกิจ

ดังนั้นเมื่อ “กลุ่มทรู” เข้าร่วมเป็นสมาชิก DJSI และประเมินผลด้านความยั่งยืน ทั้งมิติเศรษฐกิจ เช่น วัดความโปร่งใส หลักธรรมาภิบาล ต้องเปิดเผยข้อมูล การดูแลพนักงาน, มิติสังคม เช่น ดูแลคู่ค้า ลูกค้า และมิติสิ่งแวดล้อม เช่น ลดปริมาณการปล่อยคาร์บอน และการใช้พลังงาน

การประเมินทั้ง 3 มิติ ทำให้บริษัทสามารถเห็นตัวเราเอง ได้เรียนรู้ Best Practice ขององค์กรอื่น พร้อมทั้งแบ่งปันองค์ความรู้กับองค์กรอื่น ทำให้เราเห็นช่องว่างของตัวเองที่ต้องพัฒนาเพิ่มเติม และที่สำคัญความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ ต้องสร้างการมีส่วนร่วมกับคนในองค์กร เช่น เปิดเวทีให้พนักงานเข้ามามีส่วนร่วม ประกอบกับนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีของบริษัทมาให้บริการแก่ประชาชน สังคม และช่วยด้านสิ่งแวดล้อม” ดร.ธีระพล ขยายความเพิ่มเติม

“ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ” ประธานคณะผู้บริหารยุทธศาสตร์ข้อมูลและการสื่อสาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น

ยุทธศาสตร์ 3H’s สู่ความยั่งยืน
สำหรับผลการประเมินดัชนี DJSI ประจำปี 2021 “กลุ่มทรู” ได้คะแนนรวมสูงที่ 1 DJSI ของโลก จากทั้งหมด 10,900 บริษัทใน 61 อุตสาหกรรม และยังได้อันดับ 1 DJSI ของกลุ่มธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ถือเป็นสถิติใหม่ครองแชมป์ยาวนานต่อเนื่อง 4 ปีซ้อน (ปี 2018 – 2021)

นอกจากนี้ “กลุ่มทรู” ยังได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนชั้นนำ “FTSE4Good” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 และในปี 2022 ได้คะแนนสูงสุดอันดับ 1 ในกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคมระดับโลก ซึ่งดัชนี FTSE4Good ดำเนินการโดย FTSE Russell สถาบันจัดทำดัชนีหลักทรัพย์จากประเทศอังกฤษ ตามเป้าหมายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ

เบื้องหลังความสำเร็จที่ทำให้ “กลุ่มทรู” ได้คะแนนสูงสุดอันดับ 1 ทั้งดัชนี DJSI และดัชนี FTSE4Good มาจากการวางรากฐานนโยบายด้านความยั่งยืน ที่เริ่มต้นจากภายในองค์กรก่อน โดยผู้นำองค์กร “คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น” มองเห็นความสำคัญของ Sustainability และสร้างการตระหนักรู้ให้กับบุคลากรทุกภาคส่วนขององค์กร

นำมาสู่การกำหนดเป้าหมาย และออกแบบยุทธศาสตร์ โดยใช้พลัง Synergy จุดแข็งของทั้งกลุ่มทรู ที่เป็นผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีดิจิทัลครบวงจร ผนึกกำลังกับบริษัทในเครือซีพี และพันธมิตร ทั้งภาครัฐ – เอกชน เพื่อผลักดันให้เกิดโครงการต่างๆ ที่ตอบโจทย์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ภายใต้ยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืนของกลุ่มทรู ประกอบด้วย 3 แกน หรือเรียกว่า “3H’s” โดยแต่ละแกนมีทั้งโครงการเดิมที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง และโครงการใหม่ที่เพิ่มเข้ามา เพื่อให้ระบบนิเวศด้านความยั่งยืนของ
กลุ่มทรูสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

– Heart: ความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจ และธรรมาภิบาลทางธุรกิจ

