นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เร่งผลักดันและขับเคลื่อนมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ตามแผนปี พ.ศ. 2561-2570 (แผน 10 ปี)
ประกอบด้วยมาตรการเร่งด่วนและมาตรการสนับสนุน เพื่อขจัดอุปสรรคการลงทุนและสร้างปัจจัยสนับสนุน มาตรการเร่งรัดการลงทุนภายในประเทศ มาตรการกระตุ้นความต้องการในการซื้อสินค้าและบริการ และมาตรการสร้างเครือข่ายในรูปแบบของศูนย์กลางความเป็นเลิศด้านชีวภาพ (Center of Bio Excellence: CoBE) รวมทั้งการดำเนินงานขยายผลมาตรการฯ เชิงพื้นที่ตามนโยบายรัฐบาล เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Bio Hub) โดยได้เริ่มโครงการนำร่องในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก Eastern Economic Corridor : EEC (ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา) เขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง (นครสวรรค์ กำแพงเพชร) เขตพื้นที่ภาคะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง (ขอนแก่น) เพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) โดยการส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐทำให้เอกชนสนใจเข้ามาลงทุนในเขตพื้นที่ดังกล่าว คาดว่าจะมีมูลค่าการลงทุนรวมแสนล้านบาท
นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรอ. ดำเนินงานขยายผลมาตรการฯ เชิงพื้นที่ตามนโยบายรัฐบาลเพิ่มเติมจากพื้นที่นำร่องในระยะที่ 1 โดยเลือกพื้นที่มีศักยภาพและประสานกรมโยธาธิการและผังเมือง ในการกำหนดที่ดินประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้า (พื้นที่สีม่วง) ในเขตพื้นที่จังหวัดลพบุรี เพื่อสนับสนุนและผลักดันนโยบายส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมในรูปแบบเขตประกอบการอุตสาหกรรม หรือเขตส่งเสริมการลงทุน บนพื้นที่กว่า 4,800 ไร่ โดยจัดสรรพื้นที่สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมที่เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นสูงด้านการแปรรูปผลผลิตการเกษตรและพลังงานทดแทนภายใต้ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ตามนโยบายของรัฐบาลที่จะสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยให้โรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องและต่อเนื่องเข้ามาอยู่รวมกันอย่างเป็นระบบและมีระเบียบ ตลอดจนมีการบริหารจัดการที่เกื้อกูลกัน ประกอบด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก สาธารณูปโภค และสาธารณูปการที่ครบครัน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการยกร่างนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี คาดว่าจะได้รับความเห็นชอบภายในเดือนมีนาคม 2565 โดยโครงการแรกที่ภาคเอกชนเสนอแผนการลงทุน คือ “ลพบุรี ไบโอ คอมเพลกซ์” พื้นที่ 2,717 ไร่ มูลค่าการลงทุนกว่า 32,000 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่อำเภอบ้านหมี่ เป็นการร่วมมือกับภาคการเกษตรในพื้นที่ โดยพื้นที่อุตสาหกรรมที่กำหนดดังกล่าวสามารถประกอบกิจการที่สนับสนุนหรือเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมด้านการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพตามนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมเท่านั้น
“สำหรับบัญชีประเภทหรือชนิดของโรงงานที่เกี่ยวข้องและต่อเนื่องกับอุตสาหกรรมชีวภาพ กระทรวงอุตสาหกรรมจะประกาศต่อไปในอนาคต ได้แก่ พลาสติกชีวภาพ (Bio Plastic) เคมีชีวภาพ (Bio Chemicals) และชีวเภสัชภัณฑ์ (Bio Pharmaceuticals) เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมชีวภาพของกระทรวงอุตสาหกรรม มุ่งสู่การเป็น Bio Hub ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในปี พ.ศ. 2570” อธิบดีกรมโรงงานฯ กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา: https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9650000019672