“กรีนพีซ ประเทศไทย” จัด 10 อันดับจำนวนขยะที่เก็บได้จากกิจกรรมการเก็บขยะที่บริเวณหาดเจ้าหลาว จังหวัดจันทบุรี พบ “บรรจุภัณฑ์อาหาร” และ “ภาชนะใส่อาหาร” นำโด่ง วางแผนสำรวจอีกหลายพื้นที่ เพื่อรายงานผลสำรวจแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติกช่วงปลายปี พร้อมประกาศว่าเป็นของบริษัทผู้ผลิตใดบ้าง หวังผลักดันร่วมรับผิดชอบ
“กรีนพีซ ประเทศไทย” ดำเนินการสำรวจแบรนด์ขยะพลาสติก (Brand Audit) อย่างต่อเนื่อง โดย “หาดเจ้าหลาว” เป็นพื้นที่แรกของการทำกิจกรรมเก็บขยะและสำรวจแบรนด์ขยะพลาสติก (Brand Audit) ในปีนี้ ผลจำนวนขยะที่เก็บได้จากกิจกรรมการเก็บขยะที่บริเวณหาดเจ้าหลาว จังหวัดจันทบุรี ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565 โดยนิสิตจากมหาวิทยาลัยบูรพา (วิทยาเขตจันทบุรี) ร่วมเก็บขยะสำรวจแบรนด์ใช้เวลาเก็บขยะประมาณ 3 ชั่วโมง สามารถเก็บขยะได้ทั้งหมด 5,395 ชิ้น
โดยสามารถจัด 10 อันดับ ได้ดังนี้ 1.บรรจุภัณฑ์อาหาร 1,456 ชิ้น 2.ภาชนะใส่อาหาร 1,275 ชิ้น 3.โฟมใต้ฝา 560 ชิ้น 4.ฝาขวด 468 ชิ้น 5.ขวด 385 ชิ้น 6.หลอด 326 ชิ้น 7.ช้อน 164 ชิ้น 8.ถุงพลาสติก 160 ชิ้น 9.รองเท้า 147 ชิ้น 10.ฉลาก 142 ชิ้น โดยมีขยะอื่นๆ รวม 312 ชิ้น สามารถระบุแบรนด์ได้ 1,165 ชิ้น และไม่สามารถระบุแบรนด์ได้ 4,230 ชิ้น (จำพวกถุงพลาสติกใส่แกง เศษพลาสติก โฟม ยางวง หลอด เป็นต้น)
“กรีนพีซ ประเทศไทย” วางแผนจะทำกิจกรรมเก็บขยะสำรวจแบรนด์ในอีกหลายพื้นที่เพื่อรวบรวมข้อมูลเป็นรายงานผลการสำรวจแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติก และเผยแพร่ในช่วงปลายปี ในรายงานผลการสำรวจแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติกจะเปิดเผยว่ามีบริษัทผู้ผลิตบริษัทใดบ้างที่พบขยะบรรจุภัณฑ์ของพวกเขาตกค้างในสิ่งแวดล้อมมากที่สุด
เป้าหมายของกรีนพีซต้องการส่งเสียงให้บริษัทผู้ผลิตมีนโยบายลดใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในบรรจุภัณฑ์ของสินค้าที่บริษัทผลิตขึ้น พร้อมนำหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต หรือ Extended Producer Responsibility (EPR) มาใช้ในทุกวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์
EPR คือ หลักการที่ขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตไปยังช่วงต่าง ๆ ของวงจรชีวิตของบรรจุภัณฑ์ เป็นแนวทางให้ผู้ผลิตคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร ตั้งแต่การออกแบบ กระจายสินค้า การรับคืน การเก็บรวบรวม การใช้ซ้ำ การนำกลับมาใช้ใหม่ และการบำบัด
นอกจากนี้ กรีนพีซยังเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถร่วมทำการสำรวจแบรนด์ขยะพลาสติก (Brand Audit) ได้ในพื้นที่ของทุกคน และมาร่วมกันค้นหาว่านอกจากผู้บริโภคที่ต้องช่วยกันแก้ไขปัญหามลพิษขยะพลาสติก แล้วมีใครอีกที่ไม่เคยถูกกล่าวถึงหรือต้องมีส่วนร่วมเข้ามาแก้ไขปัญหานี้เช่นกัน บนแพลตฟอร์มออนไลน์ “สืบจากขยะ ใครกันที่ต้องรับผิดชอบ” สามารถสวมบทบาทนักสืบ โดยเริ่มสืบได้ที่ https://plasticfreefuture.greenpeace.or.th/
ที่มา: https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9650000022113