การกำกับดูแลกิจการที่ดี, ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนและด้านแรงงาน, ดำเนินโครงการด้านการศึกษาและลดความเหลื่อมล้ำ, พัฒนาทรัพยากรบุคคล ทั้ง Reskill – Upskill และสร้างการมีส่วนร่วมด้านความยั่งยืนให้กับพนักงาน ตลอดจนการบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และการดูแลรักษาข้อมูลส่วนบุคคลให้ได้ 100%

ตัวอย่างโครงการ Heart เช่น ส่งเสริมการศึกษาผ่าน “มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี” ที่กลุ่มทรูร่วมเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิตั้งแต่ปี 2016 โดยสนับสนุน ICT Connectivity เชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้กว่า 1,294 โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล รวมทั้งติดตั้งอุปกรณ์และสื่อ ICT เพื่อการศึกษาครอบคลุม 39,839 ห้องเรียน ใน 3,351 โรงเรียน รวมแล้วสามารถทำให้เยาวชนไทยกว่า 5.7 ล้านคนสามารถเข้าถึงการศึกษา และข้อมูลข่าวสารต่างๆ

นอกจากนี้ได้สนับสนุนเครือข่าย 5G เพื่อส่งเสริมการศึกษาโรงเรียนป่าซางนาเงิน อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เพื่อส่งเสริมเยาวชนในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และมุ่งมั่นขยายเครือข่ายอัจฉริยะ 5G ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เน้นพื้นที่ที่ไม่เคยมีสัญญาณค่ายใดมาก่อน โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล เช่น บนดอย เพื่อมอบประสบการณ์ดิจิทัล ร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทย ทั้งการเรียน สาธารณสุข ท่องเที่ยว เศรษฐกิจชุมชน ให้เข้าถึงเทคโนโลยีสื่อสารอย่างเท่าเทียมกันทั่วประเทศ

– Health: ความยั่งยืนด้านสังคม

ส่งเสริมสุขภาพและสุขภาวะที่ดีให้กับประชาชน, สร้างคุณค่าทางสังคม ด้วยการสร้างงานและส่งเสริมรายได้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อย และกลุ่มเปราะบางตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน, พัฒนานวัตกรรม ซึ่งปัจจุบันกลุ่มทรูได้จดทะเบียนสิทธิบัตรมากถึง 200 สิทธิบัตร, สร้างความผูกพันกับผู้มีส่วนได้เสีย และความพร้อมใช้งานของเครือข่าย จากการวัดดัชนีระยะเวลาหยุดชะงักของเครือข่ายน้อยกว่า 0.10 ชั่วโมงต่อคนต่อปี

ตัวอย่างโครงการ Health เช่น พัฒนาแอปพลิเคชันหมอดี (MorDee) แพลตฟอร์มดูแลสุขภาพอัจฉริยะที่เชื่อมโยงบริการทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการปรึกษาและรักษาโรคกับแพทย์ทางออนไลน์, รับยา และเคลมประกัน

ขณะเดียวกันได้สร้างสรรค์นวัตกรรมตอบโจทย์คนไทยยุค New Normal ด้วยแพลตฟอร์ม TRUE VWORLD เทคโนโลยี Cloud ครบวงจรทั้ง VWORK การทำงานที่บ้าน และ VLEARN สนับสนุนสถาบันการศึกษา นักเรียน และนักศึกษา สามารถทำการเรียนการสอนออนไลน์ได้ทุกที่ ทุกเวลา

อีกทั้งกว่า 10 ปีที่ผ่านมา กลุ่มทรูได้สนับสนุนมูลนิธิออทิสติกไทย ดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตบุคคลออทิสติกต่างๆ เช่น พัฒนานวัตกรรมแอปพลิเคชัน Autistic เพื่อเป็นเครื่องมือในการช่วยพัฒนาศักยภาพให้กับบุคคลออทิสติก และจัดทำเว็บไซต์ Thaispecialcare.com เพื่อเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนความรู้ สำหรับผู้ปกครอง และผู้เชี่ยวชาญ

รวมถึงจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมเพื่อการทำงานบุคคลออทิสติก (CP-TRUE-Autistic Thai Vocational Training Center) เพื่อฝึกอาชีพสาหรับบุคคลออทิสติก และเป็นศูนย์ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและวิทยาการต่างๆ ในการพัฒนาศักยภาพบุคคลออทิสติกในระดับประเทศและภูมิภาคอาเซียน ให้สามารถมีอาชีพและสร้างรายได้เป็นของตัวเอง และอยู่ในสังคมได้อย่างเท่าเทียมพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

