บรรจุภัณฑ์อาหารจากเยื่อพืชธรรมชาติซึ่งย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยได้ภายใน 45 วัน ภายใต้แบรนด์ Gracz ที่เขาก่อตั้ง ถูกใช้ใน 33 ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว รวมทั้งหมู่เกาะสำคัญที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก เช่นเดียวกับสายการบินชั้นนำอย่าง Air France, Lufthansa หรือแม้แต่ Universal Studios ทุกแห่งล้วนใช้บรรจุภัณฑ์ของเขาทั้งสิ้น มิพักต้องเอ่ยถึงมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลอีกหลายแห่งในไทย การร่วมรณรงค์ ผลักดันแนวคิดบรรจุภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างบรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ ไม่ว่าผลิตผลทางการเกษตรต่างๆ ที่ถูกทิ้ง เขาล้วนนำมาแปรรูปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าชานอ้อย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น เขายังพัฒนาต่อเนื่องไปสู่การแปรรูปเยื่อไผ่ เยื่อปาล์ม ผักตบชวา ฟางข้าว ซังข้าวโพดและอยู่ระหว่างการศึกษาแปรรูปใยสับปะรดและใยกัญชง
จากแพทย์หนุ่มอนาคตไกลที่ถูกเสนอให้ดำรงตำแหน่งเป็นถึงผู้อำนวยการ ทว่า เขากลับทิ้งโอกาสนั้นเพื่อเดินตามความฝันและวิสัยทัศน์ที่ ‘มาก่อนกาล’ คือการทำธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้คน ลัดฟ้าไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา เพื่อกลับมาสร้างธุรกิจที่ ณ ปัจจุบัน มีมูลค่าแตะพันล้านบาท และคาดว่าจะเลยหลักพันล้านในปี 2022 ปีเดียวกันกับที่เขาตั้งใจจะนำพาอาณาจักรเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์
‘ผู้จัดการออนไลน์’ สัมภาษณ์พิเศษ ‘นายแพทย์ วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารจากเยื่อพืชธรรมชาติ ภายใต้แบรนด์ Gracz ผู้ซึ่งได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 25 แพทย์ต้นแบบจากแพทยสภาเมื่อไม่นานปีที่ผ่านมา
เขาคือผู้ก่อตั้ง ผู้กุมบังเหียนคนสำคัญและเป็นผู้นำพา Gracz สยายปีกไปทั่วโลกและครอบคลุมทั่วประเทศ
นับแต่ผู้นำประเทศ มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล ร้านอาหารเชนยักษ์ใหญ่ หรือแม้แต่ถนนคนเดิน, ไนท์ มาร์เก็ต ภาคีเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อม ร้านค้าในวัด แผงลอย หรือร้านอาหารในระดับชุมชน กล่าวได้ว่า นับแต่บนฟากฟ้า ทั่วโลก หมู่เกาะ หรือตลาดร้านรวง ผู้คนมากมายนับล้านล้วนเคยหยิบใช้บรรจุภัณฑ์ของเขาทั้งสิ้น
ในโอกาสที่ได้สนทนากัน เขาบอกเล่าอย่างน่าสนใจ ถึงวิสัยทัศน์ในการทำธุรกิจ บอกกล่าวอย่างไม่ปิดบังถึงอุปสรรคที่เผชิญ ความท้าทายที่ฟันฝ่า การผสานความร่วมมือกับหลายฝ่ายที่มีจุดยืนร่วมกัน การพลิกวิกฤติเป็นโอกาส การนำพาธุรกิจข้ามฝ่าโควิด-19 ด้วยมุมมองที่แหลมคม
ทั้งหลายทั้งปวงนับจากนี้ คือคำบอกเล่าของ นายแพทย์ วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์ ผู้ให้กำเนิดแบรนด์ Gracz ผู้ผลักดันแนวคิดบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ รักสุขภาพและรักษ์โลก ตลอดระยะเวลายาวนานนับ 15 ปีที่ผ่านมา
สุขภาพเรา สุขภาพโลก
