เผย 7 เทรนด์การผลิตและบรรจุภัณฑ์ที่ธุรกิจต้องรับมือ เตรียมมองหาโซลูชั่นใหม่ ๆ ได้ใน ProPak Asia 2022

ใกล้เข้ามาทุกขณะ สำหรับการจัดงาน ProPak Asia 2022 งานสินค้าอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ด้านกระบวนการผลิต การแปรรูป และบรรจุภัณฑ์ ที่รวบรวมทั้งความรู้ แรงบันดาลใจ และโอกาสทางธุรกิจเอาไว้ในที่เดียว โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-18 มิถุนายนนี้ ณ ไบเทค บางนา ลงทะเบียนเข้าชมงานได้ที่ https://bit.ly/36ZrxxL เพื่อเป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญของการจัดงานและประโยชน์สำคัญมากมายที่นักธุรกิจและผู้ประกอบการไทย จะได้รับจากการเข้าร่วมชมงานในปีนี้ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ในฐานะผู้จัดงานดังกล่าว ได้รวบรวมข้อมูลทั้งจากสถานการณ์โลกและจากการคร่ำหวอดในแวดวงผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมมาอย่างยาวนาน มาสรุปเป็น 7 เทรนด์การผลิตและบรรจุภัณฑ์คอนเฟิร์มได้เลยว่ามาแน่! เพื่อให้บรรดาธุรกิจเตรียมรับมือและหาโซลูชั่นมาประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม

นางสาวรุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานภูมิภาคอาเซียน อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย กล่าวว่า โพรแพค เอเชีย ในปีนี้ เรียกได้ว่าเป็นการเปิดประตูสู่ยุคใหม่ของอุตสาหกรรม 4.0 ที่ชัดเจนมากที่สุด มีทั้งความน่าตื่นตาของเทคโนโลยีล้ำสมัยที่จับต้องได้ ทำให้การผลิตและบรรจุภัณฑ์นั้นมีประสิทธิภาพและได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ แต่ในขณะเดียวกันก็ส่งมอบความยั่งยืนให้กับโลกของเราได้ในหลายมิติ ทั้งสิ่งแวดล้อม สังคมและมนุษยธรรม จึงควรค่าอย่างยิ่งจะมาเยี่ยมชมงาน ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ผลิต นักธุรกิจ นักลงทุน ผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใดก็ตาม หรือแม้แต่ผู้ที่สนใจ หรือกำลังมองหาโอกาสทางธุรกิจก็ควรมาสัมผัสประสบการณ์และมุมมองใหม่ ๆ ในงานนี้

เผย 7 เทรนด์การผลิตและบรรจุภัณฑ์ที่ธุรกิจไทยต้องจับตาให้ดูและเตรียมมือ ได้แก่

1. The Great Resignation to The Manpower of Nowhere
สืบเนื่องจากสถานการณ์ The Great Resignation หรือการลาออกครั้งมโหฬารของแรงงานทั่วโลก กำลังลุกลามจากฝั่งคนทำงานออฟฟิศไปสู่แรงงานในภาคการผลิต ที่มองเห็นโอกาสจากการขยายตัวของความเจริญไปสู่ถิ่นฐานบ้านเกิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย การเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล และเครือข่ายโลจิสติกส์ที่แข็งแกร่ง เป็นเพียงฉากแรกของการลาออกเท่านั้น เพราะฉากต่อไปยังมีเรื่องของรถไฟฟ้าความเร็วสูงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แรงงานไม่จำเป็นต้องกระจุกตัวอยู่ในเขตพื้นที่อุตสาหกรรมอีกต่อไป แรงงานจะพึงใจกว่าถ้าได้ทำงานที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบของสถานที่และเวลา และที่สำคัญการจ้างงานก็มีแนวโน้มที่จะเป็นการจ้างระยะสั้นลงเรื่อย ๆ โดยขึ้นอยู่กับความพึงใจของแรงงานเป็นหลัก ทั้งนี้หลักประกันสุขภาพขั้นพื้นฐานของภาครัฐก็ยิ่งตอบโจทย์ให้แรงงานสามารถทำงานได้อย่างอิสระขึ้นด้วย เจ้าของธุรกิจจึงจำเป็นต้องหาโซลูชั่นใหม่ ๆ ที่จะพึ่งพาแรงงานมนุษย์ให้น้อยที่สุด