– Home: ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ด้วยการใช้พลังงานหมุนเวียน และตั้งเป้าปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งทางตรงและทางอ้อมสุทธิเป็นศูนย์, นำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในกระบวนการธุรกิจ ทั้งลดปริมาณ E-Waste หรือขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำไปฝังกลบเป็นศูนย์ และใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ หรือรีไซเคิลได้,​ ดูแลทรัพยากรน้ำ และการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างรับผิดชอบ

ตัวอย่างโครงการ Home เช่น โครงการผลิตและใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) ทดแทนการใช้ไฟฟ้าจากระบบสายส่ง เป็นโครงการในมิติด้านสิ่งแวดล้อมที่กลุ่มทรู สนับสนุนให้มีการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และเพิ่มสัดส่วนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกลุ่มทรู ติดตั้ง Solar Cells ตามสถานีฐานที่เกาะต่างๆ และที่พื้นที่ห่างไกลที่ระบบส่งไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ปัจจุบันมีการติดตั้งพลังงาน Solar Cells ไปแล้วกว่า 3,481 แห่ง สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 12,570 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และเดินหน้าขยายการติดตั้งต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันกลุ่มทรู ได้ทำโครงการเฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า (True Smart Early Warning System) นำศักยภาพของเครือข่ายทรูมูฟเอช เชื่อมต่อกับระบบ IoT ผนวกกับขั้นตอนการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนของอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ในการเฝ้าเตือนภัยล่วงหน้า เพื่อช่วยลดความสูญเสียของทรัพย์สินและชีวิตของทั้งคนและช้างป่า ซึ่งที่ผ่านมา จำนวนช้างป่าที่ผ่านกล้อง ทำความเสียหายให้กับพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้านเหลือเพียง 1%

นอกจากนี้ยังพัฒนาแอปพลิเคชัน Doonok เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญในการอนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทย รวมทั้งนกน้ำชนิดอื่นๆ และเพื่อใช้รายงานการพบนกกระเรียนในพื้นที่รอบอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก จังหวัดบุรีรัมย์

“ปัจจัยที่ทำให้กลุ่มทรูได้คะแนนสูงสุดทั้ง DJSI และ FTSE4Good มาจาก 1. ผู้นำองค์กรต้องส่งสัญญาณอย่างชัดเจนถึงการให้ความสำคัญกับความยั่งยืน และสร้างความตระหนักรู้ให้กับคนทั้งองค์กร โดยคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานกลุ่มทรู ให้ความสำคัญกับนโยบายและการปฏิบัติด้านความยั่งยืนอย่างมาก เป็นการส่งสัญญาณให้กับคนทั้งองค์กร และกำหนดเป้าหมาย สร้างการมีส่วนร่วมของคนในองค์กร

2. ต้องมีการประเมินผล เพื่อให้รู้ว่าวันนี้เราอยู่จุดไหน และเราต้องก้าวไปสู่จุดไหน อย่างการเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืน DJSI แต่ละแกนทั้งเศรษฐกิจ หลักธรรมาภิบาล – สังคม – สิ่งแวดล้อมจะมีคำถามต่างๆ เพื่อประเมินเรา เช่น เรื่องสิทธิสตรี และความเท่าเทียมทางเพศ, การ Upskill – Reskillให้กับพนักงาน ซึ่งคำถามประเมินความยั่งยืนเหล่านี้ มีการพัฒนาปรุงปรุงเกณฑ์ตลอดเวลา จึงเป็นเหมือนการ Checklist ด้านความยั่งยืนในแต่ละมิติของบริษัทว่าเรื่องไหนเราทำแล้ว เรื่องไหนยังไม่ได้ทำ และทำให้เราได้เห็นเทรนด์โลก ความท้าทายใหม่ๆ ภายใต้บริบทโลก