บทสนทนาเริ่มต้นด้วยการถามถึงประวัติโดยคร่าว ทราบว่านพ.วีรฉัตรเป็นคนเชียงราย จบการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากนั้นก็ได้ไปเป็นแพทย์ที่ อ.แม่จัน จ.เชียงราย แล้วก็ไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา อะไรคือ ‘จุดเปลี่ยน’ ที่ทำให้เปลี่ยนจากการประกอบวิชาชีพแพทย์ มาเป็นนักธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อม
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) ตอบพร้อมเสียงหัวเราะอย่างถ่อมตนว่า จริงๆ แล้ว ไม่ได้ตั้งใจไปเรียนหมอตั้งแต่แรก แต่อาจด้วยค่านิยมในช่วงเวลานั้น ว่าเมื่อเรียนดีก็ต้องเรียนหมอ แต่ยอมรับว่าเรียนหมอก็สนุก ทำงานก็สนุกเพียงแต่ว่าโดยส่วนตัวแล้วอาจจะมองในอีกมุมว่า เราอาจจะทำอีกแบบได้ดีกว่าก็ได้ ซึ่งก่อนจะลาออกจากหมอ เนื่องจากในหน่วยงานจะให้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ
“เราก็รู้สึกว่า ‘เอ๊ะ ถ้าเป็น ผอ. ก็คงจะต้องอยู่ในอาชีพนี้ไปตลอด ก็เลยตัดสินใจไปเรียนต่อ MHA MBA ที่แอตแลนตาและจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา เมื่อกลับมาเมืองไทยก็มาทำธุรกิจครับ”
นพ.วีรฉัตรบอกเล่า และกล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อกลับมาถึงเมืองไทยก็ค่อยๆ เริ่มต้นทำธุรกิจเอง โดยเริ่มจากการนำเข้ายารักษาโรคและส่งออกเครื่องมือแพทย์
“ทำไปเรื่อยๆ สักพักเราก็ไปเห็นโปรดักส์ที่เขาทำรีเสิร์ชอยู่ที่เยอรมัน เราเห็นว่าน่าสนใจ เพราะเรามองว่าดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมด้วย นับเป็นจุดเริ่มต้นของเกรซ เพราะจุดเริ่มต้นโครงสร้างของเกรซ มาจากหลักคิดที่เรียกว่า ‘สุขภาพเรา สุขภาพโลก’ ด้วย base ของเราที่เป็นหมออยู่แล้ว เราเห็นว่าสิ่งนี้ตอบโจทย์ น่าสนใจ
เกรซเกิดจากการที่มองเห็นว่า ปัญหาใหญ่ของโลกตอนนี้เกิดจากโฟมและพลาสติก ซึ่งยอมรับว่าเรามองเห็นปัญหานี้ตั้งแต่ตอนที่เป็นนักศึกษาแพทย์แล้ว เพราะในห้องเรียน อาจารย์ก็สอนว่าโฟมและพลาสติกมันมีสารพิษนะ มันทำให้เราเป็นมะเร็งนะ มันทำให้เราเป็นโรคต่างๆ เยอะแยะเลย Toxic จากโฟมและพลาสติก เมื่อเรานำไปใส่อาหารร้อนๆ ก็มีสารพิษเข้ามาในอาหารนะ แต่แล้วเมื่อเราออกจากห้องเรียนมา ไปโรงอาหาร ที่โรงอาหารก็ใช้โฟมและพลาสติกนั่นแหละ” นพ.ผู้ให้กำเนิดผลิตภัณฑ์ภาชีวะหัวเราะให้กับเรื่องเล่าปนตลกร้าย ก่อนจะอธิบายเพิ่มเติมว่า จิตสำนึกรักษ์และใส่ใจโลกเริ่มก่อตัวขึ้นนับตั้งแต่ครานั้น และต่อเนื่องมายาวนานพอสมควร กระทั่งเขาไปเจอรีเสิร์ชหรืองานวิจัยของเยอรมนี ซึ่ง Professor หรือศาสตราจารย์ผู้คิดค้นงานวิจัยนี้ใช้ ‘เยื่อสน’ เป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ นพ.วีรฉัตรจึงนำเอางานวิจัยชิ้นนี้มาต่อยอด
“นั่นคือเมื่อสักประมาณสิบกว่าปีก่อนได้แล้วครับ ผู้คิดค้นเขาเป็น Professor ที่เยอรมนี อายุ 60 กว่าแล้วล่ะ ท่านก็เริ่มจากการเอาเยื่อสนจากที่นู่นมาทำ ตอนแรก เราก็เห็นว่าโปรดักส์มันดี เพราะว่าตอบโจทย์ ‘สุขภาพเรา สุขภาพโลก’ อย่างที่ผมเรียนให้ทราบตั้งแต่ต้น” นพ.วีรฉัตรระบุ ก่อนขยายความเพิ่มเติม
“ประการแรก คำว่า ‘สุขภาพเรา’ หมายถึง เมื่อใส่อาหารในบรรจุภัณฑ์นี้แล้ว ไม่ต้องเป็นมะเร็ง ขณะที่มะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของผู้คนบนโลกในตอนนี้ รวมทั้งของประเทศไทยด้วย
