จุดจบถุงวิบวับ! GREEN ROAD ชวนฟื้นชีพขยะ “รับบริจาคถุงอาหารหมา-แมวจนกว่าจะหมดโลก”

ล่าสุด GREEN ROAD เชิญชวนเหล่าทาสหมาแมวเก็บถุงอาหารสัตว์เลี้ยงดีๆ แล้วเอามาทำบล็อกปูพื้นช่วยโลกกันดีกว่า

จากความสำเร็จของโครงการ ขยะแลกบุญ ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา GREEN ROAD ได้นำขยะพลาสติกไปสร้างประโยชน์มากมายโดยนำไปทำเป็น ถนนสีเขียว บล็อกปูพื้น โต๊ะเก้าอี้ และวัสดุก่อสร้าง เพื่อนำไปบริจาคในโรงเรียน วัด อุทยานแห่งชาติ และพื้นที่สาธารณะประโยชน์ทั่วประเทศ ตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาค

ผศ.ดร.เวชสวรรค์ หล้ากาศ หรือ ดร.เป้าอาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ผู้นำการขับเคลื่อนที่สร้างความสนใจให้กับโลกออนไลน์ เมื่อเขาออกมาเชิญชวนทุกคนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการบริจาคขยะพลาสติก เพื่อช่วยให้มันหมดไปจากโลก

นั่นรวมถึง “ถุงวิบวับ” ที่หลายๆ คนนึกไม่ออกว่า ขยะแบบนี้จะเอาไปรียูส รีไซเคิลอะไรได้ ดร.เป้า ขยายความสำหรับ ถุงวิบวับ ว่ามันคือถุงอลูมิเนียมฟอยล์ที่ใช้บรรจุสินค้าหลายประเภท เช่น กาแฟ, อาหาร, เครื่องดื่ม, เครื่องสำอาง, ยา เป็นต้น ซึ่งรวมถึงถุงอาหารหมาและแมว ถุงบรรจุเหล่านี้ทำจากฟิล์มพลาสติกจำพวก Nylon, PET, LLDPE , LLDPE และแผ่นอลูมิเนียมฟอยล์ (Al) เป็นต้น

ส่วนวัตถุประสงค์ในการใช้งาน ถุงวิบวับ บรรจุสินค้านั้น เพื่อป้องการความชื้น ไขมัน แสงแดด อากาศ หรือสารเคมี ทำให้สินค้าไม่เกิดความเสียหายโดยง่าย ยืดอายุของสินค้าให้นานขึ้น

สมัยก่อน ไม่ค่อยมีโครงการไหนรับขยะพลาสติกจำพวกนี้มารีไซเคิล เนื่องจากรีไซเคิลยากมาก ถึงทำได้ก็ไม่คุ้มค่าใช้จ่ายในการลงทุน แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีพัฒนามากขึ้น ทำให้โครงการขยะแลกบุญของ GREEN ROAD พร้อมรับบริจาคถุงวิบวับและถุงพลาสติกต่างๆ ได้แล้ว

โดยถุงพลาสติกใช้แล้วเหล่านี้ สามารถนำมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลายอย่างเช่น โต๊ะ เก้าอี้ บล็อกปูพื้น หรือแม้แต่นำไปสร้างเป็นผนัง พื้น หลังคาบ้านก็ยังได้

GREEN ROAD ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยฟื้นคืนชีพขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกถุงอาหารหมาที่มีอยู่มากมายทั่วประเทศซึ่งตอนนี้เราจะจัดเก็บ คัดแยก และนำมาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเพื่อนำมาผลิตเป็นบล็อกปูพื้นรูปหมาแมวแสนน่ารัก เพื่อนำไปบริจาคในพื้นที่สาธารณะประโยชน์ โรงเรียน วัด บวร และอุทยานแห่งชาติ ในโครงการขยะและบุญของเรา 10 ปีที่ผ่านมาแล้ว เรายังทำได้ไม่ถึง 10% ของที่ตั้งใจไว้ครับ

เขาอธิบายชัดๆ ถึงวิธีการนำถุงวิบวับกลับไปทำเป็นบล็อกหมา บล็อกแมว ว่า วิธีทำบล็อกเท้าหมาแมว (ทำยากที่สุด)