3. การพัฒนานวัตกรรมใหม่ เนื่องจากกลุ่มทรูมีความมุ่งมั่นทรานส์ฟอร์มจากบริษัทโทรคมนาคม ไปสู่การเป็น “Technology Company” พร้อมทั้งส่งเสริมสตาร์ทอัพ ดังนั้นกลุ่มทรูจึงคิดค้นนวัตกรรมต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น Autistic Application, IoT Camera เตือนภัยช้างป่าล่วงหน้าให้กับเกษตรกร,​ แอปพลิเคชันหมอดี, โครงการทรู ปลูกปัญญา ทำให้นักเรียนเข้าถึงการศึกษาได้ทุกที่ โครงการเหล่านี้เกิดจากการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาผสมผสาน กับความต้องการของลูกค้า และสังคม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มโอกาสการเข้าถึง” ดร.ธีระพล กล่าวเพิ่มเติมถึงความสำเร็จของกลุ่มทรูที่ได้อันดับ 1 ดัชนี DJSI และ FTSE4Good

สำหรับเป้าหมายด้านความยั่งยืน “กลุ่มทรู” กำหนด 2 เป้าหมายใหญ่ที่ต้องบรรลุภายในปี 2030 คือ
– ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ (Carbon Neutral)
– ลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำไปฝังกลบให้เป็นศูนย์ (Zero E-Waste to Landfill) ด้วยการนำระบบ Circular Economy เพื่อทำให้เกิดการรีไซเคิลให้ได้มากที่สุด และสามารถตรวจสอบได้ว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์อยู่ที่ไหนบ้าง

“เป้าหมายต่อไป ไม่ใช่แค่คนในองค์กรเท่านั้น แต่เราจะอบรมซัพพลายเออร์ และแชร์เป้าหมายด้านความยั่งยืนดังกล่าวไปยังคู่ค้า และลูกค้าของเราผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อสร้างการตระหนักรู้ที่กว้างขึ้น เพื่อให้ผู้คนให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต”

กรณีศึกษา “กลุ่มทรู” ผนึกกำลังพันธมิตร เปิด “โรงพยาบาลสนาม” รับผู้ป่วยโควิดสีเหลือง-สีแดง
ในช่วงกว่า 2 ปีมานี้ ทั่วโลกต้องเผชิญกับสถานการณ์การ COVID-19 เป็นความท้าทายใหญ่ของภาคสาธารณสุขทั่วโลก ยิ่งประเทศไทยเผชิญวิกฤตการแพร่ระบาดหนักในช่วงปี 2021 จำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเกินอัตรากำลังของโรงพยาบาลต่างๆ ในการรับผู้ป่วย ทำให้มีผู้ป่วยจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงการรักษา โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยสีเหลือง และกลุ่มสีแดง ที่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

นี่จึงทำให้ “ทรู พรอพเพอร์ตีส์” บริษัทในเครือทรู ได้รับมอบหมายจาก “คุณศุภชัย เจียรวนนท์” ให้ดำเนินการสร้าง “โรงพยาบาลสนาม” สำหรับผู้ป่วยสีเหลือง และสีแดง โดยสามารถรองรับผู้ป่วย ICU ถือเป็นหนึ่งในนโยบานด้านความยั่งยืนของกลุ่มทรู และเป็น Learning Success ที่ทำให้กลุ่มทรูได้รับรางวัลด้านความยั่งยืนระดับโลก

แต่กว่าจะมาเป็น “โรงพยาบาลสนามซีพี – ดับบลิวเอชเอ – จุฬารัตน์” ที่มีมาตรฐานเช่นเดียวกับโรงพยาบาล ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องระดมสรรพกำลังทั้งบริษัทต่างๆ ในกลุ่มทรู และเครือซีพี พร้อมด้วยพันธมิตร “ดับบลิวเอชเอ” (WHA) และ “โรงพยาบาลจุฬารัตน์” เร่งก่อสร้างภายในระยะเวลาเพียง 30 วัน เพื่อเปิดดำเนินการให้เร็วที่สุด ท่ามกลางสภาวะวิกฤต COVID-19 ในเวลานั้น

คุณสมเกียรติ เล่าว่า หลังจากเครือซีพีได้สร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย เพื่อส่งมอบให้กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และโรงพยาบาลอื่นๆ นับตั้งแต่เกิด COVID-19 ในปี 2020 ถึงวันนี้ยังมีการผลิตหน้ากากอนามัยให้แก่โรงพยาบาลต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งร่วมสนับสนุนโรงพยาบาลสนาม และศูนย์พักคอยต่างๆ เช่น โรงพยาบาลสนามของกรมการแพทย์ และโรงพยาบาลเลิศสิน, ศูนย์พักคอยที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยรามคำแหง และโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี

ทว่าในระหว่างที่สถานการณ์ COVID-19 รุนแรงขึ้น “กลุ่มทรู” เห็น Pain Point ที่ภาคสาธารณสุขกำลังประสบอยู่ คือ หลายโรงพยาบาลขาดแคลนเตียงสำหรับผู้ป่วยระดับสีเหลือง และสีแดงที่ต้องรักษาในห้อง ICU จึงมองเห็นถึงความจำเป็นต้องดำเนินการก่อสร้าง “โรงพยาบาลสนาม” ที่มีเทคโนโลยี ระบบและเครื่องมือทางการแพทย์มาตรฐานเดียวกับโรงพยาบาล ใช้ในการตรวจรักษาผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง และสีแดงโดยเฉพาะ

โดยได้พันธมิตรภาคเอกชนคือ “ดับบลิวเอชเอ” ให้ใช้สถานที่คลังสินค้าที่มีระบบปรับอากาศที่อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งมีขนาดพื้นที่ 15,000 ตารางเมตร และ “โรงพยาลจุฬารัตน์” ให้การสนับสนุนด้านทีมแพทย์ และพยาบาลมาประจำการที่โรงพยาบาลสนามแห่งนี้ตลอด 24 ชั่วโมง

ในเฟสแรกที่เปิดให้บริการแก่ประชาชน มี 440 เตียง และกลุ่มทรูยังได้วางแผนล่วงหน้าเฟสสอง เพิ่มอีก 200 เตียง ทำให้อัตราการรับผู้ป่วยของ “โรงพยาบาลสนามซีพี – ดับบลิวเอชเอ – จุฬารัตน์”สามารถรองรับได้กว่า 600 เตียง

ขณะที่ออกแบบภายในโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ เสมือนหนึ่งยกโรงพยาบาลมาไว้ที่นี่ เนื่องจากมีการวางระบบ ใช้เทคโนโลยี แบ่งโซนพื้นที่ การบริหารจัดการ และความปลอดภัยของทั้งบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็น
– แบ่งพื้นที่ชัดเจน ทั้งพื้นที่ส่วนผู้ป่วย และพื้นที่ส่วนบุคลากรทางการแพทย์
– จัดทำพื้นที่ห้อง Lab, ห้อง X-ray, ห้องจ่ายยา และมีห้องเก็บขยะพิษ
– ออกแบบระบบปรับอากาศ สำหรับพื้นที่ของบุคลากรทางการแพทย์ เป็นระบบอากาศแรงดันบวก เพื่อป้องกันเชื้อไม่ให้เล็ดลอดเข้าสู่พื้นที่นี้ได้ ขณะที่พื้นที่ส่วนผู้ป่วย ออกแบบเป็นระบบแรงดันลบ และทุกเตียงทั้ง 440 เตียมมีช่องดูดอากาศที่หัวเตียง เพื่อดูดอากาศออกไปผ่านทางหัวเตียง โดยอากาศที่ออกไปนั้น ถูกฆ่าเชื้อด้วยหลอดยูวี และฟิลเตอร์ก่อน

นอกจากนี้มีการบำรุงรักษาระบบปรับอากาศตลอดเวลา และวิเคราะห์อากาศที่ปล่อยออกไป เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะไม่มีผลกระทบสู่ภายนอก
– จัดเตรียมเครื่องฟอกไต และระบบน้ำ RO เนื่องจากพบ Pain Point หนึ่งของโรงพยาบาลคือ ผู้ป่วยโรคไตที่ติด COVID-19 ซึ่งการฟอกไตต่อครั้งใช้เวลาค่อนข้างนาน ดังนั้นถ้าผู้ป่วยกลุ่มนี้ติด COVID-19 ด้วย จะไม่มีที่ฟอกไต ทางโรงพยาบาลจุฬารัตน์จึงได้ปรึกษากับกลุ่มทรู เพื่อให้ติดตั้งระบบน้ำ RO สำหรับใช้ในการฟอกไต รวมทั้งระบบสเตอริไลซ์เครื่องมือทางการแพทย์ ขณะที่ทางโรงพยาบาลจุฬารัตน์จัดเตรียมเครื่องฟอกไต
– ระบบสุขาภิบาล สร้างห้องน้ำแยกส่วนชัดเจนระหว่างผู้ป่วย กับเจ้าหน้าที่ พร้อมด้วยระบบฆ่าเชื้อ ทั้งน้ำทิ้งและปฏิกูลของผู้ป่วย
– ติดตั้งระบบไฟฟ้า และไฟสำรอง เพื่อป้องกันกรณีหากเกิดไฟดับ เนื่องจากอุปกรณ์บางอย่างต้องเปิดตลอดเวลา
– ติดตั้งระบบสื่อสารสำหรับผู้ป่วยกับเจ้าหน้าที่ และสัญญาณ WIFI ผ่านโครงข่าย 5G เพื่อการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ และเพื่อการผ่อนคลายให้กับผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ยังต้องอยู่ในโรงพยาบาลสนาม การนอนบนเตียงนานๆ ยิ่งทำให้เกิดความเครียด ดังนั้นการติดตั้ง WIFI ผู้ป่วยจะได้ติดต่อสื่อสาร รับชมความบันเทิง และเล่นเกมต่างๆ ผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ตที่จัดเตรียมไว้ทั่วโรงพยาบาลสนาม
– มีหุ่นยนต์นำทาง ช่วยอำนวยความสะดวกผู้ป่วยในการไปจุดต่างๆ

โดยตลอดระยะเวลา 7 เดือนนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2021 – เมษายน 2022 ของการเปิดโรงพยาบาลสนามซีพี – ดับบลิวเอชเอ – จุฬารัตน์ ได้รับผู้ป่วยเข้ามาดูแลรักษากว่า 3,500 คน ในจำนวนนี้มี 600 – 700 คน ต้องรักษาในห้อง ICU ของที่นี่ ซึ่งมีขีดความสามารถเทียบเท่า ICU ของโรงพยาบาล

“ก่อนหน้านี้ไม่มีใครเชื่อว่ากลุ่มทรูจะสามารถเปิดโรงพยาบาลสนามที่มี 440 เตียง และรักษาได้ถึง ICU โดยใช้เวลาปรับปรุงพื้นที่เพียง 30 วัน แต่เรารวมพลังหน่วยงานภายในเครือมาช่วยกัน เพราะโจทย์ค่อนข้างยาก พื้นที่ใหญ่ ระยะเวลาการสร้างต้องเร็วที่สุด มีมาตรฐานเทียบเท่าโรงพยาบาล เพราะฉะนั้นต้องใช้องคาพยพของเครือ

เช่น เราได้รับการรับการสนับสนุนด้านการออกแบบจากทีมวิศวกรรมของเครือ, การวางระบบสื่อสาร WIFI และเทคโนโลยีจากทรู พร้อมด้วยพันธมิตรโรงพยาบาลจุฬารัตน์ และดับบลิวเอชเอ โดยมีทรู พรอพเพอร์ตีส์เป็นผู้ดูแลและบริหารจัดการ

นี่คือตัวอย่างของการผนึกกำลังระหว่างภาคเอกชน ด้วยการนำจุดแข็งของแต่ละฝ่ายมาช่วยกัน ทำให้เห็นว่าความยั่งยืนเกิดขึ้นได้ ถ้าเราร่วมมือร่วมใจกัน” คุณสมเกียรติ สรุปทิ้งท้ายถึงบทเรียนความสำเร็จของโรงพบาบาลสนาม

 

ที่มา: https://www.marketingoops.com/news/biz-news/true-to-be-number-1-djsi-index

วันที่ 08 สิงหาคม 2565