อียู เร่งเวลาแบนพลาสติกใช้ครั้งเดียว! หลังฝรั่งเศส ห้ามใช้ห่อหุ้มอาหารผักและผลไม้

หลังจากทางการฝรั่งเศสบังคับใช้กฏหมาย “ห้ามใช้พลาสติกห่อหุ้มอาหารประเภทผักและผลไม้” ตั้งแต่วันเปิดศักราชใหม่ (1 ม.ค.2022) พร้อมประกาศเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งทั้งหมดภายในปี 2040 ทำให้อีกหลายประเทศในยุโรปตื่นตัวที่จะเลิกใช้เร็วขึ้น

เช่น สเปน เริ่มร่างกฎหมายห้ามใช้พลาสติกห่อหุ้มอาหารประเภทผักและผลไม้ที่มีน้ำหนักต่ำกว่า 1.5 กิโลกรัม ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้ในต้นปีหน้า (2023)

สหราชอาณาจักร ชาวอังกฤษเกือบสามในสี่ ประสบ “ความวิตกกังวล หงุดหงิด หรือสิ้นหวัง” กับปริมาณพลาสติกที่มากับการช้อปปิ้งของพวกเขา และร้อยละ 59 คิดว่าซูเปอร์มาร์เก็ตและแบรนด์ต่างๆ ไม่เพียงพอต่อการนำเสนอผลิตภัณฑ์แบบรีฟิล นำกลับมาใช้ใหม่ หรือปราศจากบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นที่ได้รับมอบหมายจาก Friends of the Earth และ City to Sea เมื่อมิถุนายน 2021

Emmanuel Macron กล่าวว่าการห้ามใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกหุ้มห่อผักและผลไม้ ถือว่าเป็น “การปฏิวัติที่แท้จริง” เขากล่าวว่าฝรั่งเศสกำลังเป็นผู้นำระดับโลกด้วยกฎหมายบังคับใช้ซึ่งจะทำให้ประชาชนค่อยๆ เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งทั้งหมด ภายในปี 2040 ตามที่ทางการฝรั่งเศสวางแผน

นับตั้งแต่วันขึ้นปีใหม่ ฝรั่งเศสห้ามซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้าอื่นๆ ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกหุ้มห่อผักและผลไม้รวม 30 ชนิด เช่น แตงกว าพริก คอร์เกตต์ มะกอก กระเทียมหอม รวมทั้งกล้วย ลูกแพร์ มะนาว ส้ม และกีวี เป็นต้น

อย่างไรก็ตามบรรจุภัณฑ์ที่มีน้ำหนักเกิน 1.5 กก. จะได้รับการยกเว้น เช่นเดียวกับผลไม้สับ หรือแปรรูป บางพันธุ์ รวมทั้งมะเขือเทศเชอร์รี่ หรือผลไม้เนื้ออ่อน เช่น ราสเบอร์รี่และบลูเบอร์รี่ จะได้รับการผ่อนปรนให้นานขึ้นสำหรับผู้ผลิตในการหาทางเลือกอื่นแทนพลาสติก แต่บรรจุภัณฑ์พลาสติกจะค่อยๆ เลิกใช้สำหรับผักและผลไม้ทั้งหมดภายในปี 2026

ด้วยยอดขายผักและผลไม้ประมาณ 37% ที่ห่อด้วยบรรจุภัณฑ์พลาสติกในฝรั่งเศสในปี 2021 รัฐบาลเชื่อว่าคำสั่งห้ามดังกล่าวจะลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งมากกว่า 1 พันล้านรายการต่อปี กระทรวงสิ่งแวดล้อม ระบุว่าจะต้องมีการจำกัด “ปริมาณการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งจำนวนมากในชีวิตประจำวันของเรา”

ถึงแม้พลาสติกห่อหุ้มอาหาร (Plastic Wrap) ซึ่งผลิตขึ้นจาก Polyethylene (PE), Polyvinylchloride (PVC), Polyvinyllidene Chloride (PVDC) มีข้อดี คือช่วยเก็บกักไอน้ำทำให้ผักและผลไม้ดูสดใหม่ แต่ก็มีข้อเสียตรงที่การนำไปใช้เกินความจำเป็น ทำให้สุดท้ายกลายเป็นขยะที่รีไซเคิลไม่ได้ และย่อยสลายก็ยาก

การที่ออกกฎหมายเอาจริงเอาจังแบบฝรั่งเศส หลายประเทศมองว่าน่าจะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกที่ไม่จำเป็นลงไปได้มาก ซึ่งกฎหมายนี้ก็มีการยกเว้นให้กับผักผลไม้แปรรูป หรือแบบที่หั่นชิ้นแล้ว เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นอันดับแรกก่อน

ก่อนทางการฝรั่งเศส สั่งแบนพลาสติกหุ้มห่อผักและผลไม้ ได้มีการสำรวจของ Ifop โดยกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ประเทศฝรั่งเศส ในปี 2019 โดยพบว่าผู้คนร้อยละ 85 เห็นด้วยกับการห้ามใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งและบรรจุภัณฑ์ ผู้คนมากกว่า 2 ล้านคนได้ลงนามในคำร้อง WWF เรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกหยุดวิกฤตมลพิษพลาสติก มีการโพสต์ที่แสดงความไม่พอใจบนโซเชียลมีเดียอย่างมาก นักช็อปจำนวนมากเรียกพลาสติกที่ใช้หีบห่อว่า “บรรจุภัณฑ์ที่ไร้สาระ” เช่น มะพร้าวในพลาสติกหลายชั้น หรือกล้วยเพียงลูกเดียวในห่อพลาสติก

WWF ประเทศฝรั่งเศส ได้รณรงค์เกี่ยวกับผลกระทบของพลาสติกต่อความหลากหลายทางชีวภาพและชีวิตทางทะเลในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ระบุว่า ขอต้อนรับกฎหมาย นับว่าเป็น “ก้าวที่ดีในทิศทางที่ถูกต้อง” ขณะเดียวกันกล่าวถึงรัฐบาลฝรั่งเศส ว่ามีงานเข้ามากขึ้นเพื่อยุติมลพิษพลาสติกซึ่งรวมถึงปริมาณไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อม

ข้อมูลอ้างอิง https://www.irishtimes.com/news/environment/french-plastic-packaging-ban-for-fruit-and-veg-begins-1.4767328

 

ที่มา: https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9650000008936 

วันที่ 31 มกราคม 2565