2. Rising of Automation
วิวัฒนาการของเครื่องจักรและหุ่นยนต์อัตโนมัติ ได้แปรเปลี่ยนจากการเป็นแค่นิทรรศการอุตสาหกรรมราคาแพงที่เกินเอื้อม กลายมาเป็นตัวช่วยในกระบวนการผลิตได้ดียิ่งขึ้น จนกลายเป็นฟันเฟืองของอุตสาหกรรมยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะหลังจากการหยุดชะงักของซัพพลายเชนทั่วโลกจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การปรับปรุงการประเมินความเสี่ยงในการผลิต กลายเป็นประเด็นสำคัญ และทำให้ผู้ประกอบการทั่วโลกควบคุมความเสี่ยงจากการใช้แรงงานคน ปรับปรุงกระบวนการการผลิตให้มีประสิทธิภาพ และมองเห็นปัจจัยความเสี่ยงได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ทำให้หนึ่งในเทรนด์อุตสาหกรรมที่กำลังมาแรงก็คือ การใช้ หุ่นยนต์และเครื่องจักร Automations และกึ่งอัตโนมัติมาใช้ในกระบวนการผลิต ซึ่งเทรนด์นี้เริ่มจะเปลี่ยนจากการใช้อุปกรณ์ไฮเทคแบบชั่วครั้งชั่วคราว ก้าวสู่ความเป็น Smart Factory และ Smart Processing เต็มระบบมากยิ่งขึ้น อาทิ การใช้เครื่องจักรรุ่นใหม่ที่มีเซ็นเซอร์ในตัว สามารถเก็บข้อมูลได้อย่างละเอียด พร้อมเครื่องมือตรวจสอบ

3. Practical 5G & IIoT (Industrial Internet of Things)
ในประเทศที่ว่องไวต่อความก้าวหน้าและความเจริญ ได้ผ่านขั้นตอนการทดลองใช้เทคโนโลยี 5G & IIoT (Industrial Internet of Things) กันไปแล้ว และเริ่มมีการออกสินค้าอุตสาหกรรมที่รองรับเทคโนโลยีเหล่านี้ให้ผู้ประกอบการได้นำมาประยุกต์ใช้แล้ว โดยเฉพาะในประเด็นของการสื่อสารแบบ M2M หรือ Machine to Machine ที่เครื่องจักรมีการคุยกัน ส่งข้อมูลหากันอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยให้ AI ที่ฝังอยู่ในเครื่องจักรแต่ละตัวสามารถเรียนรู้ ประมวลผล และทำงานสอดรับกันได้อย่างแนบสนิท ไร้รอยต่อ ลดทั้งการใช้แรงงานคน เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการวัตถุดิบและพลังงาน ตลอดจนลดความเสียหายของผลผลิต หรือในกรณีที่ต้องมีการซ่อมบำรุงด้วยผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ เซนเซอร์ที่ติดตั้งไว้จำนวนมาก ส่งข้อมูลไปอย่างรวดเร็ว ประมวลผลเป็นภาพ 3 มิติ แบบ Augmented Reality หรือ AR ควบคุมการซ่อมได้จากต่างประเทศโดยตรง แบบนี้เรียกว่า Virtual Digital Twin in Manufacturing

4. The Evolution of 3D Printing Materials
เครื่องพิมพ์ 3 มิติ เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการผลิตของบริษัทขนาดใหญ่ หรือแม้กระทั่งระดับ SMEs เพราะเทคโนโลยีด้านวัสดุในปัจจุบัน ทั้งจาก เส้นพลาสติก เส้นใยสังเคราะห์ ด้ายขนสัตว์ และโลหะ ที่สามารถพิมพ์วัสดุโดยใช้เทคนิคการพิมพ์ซ้อนทับลงไปเรื่อย ๆ จนเกิดเป็นรูปทรง 3 มิติ ที่จับต้องได้ ทำให้ความน่าสนใจของ 3D Printing ในเชิงการผลิตและบรรจุภัณฑ์จึงเต็มไปด้วยความหลากหลายของวัสดุที่น่าจับตามอง เช่น การผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ของเครื่องจักร ที่ช่วยลดระยะเวลาการรอคอยและการนำเข้า ไปจนถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ต้นแบบ ที่นอกจากจะลดต้นทุนและลดระยะเวลาการผลิตลงได้ 40%-50% แล้ว ยังสามารถช่วยให้บริษัทต่าง ๆ ออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้รวดเร็วยิ่งขึ้น หรือทำการทดลองตลาดได้ง่ายขึ้น

