ขวดน้ำดื่มขวด PET ใช้ซ้ำได้! แต่ทำไม! คนส่วนมากใช้แล้วทิ้ง

หากตามไปหาคำตอบ ..ที่ว่า ขวดน้ำดื่มใช้ซ้ำได้ ทำไมถึงไม่ใช้ซ้ำ เหตุผลหลักมาจากความสะดวกสบายที่มาพร้อมกับ “ความมั่นใจของผู้บริโภค” เลือกที่จะดื่มน้ำจากขวดใหม่ เปิดใหม่ๆ เขาเชื่อมั่นว่า สะอาด ปลอดภัยกว่านำไปใช้ซ้ำ

ขณะที่คนอีกจำนวนมากพกเอาความเชื่อต่อแบรนด์ของผลิตภัณฑ์มาด้วย เขามั่นใจว่า แบรนด์สะท้อนถึงกระบวนการผลิตที่ดี มีความรับผิดชอบต่อสุขอนามัยของผู้บริโภค

ดังนั้น พอดื่มน้ำหมดขวด หรืออาจจะไม่หมดก็ทิ้งสิ!! จะเก็บขวดไว้ทำไม น้ำดื่มบรรจุขวดยุคนี้ หาซื้อไม่ยากเลย กระหายเมื่อใดแค่แวะร้านสะดวกซื้อ ขณะเดียวกันคนส่วนมากยังมองว่าขวดไม่ได้มีค่า มีราคาอะไรมาก พอเราทิ้งไปคนเก็บขวดสามารถนำไปขาย พวกเขาก็ได้ใช้ประโยชน์ จึงถือเป็นช่วยเหลือคนพร้อมกับการรีไซเคิลได้เหมือนกัน..ซึ่งก็จริง

ดังกล่าวข้างต้น การดื่มน้ำจบแล้วทิ้ง ไม่เก็บขวดเอาไว้ บอกให้รู้ว่า คนส่วนมากตระหนักและใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมน้อย (ยังเขียวเข้มไม่พอ) ความสะดวกสบายยังเป็นปัจจัยที่พวกเขานึกถึงก่อนเสมอ

ต่อประเด็น “ความสะอาดปลอดภัยกว่าการนำกลับไปใช้ซ้ำ” หรือรียูส (Reuse) คนส่วนมากยอมเสียเงินเพื่อซื้อน้ำขวดใหม่ ถือว่าเป็นประเด็นสำคัญของภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งคงทราบดีอยู่แล้ว แต่ถ้าจะต้องทำให้เกิดการลดใช้พลาสติก ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เพื่อลดขยะพลาสติกตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย BCG ก็จะต้องทำให้ผู้บริโภคมองเห็นเป็นรูปธรรม ว่าขวดน้ำดื่ม PET นำมาเติมน้ำที่สะอาดและปลอดภัยได้เทียบเท่า การซื้อน้ำขวดใหม่

หากสิ่งที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน ราคาน้ำดื่ม เช่นขวดขนาด 500-600 มิลลิลิตร ราคา 7-20 บาท ถ้าเราเป็นคนที่ดื่มน้ำเก่ง วันหนึ่งต้องซื้อน้ำ 2-3 ขวดๆ ละ 7 บาท ก็เสีย 14-21 บาทต่อวัน เทียบกับเอาไปเติม กดตู้น้ำดื่มแบบหยอดเหรียญ ลิตรละ 1 บาท ซึ่งกลับกลายเป็นว่าคนส่วนมากยังไม่ไปใช้กันแพร่หลายนัก นอกจากความสะดวกสบายไม่เท่า อีกปัจจัยสำคัญที่ผู้บริโภคกังวลมาก คือความสะอาดปลอดภัยนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ยังมีคนอีกไม่น้อยที่ไม่ทราบว่า ขวดน้ำดื่ม PET ซึ่งเป็นพลาสติกประเภท polyethylene terephthalate หรือที่เราเรียกกันว่า PET สามารถนำมาบรรจุน้ำดื่มซ้ำได้อย่างปลอดภัยจากสารเคมี (ชมคลิป)

กระทรวงสาธารณสุข เคยสุ่มตรวจขวดน้ำ PET กว่า 10 บริษัท พบว่าค่าสารที่ละลายออกมานั้นอยู่ในมาตรฐาน ส่วนการนำมาใช้ซ้ำนั้น ทาง ก.สาธารณสุข บอกว่าไม่น่ามีปัญหาเรื่องสารเคมีปนออกมา แต่อาจมีความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อโรคและสิ่งสกปรกที่ตกค้างอยู่มากกว่า ถ้าล้างไม่ดีพอก่อนที่จะบรรจุซ้ำใหม่

ดังนั้นสิ่งที่ต้องกังวล คงย้อนกลับไปที่เรื่อง “ความสะอาด” เนื่องจากการใช้ขวดน้ำพลาสติกมาบรรจุน้ำซ้ำๆ อาจจะมีความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อโรคที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้

จุลินทรีย์ที่พบโดยส่วนใหญ่ ก็คือ “โคลิฟอร์มแบคทีเรีย” ซึ่งเป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่เราพบได้ตามสิ่งสกปรกต่างๆ รวมไปถึงในอุจจาระของเราด้วย การที่ร่างกายได้รับสารตัวนี้เข้าไป จึงมีผลให้เกิดอาการท้องเสีย ท้องร่วงได้ ทางที่ดีก่อนที่จะนำขวดพลาสติกมาบรรจุน้ำซ้ำ จึงต้องล้างขวดให้สะอาดเสียก่อน เพื่อให้มั่นใจว่า ภาชนะที่คุณจะนำเข้าปากนี้ปลอดจากเชื้อโรคแล้วจริงๆ

อีกทั้งขวดน้ำดื่ม แต่ละแบรนด์ก็จะมีมาตรฐานในการผลิตที่แตกต่างกันออกไป ทำให้บอกเป็นมาตรฐานไม่ได้ว่าเราจะใช้ซ้ำได้กี่ครั้ง เพียงแต่ต้องสังเกตคุณภาพของขวดน้ำว่ายังสามารถใช้งานได้ต่อไปหรือไม่ โดยให้สังเกตดังนี้
1. สังเกตสี หากสีเปลี่ยนไปจากเดิม เริ่มมีความขุ่นมาควรทิ้งด่วน
2. สังเกตรอยขีดข่วน หากมีรอบขีดข่วนมากควรทิ้งได้แล้ว
3. รอยปริหรือรอยแตก ถ้ามีแม้แต่เล็กน้อยควรทิ้งทันที

ทั้งนี้ ก่อนน้ำมาใช้ซ้ำทุกครั้ง ต้องล้างขวดให้สะอาด และทิ้งไว้ให้แห้งก่อนนำมาใช้ใหม่เพื่อกำจัดสิ่งสกปรกและเชื้อจุลินทรีย์ออกไป แม้ว่าเราอาจจะรู้สึกเองว่า ใส่เพียงน้ำเปล่าก็ตาม เพราะเชื้อจุลินทรีย์สามารถอาศัยอยู่ได้ในน้ำทุกชนิด และตัวเล็กเกินกว่าที่คุณจะสังเกตเห็นมันได้

ข้อมูลอ้างอิง
https://www.thaijobsgov.com/jobs/18339 
http://www.chulazerowaste.chula.ac.th/reuse-bottle-vs-plastic-bottle/ 
http://www.liekr.com/post05267561003696

 

ที่มา: https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9650000022238 

วันที่ 07 มีนาคม 2565