องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) เผย เตือนว่า ภายในสิ้นศตวรรษนี้พื้นที่ทางทะเลที่มีขนาดใหญ่กว่ากรีนแลนด์มากกว่าสองเท่าครึ่งและขยะพลาสติกในทะเลเพิ่มขึ้นเป็นสี่เท่าภายในปี 2050 ระบบนิเวศเสี่ยงล่มสลาย
องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ได้เผยแพร่รายงานฉบับใหม่เกี่ยวกับผลกระทบที่น่าตกใจและขนาดของมลพิษขยะพลาสติกที่มีต่อระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตในทะเล รายงานดังกล่าวซึ่งเป็นรายงานการวิเคราะห์ที่ครอบคลุมที่สุดเท่าที่เคยมีมา จากการทบทวนงานวิจัยมากกว่า 2,590 ฉบับ เผยให้เห็นว่า มลพิษขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นนั้นมีแนวโน้มว่าจะส่งผลให้ระบบนิเวศในหลายพื้นที่ของโลกตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างมาก
ซึ่งถือเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อความพยายามในการปกป้องและเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ หากนานาประเทศยังไม่เริ่มดำเนินการเพื่อลดการผลิตและการใช้พลาสติกทั่วโลก
ซึ่งรายงานของ WWF เตือนว่า ภายในสิ้นศตวรรษนี้พื้นที่ทางทะเลที่มีขนาดใหญ่กว่ากรีนแลนด์มากกว่าสองเท่าครึ่งอาจมีความเข้มข้นของไมโครพลาสติกเกินเกณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อระบบนิเวศ เนื่องจากปริมาณไมโครพลาสติกในทะเลอาจเพิ่มขึ้น 50 เท่าเมื่อถึงเวลานั้น เมื่อพิจารณาจากการคาดการณ์ที่ว่าการผลิตพลาสติกจะเพิ่มขึ้นสองเท่าภายในปี 2040 ซึ่งจะส่งผลให้ขยะพลาสติกในทะเลเพิ่มขึ้นเป็นสี่เท่าภายในปี 2050
WWF ได้มอบหมายให้ศูนย์วิจัยทะเลและขั้วโลกเฮล์มโฮลตซ์ สถาบันอัลเฟรด วีเกอเนอร์ (Alfred Wegener Institute Helmholtz Center for Polar and Marine Research) จัดทำรายงานเรื่อง ‘ผลกระทบของมลพิษขยะพลาสติกในทะลที่มีต่อสายพันธุ์สัตว์ทะเล ความหลากหลายทางชีวภาพ และระบบนิเวศ’ รายงานระบุว่า ปัจจุบันหลายภูมิภาคทั่วโลกมีความเข้มข้นของไมโครพลาสติกสูงกว่าเกณฑ์ 1.21×105 ชิ้นต่อลูกบาศก์เมตร โดยเฉพาะในจุดที่มีค่ามลพิษสูง เช่น ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทะเลจีนตะวันออก และทะเลเหลือง รวมทั้งทะเลน้ำแข็งอาร์กติก ทั้งนี้ ไมโครพลาสติกที่เกินขีดอันตรายอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งรวมถึงจำนวนประชากรที่ลดลง
นาย ไฮเก เวสเปอร์ ผู้อำนวยการโครงการทางทะเลของ WWF เยอรมนี กล่าวว่า“หลักฐานทั้งหมดชี้ให้เห็นว่าการปนเปื้อนของพลาสติกในทะเล เมื่อเกิดขึ้นแล้วไม่สามารถเรียกคืนมาได้ เมื่อขยะพลาสติกกระจายไปในทะเลแล้วก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเก็บกู้กลับมา ขยะพลาสติกจะเสื่อมสภาพลงเรื่อยๆ ดังนั้นความเข้มข้นของไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติกจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายทศวรรษ การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุดีกว่าแก้ที่ปลายเหตุ กล่าวคือการพุ่งเป้าไปที่สาเหตุของมลพิษขยะพลาสติกนั้นมีประสิทธิภาพมากกว่าการทำความสะอาดในภายหลัง หากรัฐบาล อุตสาหกรรม และสังคมดำเนินการอย่างพร้อมเพรียงกันตั้งแต่บัดนี้ เราก็จะยังคงสามารถจำกัดวิกฤตพลาสติกได้”
