ปัจจุบันกระแสเปลี่ยนแปลงสู่โลกสีเขียว มีพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เรียกว่า “พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ” เข้ามาเป็นทางเลือกให้กับผู้ประกอบการเพิ่ม
เพียงแต่ว่ายังมีการใช้พลาสติกชีวภาพเพียง 1-2% ของการใช้พลาสติกทั้งหมด โดยอุปสรรคในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพที่สำคัญ คือ ปัญหาในด้านต้นทุนการผลิต และประสิทธิภาพในการใช้งาน
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยผลการศึกษาและวิเคราะห์สถานภาพอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพของไทย พบว่า ไทยมีวัตถุดิบทางการเกษตรจำนวนมาก เช่น อ้อย มันสำปะหลัง สามารถรองรับอุตสาหกรรมชีวภาพได้ งานวิจัยเทคโนโลยีวัตถุดิบและกระบวนการผลิตพลาสติกชีวภาพของไทยส่วนมากอยู่ในระดับปฏิบัติการยังไม่รองรับระดับอุตสาหกรรม มีการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพภายในประเทศ โดยผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพที่ผลิตได้ยังมีราคาสูงกว่าผลิตภัณฑ์พลาสติกเดิมที่ผลิตจากปิโตรเลียม และแนวโน้มกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงาน ก่อให้เกิดการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพมากขึ้น แต่ไทยยังมีข้อจำกัดบางประการที่จำเป็นจะต้องกำหนดแนวทางหรือมาตรการเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ
อย่างไรก็ตาม สศอ. พยายามส่งเสริมให้ผู้ประกอบการปรับตัว และเปลี่ยนมาใช้พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพซึ่งสอดคล้องกับแนวทางก้าวเติบโตของประเทศไทยที่จะช่วยส่งเสริมให้สามารถบรรลุเป้าหมายในการเป็น Bio Hub of ASEAN ได้ (รับฟังรายละเอียดในคลิป)
ซึ่งสอดรับกับเมื่อต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ครม. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 25% หนุนใช้พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ถึงสิ้นปี 67
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.เห็นชอบขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ จากเดิมที่สิ้นสุดลงเมื่อ 31 ธันวาคม 64 ออกไปจนถึง 31 ธันวาคม 67 โดยออกเป็นร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
แม้มาตรการทางภาษีนี้ จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ในปี 65-67 ประมาณปีละ 673 ล้านบาท แต่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการหันมาใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกที่ย่อยสลายไม่ได้ และลดงบประมาณภาครัฐในการกำจัดขยะพลาสติกตกค้าง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ไทยสามารถบรรลุเป้าในการเป็น Bio Hub of ASEAN ได้
จากการขยายเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ คาดว่าจะสนับสนุนผู้ประกอบการลดปริมาณการใช้พลาสติกที่ย่อยสลายได้ยาก พร้อมคาดหมายว่าผู้ประกอบการจะเปลี่ยนมาใช้เม็ดพลาสติกชีวภาพเพื่อการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ประมาณ 10% ต่อปี (68,978 ตัน) ของปริมาณบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่มีการผลิตอยู่ในปัจจุบันจำนวน 689,785 ตัน ซึ่งส่งเสริมให้บรรลุเป้าหมายในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Bio Hub of ASEAN ดังกล่าว
ด้าน นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า การขยายเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ โดยกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถนำรายจ่ายค่าซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพตามประเภทที่กำหนด และได้รับใบรับรองผลิตภัณฑ์ จากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม มาหักเป็นรายจ่ายได้เพิ่มอีกเป็นจำนวน25% สำหรับรายจ่าย ที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 65 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 67
การขยายเวลามาตรการภาษีฯ ออกไปจากที่สิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 64 จะมีส่วนช่วยส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และเห็นผลเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ช่วยลดทุนและส่งเสริมให้มีการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจรวมทั้งประชาชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ลดปริมาณขยะและสิ่งตกค้างที่ไม่ย่อยสลาย ส่งผลดีในเรื่องการดูแลปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย
ที่มา: https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9650000043350