ปัจจุบัน เรากำลังอาศัยอยู่ในโลกที่ทรัพยากรธรรมชาติกำลังหมดลง การจัดการทรัพยากรอย่างมีความรับผิดชอบในทุกอุตสาหกรรมเท่านั้น ที่จะช่วยหยุดยั้งและแก้ไขปัญหาได้ งานวิจัยฉบับล่าสุด WWF Living Planet Report 2020 ที่สอดรับกับประเด็นดังกล่าวข้างต้น ระบุว่า ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา การขยายตัวของประชากรและสังคมมนุษย์ ก่อให้เกิดการแสวงหาประโยชน์จากธรรมชาติที่มากเกินพอดี จนทรัพยากรธรรมชาติที่โลกมีอยู่กำลังเสื่อมโทรมลง และกำลังลดลงในอัตราที่น่าวิตก งานอนุรักษ์จึงเป็นวาระเร่งด่วนที่จะช่วยเยียวยา และช่วยให้อัตราการทำลายธรรมชาติเป็นไปอย่างช้าลง เพื่อให้เรายังคงสามารถรักษาทรัพยากรของโลกไว้สำหรับคนรุ่นต่อไปได้
“องค์การจัดการด้านป่าไม้” (Forest Stewardship Council : FSC) องค์กรอิสระ ดำเนินการใน 50 ประเทศทั่วโลก ก่อตั้งเมื่อ 27 ปีก่อน จากความเห็นชอบจากผู้บริโภค กลุ่มผู้ประกอบการค้าไม้เพื่อผลกำไร กลุ่มผู้ซื้อที่ต้องการมีส่วนช่วยให้โลกอยู่ได้อย่างยั่งยืนเพื่อให้การจัดการป่าไม้ ของโลกเป็นไปอย่างรับผิดชอบ ด้วยระบบการรับรองที่เข้มงวดและมีความโปร่งใส
"FSC" จึงเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับจากผู้ซื้อในตลาดระดับสากล ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับฉลาก FSC จะต้องถูกตรวจสอบตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้มั่นใจได้ว่ามาจากป่าปลูกเชิงพาณิชย์ที่มีการบริหารจัดการอย่างมีความรับผิดชอบ โดย FSC เป็นเพียงองค์กรเดียวที่ได้รับการยอมรับในการวางมาตรฐานระดับสากลในการจัดการป่าไม้อย่างรับผิดชอบ ที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรระดับโลกอย่าง กองทุนสัตว์ป่าสากล หรือ WWF และกรีนพีช (Greenpeace)
“ปรัศนีย์ ทิพย์รักษา” ผู้ประสานงาน องค์การจัดการด้านป่าไม้ ประจำภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (ประเทศไทย) อธิบายว่า ในตอนนี้ทรัพยากรถูกใช้ในอัตราเร่งที่รวดเร็ว มีการเข้าถึงทรัพยากรได้ง่ายขึ้น อุตสาหกรรมทุกประเภทมีความจำเป็นในการเลือกใช้ทรัพยากรมาผลิต สำหรับเยื่อและกระดาษ ดังนั้น การเลือกทรัพยากรที่มาจากแหล่งการจัดการที่อย่างยั่งยืนทำให้ทรัพยากรอยู่ได้นานขึ้น อุตสาหกรรมเยื้อกระดาษ FSC เป็นมาตรฐานมีความเข้มงวดที่ทำให้ผู้ผลิตไม้ นำมาทำเยื่อกระดาษ มีการรับรองภายใต้ความโปร่งใส ทำให้ผู้บริโภค หรือซื้อไม้ ที่ได้รับการรับรองจาก FSC มีส่วนช่วยในการจัดการ ใช้ทรัพยากรจากแหล่งที่ยั่งยืน
โดยการรับรอง แบ่งเป็น “รับรองคนปลูกป่า” และ “รับรองคนที่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากป่าที่ผ่านการรับรอง” โดยใบรับรองต้องต่อทุก 5 ปี จะต่อหรือไม่ก็ได้ หากต้องการขอการรับรองสามารถติดต่อหน่วยงานที่สาม (Third party) ที่ให้บริการรับรอง ตรวจประเมิน ตรวจเอกสาร ลงพื้นที่สำรวจ ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน
หลักสำคัญในการจัดการป่า FSC คือ ต้องดูแลคนในพื้นที่ที่ปลูกต้นไม้ ชุมชน ทำงานอย่างมีความรับผิดชอบ จัดการพื้นที่ป่าด้วยแผนการจัดการ ติดตามผล และแก้ปัญหา นอกจากนี้ ไม่ใช่แค่ดูแลคนเท่านั้น แต่ต้องดูแลธรรมชาติด้วย ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ หรือพื้นที่โดยรอบ ต้องตัดไม้ที่พร้อมและเหลือลูกไว้ให้โต ทำให้แน่ใจได้ว่า เมื่อตัดไม้วันนี้ ยังมีไม้อีกรุ่นที่จะโตต่อ และโตทันใช้ต่อไป รูปแบบดังกล่าว ทำให้มีการหมุนเวียน มั่นใจได้ว่ามีต้นไม้ใหม่เสมอในอนาคต อัตราการปลูกมากกว่าอัตราการตัด ทำให้พื้นที่ป่ายังคงอยู่
“ทุกคนต้องช่วยกัน ทำหน้าที่ในบทบาทของตัวเองหากเป็นผู้บริโภค ก็เลือกใช้สินค้าที่มีการรับรอง จากแหล่งผลิตที่ยั่งยืน หากเป็นเกษตรกร อาจจะเลือกทำมาตฐาน FSC หากเป็นอุตสาหกรรมการหาวัสดุจากแหล่งที่ยั่งยืน แต่ละคนมีบทบาท มีส่วนช่วยกัน ความยั่งยืนจะไม่เกิดหากทำคนเดียว”
“สำหรับในประเทศไทย มีพื้นที่ที่ขอการรับรองเติบโตค่อนข้างเร็ว เนื่องจากการทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐ ที่ให้เงินสนับสนุนเกษตรกรรายเล็ก ไม่ใช่แค่ตลาดไทย ตลาดโลกก็ต้องการผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรอง เกษตรกรจึงต้องปรับตัว หากมีมาตรฐาน FSC จะช่วยยกระดับเกษตรกรและผลิตภัณฑ์ของไทยให้ดียิ่งขึ้นเพื่อไปแข่งขันกับตลาดโลกได้” ปรัศนีย์ กล่าว
สำหรับป่าไม้เชิงพาณิชย์หรือป่าไม้ที่ได้รับรองตามมาตรฐานของ FSC นั้น จะครอบคลุมถึงการจัดการป่าตามธรรมชาติและสวนป่าที่มีการปลูกต้นไม้เพื่อทดแทนไม้ที่นำไปใช้ในการผลิตและการแปรรูป โดยจะต้องมีการระบุและตรวจสอบแหล่งที่มาของไม้ได้ ปัจจุบัน ป่าปลูกเชิงพาณิชย์ที่ได้รับมาตรฐาน FSC นั้นเริ่มมีแพร่หลายมากยิ่งขึ้น โดยในขณะนี้มีมากถึงกว่า 1,200 ล้านไร่ทั่วโลก มีเกษตรกรและสวนป่ารายย่อย 150,000 รายทั่วโลก สมาชิกของ FSC ในภาคสังคม ภาคสิ่งแวดล้อม และภาคธุรกิจ ซึ่งจะช่วยกันบริหารจัดการป่าไม้ในโลกด้วยหลักธรรมาภิบาลอีกกว่า 800 ราย ใบประกาศ FSC มากกว่า 31,000 ใบ ใน 120 ประเทศ
“เต็ดตรา แพ้ค” ถือเป็นหนึ่งในบริษัทแรกๆ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน FSC และมีการเสนอบรรจุภัณฑ์กล่องเครื่องดื่มที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน FSC ในไทย ในปี 2553 โดยปัจจุบัน สามารถส่งมอบกล่องเครื่องดื่มที่ติดฉลาก FSC ไปแล้วมากกว่า 26,000 ล้านกล่อง
“ปฏิญญา ศิลสุภดล” ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืน บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บรรจุภัณฑ์กล่องเครื่องดื่มของเต็ดตรา แพ้ค ใช้วัสดุที่สามารถนำกลับไปรีไซเคิลได้ทั้งหมดและมีการนำไปรีไซเคิลเพิ่มมากขึ้นทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก บริษัทฯ ยังคงทำงานอย่างเต็มที่เพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้กระดาษในกล่องบรรจุภัณฑ์ให้มากขึ้น พร้อมกับลดการใช้อลูมิเนียมและพลาสติกให้น้อยลง
