เอสซีจี เริ่มต้นธุรกิจเยื่อและกระดาษในปี 2518 ภายใต้บริษัท The Siam Pulp and Paper ช่วง 30 ปีแรก (2518-2548) ทำกระดาษบรรจุภัณฑ์ เยื่อกระดาษ บรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูก กระดาษพิมพ์เขียน
มาสู่จุดเปลี่ยนสำคัญ รีแบรนด์จาก SCG Paper เป็น SCG Packaging และขยายธุรกิจกระดาษบรรจุภัณฑ์ไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียนมากขึ้น ล่าสุด นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ) บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP ให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงแผนขยายธุรกิจแพ็กเกจจิ้งระยะสั้น-ระยะยาวและการเติบโตในอาเซียน รวมถึงการรับมือกับปัจจัยเสี่ยงเพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อได้ในภาวะวิกฤติ
อัดแสนล้านเดินแผน 5 ปี
ซีอีโอ SCGP กล่าวถึงแผนขยายการลงทุนระยะสั้นว่า จะเดินหน้าขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แผน 5 ปี (ปี 2565-2569) ใช้งบลงทุนรวม 100,000 ล้านบาท เน้นธุรกิจในกลุ่มบรรจุภัณฑ์ปลายน้ำ (Downstream) ที่มีศักยภาพการเติบโตในระยะยาวและได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค
ปี 2565 ตั้งงบลงทุนที่ประมาณ 20,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 10,000 ล้านบาท สำหรับการควบรวมกิจการ ( (Merger & Partnership) โดยปี 2565 ยังไม่มีดีลปิด, 5,000 ล้านบาท สำหรับการขยายธุรกิจจากภายใน (Organic Expansion) โครงการที่ประกาศไปแล้ว ได้แก่ โครงการขยายฐานการผลิตบรรจุภัณฑ์เยื่อและกระดาษ (กล่องลูกฟูก) 75,000 ตันต่อปี งบลงทุน 2,450 ล้านบาท และ 5,000 ล้านบาท สำหรับ Maintenance, R&D, Efficiency improvement และ ESG
โดยเฉลี่ยจะมีโครงการ Merger & Partnership (M&P) ประมาณ 1-2 โครงการต่อปี โดยหลังจากบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อปี 2563 ได้ปิดดีลแล้ว 5 ดีล ได้แก่ SOVI ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์เยื่อกระดาษรายใหญ่ในเวียดนาม, Go-Pak กิจการโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์อาหารในสหราชอาณาจักร, Duy Tan Group ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบคงรูปรายใหญ่ในเวียดนาม, Intan Group กิจการบรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูกในอินโดนีเซีย, Deltalab Group ผู้ผลิตวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ในสเปน
“SCGP มีการลงทุนอย่างระมัดระวัง และการบริหารเงินทุนหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยยังคงพิจารณาและอยู่ในระหว่างการเจรจาซื้อกิจการ หากมีความชัดเจนทางบริษัทจะแจ้งให้ทราบผ่านทางตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต่อไป”
ตอกย้ำเบอร์ 1 อาเซียน
นายวิชาญกล่าวว่า SCGP เป็นเบอร์หนึ่งด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในอาเซียน ซึ่งดำเนินงานแบ่งออกเป็น 2 สายธุรกิจหลัก ได้แก่ สายธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร ประกอบด้วย กลุ่มสินค้าบรรจุภัณฑ์จากเยื่อกระดาษ กระดาษบรรจุภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์จากวัสดุสมรรถนะสูงและพอลิเมอร์ และสายธุรกิจเยื่อและกระดาษ
โดย SCGP เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดในกลุ่มกระดาษบรรจุภัณฑ์ใหญ่สุดในอาเซียน สำหรับในกลุ่มธุรกิจปลายน้ำ ได้แก่ บรรจุภัณฑ์เยื่อกระดาษ มีผู้ผลิตหลายราย โดย SCGP เป็นผู้ผลิตรายใหญ่สุดในไทยและเวียดนาม และใหญ่เป็นอันดับ 1 ใน 3 ในอินโดนีเซีย ส่วนในกลุ่มบรรจุภัณฑ์จากวัสดุสมรรถนะสูงและพอลิเมอร์ ตลาดมีผู้ผลิตจำนวนมาก และมีผู้ผลิตกลุ่มบรรษัทข้ามชาติ (MNC) เข้ามาในอาเซียนด้วย