5. Intelligent Packaging
นอกจากความสวยงาม สื่อสารจุดแข็งของแบรนด์ ส่งเสริมจุดเด่นของสินค้า และง่ายต่อการนำกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลแล้ว บรรจุภัณฑ์ยุคใหม่ต้องทำหน้าที่ที่หลายหลากมากขึ้นอีก ไม่ว่าจะเป็น ช่วยในการตรวจสอบย้อนกลับให้รู้แหล่งผลิต กระบวนการ หรือบอกคุณภาพความสดใหม่ ช่วยยืดอายุของสินค้า ลดการเติบโตของเชื้อรา แบคทีเรีย ไปจนถึงลดการกัดกร่อนกำจัดก๊าซที่เกิดจากระบวนการขนส่งหรือจัดจำหน่าย ไปจนถึงบ่งชี้ความสดใหม่ เปลี่ยนสีเมื่อหมดอายุ โดยทำงานผ่านเซ็นเซอร์ (Sensors) ตัวบ่งชี้ (Indicators) และข้อมูล (Data Carriers) อย่างตัวบ่งชี้อุณหภูมิ-เวลา (TTIs) เป็นต้น ซึ่งการตรวจสอบย้อนกลับได้จะมีผลอย่างมากในการจัดการความยั่งยืนแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อให้บรรจุภัณฑ์แต่ละชิ้นที่ถูกใช้แล้วหมุนเวียนกลับไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตได้อีกครั้ง

6. Packaging for UAV (Unmanned Aerial Vehicle)
ในปี 2021 Wing บริษัทโดรนของ Alphabet เผยสถิติว่ามียอดขนส่งของถึง 1 แสนครั้ง แต่ในปัจจุบัน Wing ได้ทำสถิติส่งสินค้าเชิงพาณิชย์ ได้ถึง 2 แสนครั้งแล้วภายในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี นั่นเท่ากับว่า Wing มียอดบินโดรนส่งสินค้ามากกว่า 1,000 ครั้งต่อวัน หรือคิดเป็นการส่งดิลิเวอรี่ผ่านโดรน 1 ครั้งในทุก 25 วินาที โดรนเป็นหนึ่งในอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle: UAV) ที่น่าจับตามอง เป็นโซลูชันของการขนส่งสินค้าอัตโนโมัติ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในวงการโลจิสติกส์ มีความรวดเร็วในการขนส่ง แต่เมื่อวิธีการขนส่งเปลี่ยนแปลงไป ความท้าทายถัดมาก็คือวัสดุและการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับรูปแบบการขนส่งผ่านโดรน ที่มีโจทย์ต้องคำนึงถึง ทั้งในแง่ความแข็งแรง น้ำหนัก และการป้องกันความเสี่ยงจากสภาพอากาศ เป็นต้น

7. Sustainability Pressures
ปัญหาสิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียม มนุษยธรรม และการกระจายรายได้ เป็นเรื่องที่ภาคอุตสาหกรรมไม่อาจมองข้ามได้อีกต่อไป เพราะในอนาคตประเด็นเหล่านี้จะถูกหยิบยกมาตั้งคำถาม ทั้งจากผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น หรือจากนโยบายของประเทศคู่ค้า ทำให้ผู้ผลิตต้องหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนกันตั้งแต่กระบวนการผลิต การขนส่ง และบรรจุภัณฑ์ โดยนอกจาก SDGs: Sustainable Development Goals หรือ เป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ที่พูดถึงการสร้างความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ สุขภาพ และการศึกษาแล้ว ในด้านสิ่งแวดล้อมยังมี EPR: Extended Producer Responsibility หรือ หลักการที่ขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตไปยังช่วงต่าง ๆ ของวงจรชีวิตของบรรจุภัณฑ์ เป็นแนวทางให้ผู้ผลิตคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม อย่างครบวงจร ตั้งแต่การออกแบบ กระจายสินค้า การรับคืน การเก็บรวบรวม การใช้ซ้ำ การนำกลับมาใช้ใหม่ และการบำบัด EU Green Deal นโยบายของภูมิภาคยุโรปที่ตั้งกำแพงปิดกั้นการนำเข้าผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่ไม่คำนึงถึงความยั่งยืนจากภูมิภาคอื่น ๆ เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งแรงกดดันจากทุกทิศทุกทางเหล่านี้ส่งผลให้ธุรกิจต่าง ๆ ต้องหันกลับมาทำ Brand Audit เพื่อตรวจสอบแบรนด์ ในเรื่องของสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนกันอย่างหนักหน่วง เพื่อหาหนทางในการอยู่รอดของธุรกิจ

 

ที่มา: https://www.newswit.com/th/LdUP 

วันที่ 06 มิถุนายน 2565