????นำถุงอาหารหมาแมวที่ได้รับบริจาคทั้งหมดมาบดย่อยเป็นชิ้นเล็ก ๆ ประมาณ 2.5 ซม. (ห้ามนำหมาแมวมาย่อยโดยเด็ดขาด)
????นำถุงที่ย่อยเสร็จแล้วเทลงในเครื่องหลอมขยะพลาสติก (Extruder Machine) ที่อุณหภูมิ 200 – 220 º C
????วัสดุ Upcycling จากถุงอาหารหมาแมวจะหลอมละลาย ออกจากเครื่องหลอม เทลงในแม่พิมพ์เหล็กรูปเท้าหมา และรูปแมว แล้วอัดให้แน่น ด้วยเครื่องอัดไฮโดรลิก
????ทิ้งไว้ให้เย็นตัว จึงแกะแม่พิมพ์เหล็ก ถ้าบล็อกติดพิมพ์อาจต้องใช้ความร้อนเป่าออก
????นำบล็อกหมาแมวออกมาไปใช้งาน
(บล็อกหมาแมว 1 บล็อกใช้ถุงขยะพลาสติก 10.25 กก. คิดเป็นถุงอาหารหมาแมวซองเล็ก 3,484 ใบ ต่อ 1 บล็อก)

ปัจจุบันขยะพลาสติก ที่ GREEN ROAD รับบริจาคได้นั้น ได้แก่
1. ประเภทถุงใส่ของทั้งหลาย ถุงหูหิ้วแบบ PE, PP, ถุงแกงร้อนเย็นที่ล้างสะอาด, ถุงนมโรงเรียน, ถุงพลาสติกที่ยืดได้, ถุงยา ถุงน้ำตาลทราย และถุงน้ำแข็ง
2. ประเภทพลาสติกห่อสิ่งของ ไม่ว่าจะเป็น บับเบิ้ลกันกระแทก, ฟิล์มหุ้มแพ็คขวดน้ำ, พลาสติกแพ็คกล่องนม, ถุงขนมปัง, ถุงซิปล็อกซอง และ ฟิล์มห่อสินค้า
3. ประเภทพลาสติกทั่วไป เช่น ซองไปรษณีย์พลาสติก, ถุงผักผลไม้, หลอดดูด ขวด PET และฝาขวด
4. ประเภทขยะพลาสติกจากฟู้ดเดลิเวอรี่ เช่น ช้อน ส้อม มีด กล่อง และแก้วพลาสติก
5. ประเภทถุงวิบวับ คือถุงอลูมิเนียมฟอยด์ เช่นถุงกาแฟ หรือ ถุงขนมกรุบกรอบ (เรียกถุงวิบวับตามลักษณะด้านในที่เป็นเงาสะท้อนแสง)

สำหรับจุดเริ่มต้นของโครงการขยะแลกบุญ ถนนสีเขียว มาจากเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ที่ Dr.Pow Green Road และ กลุ่มจิตอาสากรีนโรด ได้คัดแยกขยะพลาสติกภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และขอรับบริจาคขยะจากชุมชนใกล้เคียงอย่างจริงจัง เพื่อนำมาทำถนนภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งถือได้ว่าเป็นถนนเส้นแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (25/12/2555) ที่นำเอาขยะถุงพลาสติกมาทำเป็นถนนที่มีความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร ใช้ขยะถุงพลาสติกประมาณ 3,000 กิโลกรัม คิดเป็นขยะถุงพลาสติก 1,710,000 ใบ

โดยเทคโนโลยีที่ใช้ทำในตอนนั้นยังเป็นการผสมขยะถุงพลาสติกที่ตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ ลงไปในเครื่องปูผิวถนน เพื่อให้ถุงพลาสติกหลอมละลายรวมกับยางมะตอยที่มีอุณหภูมิสูงประมาณ 160 องศา ใช้ขยะถุงพลาสติก 1 กิโลกรัม ต่อ ถนน 1 ตารางเมตร ส่งผลทำให้ถนนสีเขียวมีความแข็งแรงกว่าถนนลาดยางแบบปกติประมาณ 20-30% และลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงประจำปีได้มากกว่า 10%

แต่ในปัจจุบัน Dr.Pow Green Road ได้พัฒนาความแข็งแรงให้สูงกว่ามาตราฐานทั่วไปถึง 3 เท่า (300%) และรูปแบบวิธีการทำงานที่ง่ายกว่าเดิม เพื่อเตรียมขยายผลไปสู่พื้นที่ที่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตในดีขึ้นกว่าเดิม

 

ที่มา: https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9650000021945 

วันที่ 07 มีนาคม 2565