ทุกวันนี้ปัญหามลพิษจากขยะพลาสติกยังคงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากมีการผลิตและใช้พลาสติกมากขึ้น แต่การบริหารจัดการขยะเหล่านี้ พบว่ายังล้มเหลว! โดยรายงานจาก “องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ” (OECD) ระบุว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีการรีไซเคิลขยะพลาสติกเพียง 9% เท่านั้น ขณะที่ส่วนใหญ่ยังใช้วิธีฝังกลบ, เผาทำลาย ไปจนถึงหลุดไปสู่สิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ
แม้ปัญหาขยะพลาสติกถูกหยิบยกมาเป็นวาระระดับโลกมาสักพักแล้ว แต่จากข้อมูลดังกล่าว สะท้อนได้ว่าการบริหารจัดการขยะพลาสติกทั่วโลก ยังไม่ได้ประสิทธิผลที่ดี ดังนั้นทุกภาคส่วนจึงต้องเร่งดำเนินการอย่างจริงจัง และทำต่อเนื่อง หนึ่งในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรงคือ “ภาคเอกชน” ในฐานะผู้ผลิต และกระตุ้นให้เกิด Consumption ผู้บริโภค
หนึ่งในแนวทางแก้ปัญหาขยะพลาสติกที่ภาคเอกชนนำมาปรับใช้กับ Value Chain ของธุรกิจคือ การนำแนวคิด “Circular Economy” หรือ “ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน” คือ การใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์มากที่สุด และสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ, ผลิตซ้ำ ไปจนถึงรีไซเคิล เพื่อลดการใช้ทรัพยากร และปริมาณขยะ
อย่างล่าสุด “Coca-Cola Great Britain” (โคคา-โคลา บริเตนใหญ่) เปิดตัวฝาขวด PET ดีไซน์ใหม่ ด้วยการออกแบบฝาขวดให้ติดกับปากขวด ทำให้เมื่อเปิดขวด ฝากับขวดยังอยู่ด้วยกัน ง่ายต่อการเก็บรวบรวมขวดหลังดื่มเสร็จ ง่ายต่อการรีไซเคิล และลดปริมาณขยะฝาขวดที่มักถูกทิ้งกระจัดกระจายตามที่ต่างๆ
Coca-Cola-PET-Bottles
Photo Credit : darksoul72 / Shutterstock.com
Coca-Cola ตั้งเป้าเปลี่ยนฝาขวดดีไซน์ใหม่กับทุกแบรนด์ในเครือ ภายในปี 2024
หลังจากปี 2021 “Coca-Cola Great Britain” ประกาศว่าได้บรรลุเป้าหมายใช้บรรจุภัณฑ์ขวดทำจากพลาสติกรีไซเคิล 100% (ไม่รวมฝาและฉลาก) ขนาด 500 มล. หรือขนาดเล็กกว่านั้นได้ก่อนเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งช่วยลดการใช้พลาสติกได้ประมาณ 29,000 ตันต่อปี
ถึงแม้ขวด PET รวมทั้งฝาขวดของ Coca-Cola สามารถรีไซเคิล 100% ได้แล้วก็ตาม แต่ที่ผ่านมาไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ครบทั้งหมด (ทั้งฝาและขวด) เพราะขวดเครื่องดื่ม “ฝาขวด” กับ “ขวด” แยกออกจากกัน จึงพบปัญหาว่า “ฝาขวด” มักถูกทิ้งไว้กระจัดกระจาย ไม่ได้ปิดอยู่กับตัวขวด ทำให้ยากต่อการเก็บรวบรวมนำไปรีไซเคิลได้ทั้งหมด
Plastic Waste
จากปัญหาดังกล่าว นำมาสู่การออกแบบฝาขวดเครื่องดื่มใหม่ ให้เชื่อมกับขวด เพื่อช่วยลดการทิ้งขยะแยกชิ้น และเชื่อว่าจะสร้างประสบการณ์การดื่มที่ดีขึ้นให้กับผู้บริโภค เพราะเมื่อเปิดขวดแล้ว ฝาขวดยังคงอยู่กับขวด ทำให้ไม่ต้องถือแยกชิ้น สะดวกต่อการจับขวดเครื่องดื่มได้ดีขึ้น
โดยเริ่มวางจำหน่ายแล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปที่ประเทศสกอตแลนด์ในเดือนพฤษภาคมก่อน จากนั้นจะขยายให้ครอบคลุมทั่ว Great Britain และนำร่องกับขนาดบรรจุ 1.5 ลิตร ทั้ง Coca-Cola Original Taste, Coca-Cola Zero Sugar, Diet Coke, Fanta, Sprite, Dr Pepper และ Lilt