“เป้าหมาย คือ การสร้าง สรรค์บรรจุภัณฑ์กล่องเครื่องดื่มที่ผลิตจากทรัพยากรทดแทนได้ที่มีการจัดการอย่างรับผิดชอบทั้งหมดและรีไซเคิลได้ ซึ่งต้องนำกลับไปรีไซเคิลได้ทุกส่วนโดยไม่มีผลกระทบจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิสู่ชั้นบรรยากาศ เต็ดตรา แพ้ค เชื่อว่าบรรจุภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพดังกล่าวจะช่วยรับมือกับความท้าทายในการเข้าถึงอาหาร การขาดความมั่นคงทางอาหาร และขยะอาหารได้อย่างเหมาะสม” ปฏิญญา กล่าว
1. สอดคล้องกับกฎหมาย การจัดการป่าไม้ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของประเทศ รวมทั้งตามสนธิสัญญาและข้อตกลงระหว่างประเทศที่ได้ลงนามไว้
2. สิทธิของคนงานและเงื่อนไขในการจ้างงาน สวัสดิภาพของคนทางด้านสังคมและเศรษฐกิจได้รับการดูแล
3.สิทธิของชนพื้นเมือง การบริหารสวนป่าต้องระบุและเคารพสิทธิจารีตประเพณี สิทธิตามกฎหมายของชนพื้นเมือง ในการครอบครองใช้ และจัดการทรัพยากรที่ได้รับผลกระทบจากการจัดการสวนป่า
4. ความสัมพันธ์กับชุมชน ความเป็นยอู่ของผู้คนในชุมชนทางด้านเศรษฐกิจและสังคมต้องถูกคงไว้หรือพัฒนาให้ดีขึ้น
5. ผลประโยชน์จากป่าไม้ การจัดการป่าไม้ต้องส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ จากป่าไม้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคมอย่างแท้จริง
6. คุณค่าและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การจัดการป่าต้องรักษาอนุรักษและฟื้นฟูบริการระบบนิเวศและคุณค่าในเชิงสิ่งแวดล้อมของป่าไม้ และต้องหลีกเลี่ยงเยียวยา หรือบรรเทาผลกระทบในด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม
7. การวางแผนการจัดการ มีแผนการจัดการที่สอดคล้องกับนโยบายและวัตถุประสงค์ วางแผนปรับเปลี่ยนตามแผนการจัดการให้เข้ากับสภาพปัจจุบัน มีระบบข้อมูลที่เพียงพอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถตัดสินใจอย่างถูกต้อง
8. การติดตามและประเมินผล มีการตรวจสอบและประเมินผลความก้าวหน้า สู่การบรรลุวัตถุประสงค์ในการจัดการผลกระทบของกิจกรรม ในการจัดการและสภาพของป่าไม้
9. พื้นที่ที่มีคุณค่าต่อการอนุรักษ์สูง รักษาและพัฒนาพื้นที่ป่าไม้ ที่มีคุณค่า ต่อการอนุรักษ์สูง โดยใช้การดำเนินการด้วยความระมัดระวัง
10. การปฏิบัติตามกิจกรรมในการจัดการป่าไม้ คัดเลือกปฏิบัติกิจกรรมในการจัดการสวนป่าให้สอดคล้องกับนโยบายและวัตถุประสงค์ในเชิงเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม โดยให้เป็นไปตามหลักการและหลักเกณ์ของ FSC
ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/933908