เนื่องจากมลพิษขยะพลาสติกแพร่กระจายไปทั่ว สิ่งมีชีวิตเกือบทุกสายพันธุ์จึงหนีไม่พ้นที่จะต้องเผชิญวิกฤตนี้ มลพิษขยะพลาสติกส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลเกือบทุกชนิด ในขณะที่ผลผลิตของระบบนิเวศทางทะเลที่สำคัญที่สุดในโลก เช่น แนวปะการังและป่าชายเลน ตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงอย่างมาก
และหากเผชิญมลพิษขยะพลาสติกร่วมกับภัยคุกคามอื่นๆ เช่น การทำประมงมากเกินไป ภาวะโลกร้อน ปรากฏการณ์ยูโทรฟิเคชัน (Eutrophication) หรือการขนส่งทับซ้อนกับจุดที่เกิดมลพิษขยะพลาสติก ผลกระทบก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น สำหรับสายพันธุ์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อยู่แล้ว เช่น แมวน้ำหรือวาฬหัวทุยในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มลพิษขยะพลาสติกจะกลายเป็นปัจจัยเสริมที่ผลักดันให้ประชากรเหล่านี้สูญพันธุ์
ดร.เมลานี เบิร์กมันน์ นักชีววิทยาทางทะเลจากศูนย์วิจัยทะเลและขั้วโลกเฮล์มโฮลตซ์ สถาบันอัลเฟรด วีเกอเนอร์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า “การวิจัยทำหน้าที่เหมือนไฟฉายที่เราส่องเข้าไปในความมืดของมหาสมุทร มีเพียงเศษเสี้ยวของผลกระทบที่ได้รับการบันทึกและวิจัย แต่ผลกระทบจากขยะพลาสติกที่มีการบันทึกเป็นหลักฐานไว้นั้นมีความน่ากังวล และถือเป็นสัญญาณเตือนถึงวิกฤตที่จะใหญ่กว่านี้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากการผลิตพลาสติกที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันและที่คาดการณ์ไว้ในอนาคต”
ทางด้านนาย จีสเลน ลูเอลลิน รองหัวหน้าฝ่ายมหาสมุทรของ WWF กล่าวว่าธรรมชาติที่คงทนของพลาสติกยังหมายความว่า ห่วงโซ่อาหารทางทะเลจะดูดซึมไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติกอย่างต่อเนื่องและสะสมไปจนถึงระดับที่เป็นอันตราย หากเราไม่ลดการผลิตและการใช้พลาสติกเสียตั้งแต่ตอนนี้ ภัยคุกคามต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลที่กระจายไปทั่วและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นี้ สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบทั่วโลก ซึ่งประเทศต่างๆ สามารถพิสูจน์ได้ด้วยการลงมติรับรองสนธิสัญญาระดับโลกในการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 5 ซึ่งจะจัดขึ้นทางออนไลน์และในกรุงไนโรบี ประเทศเคนยา ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 2 มีนาคม 2022 ประชาคมโลกถูกกดดันมากขึ้นให้ทำสนธิสัญญาที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ผู้คนมากกว่า 2 ล้านคนทั่วโลกได้ร่วมลงชื่อกับ WWF ในขณะที่บริษัทระดับโลกกว่า 100 แห่ง องค์กรภาคประชาสังคมมากกว่า 700 องค์กร และประเทศต่างๆ 156 ประเทศ ซึ่งรวมกันมากกว่า ¾ ของประเทศสมาชิก UN ก็สนับสนุนการทำสนธิสัญญาเช่นกัน
“ไม่ต้องสงสัยเลยว่ามลพิษขยะพลาสติกที่ไม่ถูกตรวจสอบจะกลายเป็นปัจจัยสนับสนุนการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 6 (The Sixth Mass Extinction) ซึ่งจะนำไปสู่การล่มสลายของระบบนิเวศในวงกว้างและการรุกล้ำขีดจำกัดความปลอดภัยของโลก เรารู้วิธีหยุดมลพิษขยะพลาสติก และเราทราบดีว่าการไม่ทำอะไรสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศทางทะเลของเรา ทางออกของวิกฤตพลาสติกคือ ประเทศต่างๆ จะต้องเห็นชอบในสนธิสัญญาที่มีผลผูกพันทั่วโลก ซึ่งครอบคลุมทุกระยะของวงจรชีวิตพลาสติก และทำให้เราอยู่ในเส้นทางที่จะยุติมลพิษขยะพลาสติกในทะเลภายในปี 2030”