รวมทั้งเตรียมเปลี่ยนมาใช้ฝาขวดแบบใหม่กับทุกแบรนด์ในเครือ Coca-Cola Great Britain ภายในต้นปี 2024
“นี่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ แต่เราหวังว่าจะสร้างผลกระทบเชิงบวกอย่างใหญ่หลวง โดยเราออกแบบขวดใหม่ เพื่อให้แน่ใจได้ว่าเมื่อผู้บริโภคดื่มเครื่องดื่มของเราแล้ว จะไม่มีฝาขวดถูกทิ้งไว้
บรรจุภัณฑ์ใหม่ครั้งนี้เป็นหนึ่งในหลายขั้นตอนที่เรากำลังดำเนินการเพื่อบรรลุความมุ่งมั่นระดับโลกของเราที่มีเจตจำนงค์ช่วยรวบรวมและรีไซเคิลขวดหรือกระป๋องที่เราผลิตและวางจำหน่ายภายในปี 2025 ซึ่งจะเป็นกุญแจสู่เป้าหมายของ Coca-Cola ในการสร้าง Circular Economy สำหรับพลาสติกและโลกที่ปราศจากขยะ” Jon Woods ผู้จัดการทั่วไป, Coca-Cola Great Britain กล่าวถึงฝาขวดใหม่และเป้าหมายการลดขยะพลาสติก
Coca-Cola-Attached-Caps
สำรวจสถานการณ์ “ขยะพลาสติก” ทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น แต่รีไซเคิลเพียง 9%
ขณะที่สถานการณ์ “ขยะพลาสติก” ทั่วโลก “องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ” (OECD) ฉายภาพว่าในขณะที่จำนวนประชากรทั่วโลกเพิ่มขึ้น และมีรายได้สูงขึ้น ผลักดันให้เกิดการใช้และทิ้งขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามรายงาน Global Plastics Outlook ดังนี้
– การใช้พลาสติกเพิ่มขึ้นในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา แรงหนุนมาจากการเติบโตของตลาดเกิดใหม่
– ปี 2019 ทั่วโลกมีการผลิตพลาสติกเพิ่มขึ้นเป็น 460 ล้านตัน เพิ่มขึ้นสองเท่าจากปี 2000
– พลาสติกสร้างก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก คิดเป็น 3.4%
– ปี 2019 มีปริมาณขยะพลาสติก 353 ล้านตัน เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากปี 2000
– 2 ใน 3 ของขยะพลาสติก เป็นพลาสติกที่มีอายุการใช้งานไม่เกิน 5 ปี โดยในจำนวนนี้มาจากบรรจุภัณฑ์ 40%, สินค้าอุปโภคบริโภค 12% และเสื้อผ้า–สิ่งทอต่างๆ 11%
Plastic Waste
– ในสหรัฐอเมริกา ปริมาณขยะพลาสติกอยู่ที่ 221 กิโลกรัมต่อคนต่อปี
– ในยุโรปกลุ่มประเทศที่เป็นสมาชิก OECD ปริมาณขยะพลาสติกอยู่ที่ 114 กิโลกรัมต่อคนต่อปี
– ในญี่ปุ่น และเกาหลี ปริมาณขยะพลาสติกโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 69 กิโลกรัมต่อคนต่อปี
– ขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นทั่วโลก มีเพียง 9% ที่นำไปรีไซเคิล, 19% กำจัดด้วยการเผา, 50% ฝังกลบ และ 22% ถูกทิ้งในที่ๆ ไม่มีการควบคุม เช่น เผาในหลุมแบบเปิด หรือในพื้นที่โล่ง ซึ่งก่อให้เกิดมลภาวะฝุ่นพิษ รวมถึงกระจายปนเปื้อนอยู่ในสภาพแวดล้อมต่างๆ ทั้งบนบก และในน้ำ โดยเฉพาะในประเทศยากจน
– ปี 2019 มีขยะพลาสติก 6.1 ล้านตันรั่วไหลลงสิ่งแวดล้อมทางน้ำ และอีก 1.7 ล้านตันอยู่ในมหาสมุทร ขณะที่ปัจจุบันคาดการณ์ว่ามีขยะพลาสติกปนเปื้อนอยู่ในทะเลและมหาสมุทรมากถึง 30 ตัน และในแม่น้ำอีก 109 ตัน สะท้อนได้ว่าปัญหาขยะพลาสติกรั่วไหลสู่ทะเล มหาสมุทร และแม่น้ำต่างๆ ยังคงเกิดขึ้นต่อไปอีกหลายทศวรรษ
Plastic Waste
ดังนั้นหัวใจสำคัญจึงอยู่ที่การลดปริมาณการผลิต/การใช้ ลดปริมาณขยะพลาสติก รวมทั้งทุกภาคส่วนต้องมีจิตสำนึกของความรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐต้องมีแนวทาง และกฎระเบียบ, ภาคธุรกิจในฐานะเจ้าของแบรนด์ และผู้ผลิต ตลอดจนภาคประชาชน และสังคม