เป้าปีนี้กว่า 1.4 แสนล้าน
นายวิชาญกล่าวอีกว่า เมื่อปี 2564 SCGP มีรายได้จากการขายรวม 124,223 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 23% ของรายได้ SCG (ปี 2564 SCG มีรายได้จากการขายเท่ากับ 530,112 ล้านบาท) และปี 2565 SCGP มุ่งทำรายได้จากการขายมากกว่า 140,000 ล้านบาท จากแผนการขยายธุรกิจอย่างมีคุณภาพ ทั้งการขยายกำลังการผลิตและ M&P รวมถึงการดำเนินธุรกิจตามโมเดลธุรกิจ ที่แข็งแกร่ง โดยมีสินค้าและบริการที่หลากหลาย และมีความสามารถด้านการผลิตที่ครอบคลุมทั้งบรรจุภัณฑ์ขั้นต้น และขั้นปลาย
ต่อคำถามที่ว่าทำไมรายได้เติบโตสวนกระแสวิกฤติในขณะนี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCGP กล่าวว่า “No crisis lasts forever” ไม่มีวิกฤติไหนที่จะอยู่ไปตลอด ธุรกิจจะต้องเผชิญกับวิกฤติอยู่ตลอด ขึ้นอยู่กับว่ากระทบมากหรือน้อย สิ่งสำคัญคือธุรกิจจะผ่านวิกฤตินี้ออกมาในรูปแบบไหนและมีวิธีการจัดการอย่างไร ท่ามกลางวิกฤติที่ทั่วโลกเผชิญ
“SCGP จะปรับตัวให้เร็วเพื่อรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น และตอบสนองต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค เราเห็นถึงการเติบโตของ Delivery รวมถึงการให้ความสำคัญกับสุขภาพและการแพทย์ SCGP จึงสร้างการเติบโตผ่านการควบรวมกิจการ เพื่อรองรับโอกาสทางธุรกิจและเมกะเทรนด์ดังกล่าว”
นอกจากนี้ยังเห็นโอกาสการเติบโตในเวียดนามและอินโดนีเซีย จึงได้เข้าไป M&P พร้อมกับการขยายธุรกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจปลายน้ำในกลุ่ม Integrated Packaging Business ที่เป็นสินค้าใน Consumer Segment เพราะบรรจุภัณฑ์ยังคงเป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่อุปทาน ที่ตอบสนองความต้องการซื้อสินค้าที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง
แผนบริหารความเสี่ยง
สำหรับการบริหารความเสี่ยงในแง่วัตถุดิบกระดาษรีไซเคิลนั้น ปี 2565 SCGP นำเข้าวัตถุดิบประมาณ 50% ของยอดการใช้ทั้งหมดประมาณ 4.4 ล้านตัน โดยเน้นการนำเข้าจากภูมิภาคที่หลากหลาย เช่น อเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น โอเชียเนีย เป็นต้น ซึ่งกลยุทธ์นี้ทำให้มีความสามารถในการปรับตัวได้อย่างเหมาะสมตามช่วงเวลาและจัดการกับซัพพลายเชนได้
ด้านถ่านหิน ความผันผวนของราคา ทำให้เกิดผลกระทบต่อทุกอุตสาหกรรมการผลิตทั่วโลก บริษัทมีแผนการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าปริมาณถ่านหินที่จะใช้ไว้เกือบทั้งหมดแล้วในปี 2565 เพื่อให้สามารถผลิตและส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน (RE) อย่างต่อเนื่อง อาทิ Biomass, Solar cell ตามเป้าหมาย Net Zero และมีการบริหารจัดการขนส่งทางเรือในปลายทางต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ
ปัจจุบัน SCGP มีสินค้าและบริการที่หลากหลายทั้งบรรจุภัณฑ์กระดาษและพอลิเมอร์ครอบคลุมทั้งภูมิภาคอาเซียน โดยมีโรงงานผลิตจำนวน 56 แห่งและมีลูกค้ากว่า 7,000 ราย โดยลูกค้ากว่า 70% อยู่ในอุตสาหกรรมที่ใกล้ชิดกับผู้บริโภค เช่น ธุรกิจอุตสาหกรรมอุปโภคบริโภค ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม จึงทำให้บริษัทมีความยืดหยุ่นในการผลิตสินค้าให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าในแต่ละช่วงเวลาได้อย่างเหมาะสม รวมถึงการพัฒนาหาช่องทางในการขยายฐานลูกค้าไปยังภูมิภาคและตลาดใหม่ ๆ ทำให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อได้ในภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน