อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป อวดรายได้ไตรมาส 3 ปีบัญชี 64/65 (ต.ค.-ธ.ค.64) มีรายได้จากการขาย 2,944.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้จากการขาย 2,593.1 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 13.6% มีอัตรากำไรขั้นต้นที่ 31.4% และมีกำไรสุทธิรายไตรมาสที่ 402.0 ล้านบาท
รศ.ดร.เฉลียว วิทูรปกรณ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โพลีเมอร์และพลาสติกแปรรูปชั้นนำของโลก เปิดเผยว่า การแพร่ระบาด COVID-19 ยังคงเป็นปัญหาต่อเนื่องของโลก การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในแต่ละประเทศยังคงมีความแตกต่างกัน ในสหรัฐอเมริกาการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทำได้รวดเร็ว สำหรับไทยเมื่อช่วงปลายปี 2564 รัฐบาลเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด COVID-19 เพื่อช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ปัญหาการขาดแคลนชิปในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ (Semiconductor Shortage) การปรับขึ้นราคาพลังงาน และอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นนั้นยังคงเป็นปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ
สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทในไตรมาสที่ 3 ปีบัญชี 64/65 (ต.ค.-ธ.ค.64) บริษัทมีรายได้จากการขาย 2,944.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้จากการขาย 2,593.1 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 13.6% มีอัตรากำไรขั้นต้นที่ 31.4% และมีกำไรสุทธิรายไตรมาสที่ 402.0 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 433.4 ล้านบาท หรือลดลง 7.2% ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการดำเนินงานของ 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่
ธุรกิจฉนวนกันความร้อน/เย็น ภายใต้แบรนด์ Aeroflex มีรายได้จากการขาย 773.7 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 19.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับยอดขายในประเทศทยอยฟื้นตัวตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด COVID-19 แม้ว่าการลงทุนภาคเอกชนยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน ขณะที่ยอดขายจากต่างประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น ยุโรป และ สหรัฐอเมริกาปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา ได้รับประโยชน์จากการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในช่วงปลายปีที่ผ่านมา
ธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์และตกแต่งยานยนต์ ภายใต้แบรนด์ Aeroklas และ TJM มีรายได้จากการขาย 1,417.5 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 9.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามคำสั่งซื้อของกลุ่มผู้ผลิตยานยนต์ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเติบโตตามอุปสงค์ของผู้บริโภคที่ต้องการใช้ยานยนต์ส่วนตัวแทนระบบขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถกระบะซึ่งใช้งานอเนกประสงค์ อย่างไรก็ตาม ยอดขายของกลุ่มบริษัท แอร์โรคลาส ยังคงได้รับผลกระทบจากความล่าช้าจากกระบวนการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ
สำหรับธุรกิจในออสเตรเลีย ยอดขายชิ้นส่วนอุปกรณ์ตกแต่งยานยนต์ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เริ่มเห็นการชะลอตัวจากไตรมาสที่ 2 ปีบัญชี 64/65 (ก.ค.-ก.ย.64) เนื่องจากผลกระทบของมาตรการปิดเมืองในบางพื้นที่เพื่อลดการแพร่ระบาด COVID-19 และความล่าช้าจากการส่งมอบรถยนต์ใหม่เนื่องจากชิปขาดแคลน (Semiconductor Shortage)
ธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติก ภายใต้แบรนด์ EPP มีรายได้จากการขาย 753.3 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 15.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรจุภัณฑ์พลาสติกประเภทกล่องใส่อาหารซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากความต้องการของผู้บริโภคในยุควิถีใหม่ (New Normal) ที่นิยมสั่งอาหารแบบจัดส่งถึงที่ (Delivery) หรือซื้ออาหารกลับไปรับประทานที่บ้านมากขึ้น
บริษัทมีต้นทุนขายสินค้าเพิ่มขึ้น 16.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ เป็นผลจากราคาวัตถุดิบกลุ่มปิโตรเคมีบางประเภทปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทได้จัดหาวัตถุดิบจากแหล่งผลิตในหลายประเทศเพื่อให้ต้นทุนเฉลี่ยจากราคาวัตถุดิบมีราคาเหมาะสม สำหรับค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มขึ้น 30.3% มาจากค่าขนส่งของกลุ่มแอโรเฟลกซ์ และกลุ่มแอร์โรคลาส รวมถึงการเพิ่มร้านค้าสาขา TJM และการเพิ่มบุคลากรในออสเตรเลีย เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจ
นอกจากนี้ บริษัทได้รับส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและการร่วมค้าที่ 83.7 ล้านบาท จากการฟื้นตัวตามกลุ่มอุตสาหกรรมฉนวนกันความร้อน/เย็น และกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์
รศ.ดร.เฉลียว กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผลการดำเนินงานงวด 9 เดือน ปีบัญชี 64/65 (เม.ย.-ธ.ค.64) บริษัทมีรายได้จากการขาย 8,858.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 1,264.3 ล้านบาท สูงขึ้น 55% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคาดว่าผลการดำเนินงานในช่วงที่เหลือของปีบัญชี 64/65 (ม.ค.-มี.ค.65) มีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นเกินกว่าเป้าหมายยอดขายที่ตั้งไว้ที่ 11,000 ล้านบาท จากอุปสงค์ของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น
ที่มา: https://mgronline.com/stockmarket/detail/9650000014955