ประการที่สองคือ สิ่งแวดล้อมมีปัญหา 1 ใน 5 ของมหาสมุทรของโลกตอนนี้ เป็นโฟมและพลาสติกทั้งสิ้น ซึ่งถ้าเรายังทิ้งขยะกันแบบนี้ ยังใช้โฟมและพลาสติกกันแบบนี้ อีก 20 ปี โฟมและพลาสติกในทะเล จะมีปริมาณมากกว่าพื้นดินที่เรามีแล้วนะครับ เกรซจึงเกิดจากความคิดที่ว่า เมื่อเราได้งานวิจัยมาแล้ว เราคิดว่าโฟมและพลาสติกเป็นปัญหาจริงๆ เป็นปัญหาสองอย่างดังที่กล่าวไป คือ ปัญหาที่เกืดกับสุขภาพเราเองทำให้เราเป็นมะเร็ง เป็นโรคต่างๆ เยอะเลย และประการที่สอง สร้างปัญหาขยะมหาศาลเลย โดยขยะพวกนี้ เราใช้ เพียงแค่ 5 นาที แต่มันต้องใช้เวลาอีกยาวนานถึง 450 ปี จึงจะย่อยสลายครับ
เพราะฉะนั้น ก็จะมีปัญหาต่อเนื่องไปทุกวัน รวมโลกทั้งใบนี้ เราใช้พลาสติกและโฟมเฉลี่ย 1.8 ชิ้นต่อวันต่อคน ขณะที่โลกเรามีประชากร 7,000 ล้านคนใช่ไหมครับ ดังนั้น วันหนึ่ง เราทิ้งขยะโฟมและพลาสติก วันละประมาณ หมื่นล้านชิ้น นี่คือปริมาณมันมหาศาลต่อวันนะครับ และเราใช้แค่นาทีเดียวแล้วทิ้ง แต่มันใช้เวลาในการย่อยสลายนานถึง 450 ปี” นพ.วีรฉัตรระบุและกล่าวว่า
ขยะจากโฟมและพลาสติกจึงสร้างปัญหามหาศาลให้แก่โลกใบนี้ ไม่ใช่แค่กับคน แต่รวมถึงสัตว์ต่างๆ ด้วย ปลา สัตว์ต่างๆ ในน้ำ ที่เกิดปัญหากับไมโครพลาสติก ทำให้เกิดการเปลี่ยนโครงสร้างของโลก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ
อาทิ โคโรน่าไวรัส หรือโควิด-19 ก็เป็นแรงสะท้อนอย่างหนึ่ง ของการที่โลกเปลี่ยนโครสร้างไป แล้วไวรัสมันก็ผ่าเหล่าออกมา โคโรน่าไวรัส 19 ซึ่งเราไม่เคยเจอมาก่อนก็เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น แรงสะท้อนเหล่านี้จึงแรงมาก ตอนแรกที่ผมเริ่มทำเกรซ ตัดสินใจทำเพราะคิดถึงเรื่องสุขภาพเป็นหลัก เพราะว่าเราไม่อยากให้คนเป็นมะเร็งมากไปกว่านี้อีกแล้ว ทั้งกล่าวว่าหมอส่วนใหญ่ในโลก จะยึดถือจรรยาบรรณว่า ทำดีที่สุดสำหรับคนไข้ คือเมื่อคนไข้มาหา ก็รักษาอย่างดีที่สุด ทำให้ดีที่สุด ช่วยให้ดีที่สุด เกรซจึงเริ่มต้นด้วยแนวคิดนั้น ทำเพื่อคนส่วนใหญ่ ทำเพื่อป้องกัน แทนที่จะไปรักษา เราก็ทำเพื่อป้องกัน
จากต้นแบบ ‘เยื่อสน’ สู่ ‘ชานอ้อย’
นพ.วีรฉัตรกล่าวว่า ดังนั้น กระบวนการที่เกรซทำในช่วงแรกๆ จึงเริ่มจากการที่ตระหนักเห็นว่าสิ่งที่ทำนั้น ให้ความสำคัญกับสุขภาพ โดยในช่วงแรกๆ ยอมรับว่ายากพอสมควร เพราะต้นแบบของงานวิจัยทำมาจากเยื่อสน จากยุโรป
“เราก็มาพัฒนาต่อว่าควรจะใช้เยื่ออะไรในบ้านเราที่เหมาะ เราก็เริ่มจากชานอ้อย จริงๆ แล้วลองเริ่มจากหลายเยื่อมาก แต่ที่เลือกชานอ้อยเพราะหาง่ายในประเทศ ประกอบกับตัวเยื่อชานอ้อยมีคุณสมบัติที่ดีพอ อีกทั้งประเทศไทยยังเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลเป็นอันดับสองของโลก สมัยก่อน เมื่อเรารีดน้ำตาลจากอ้อยเสร็จ ชานอ้อยเขาก็ทิ้ง แล้วเน่าเหม็นไปทั่วเลย ไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อ เราก็นำเอาตรงนี้มาพัฒนาเป็นไฟเบอร์ พัฒนาต่อ เพื่อให้ชานอ้อยนำมาใช้ทำบรรจุภัณฑ์ได้ ในช่วงแรกๆ เราก็ใช้ชานอ้อยอย่างเดียว แต่ทุกวันนี้เราใช้หลายอย่างนะครับ”
ต่อยอดบรรจุภัณฑ์ จาก ‘เมืองแห่งการเกษตร’
นพ.วีรฉัตรกล่าวว่า หนึ่งในหลักคิดสำคัญคือ บ้านเราเป็นบ้านแห่งการเกษตร
นั่นหมายถึงเมืองไทยมีสิ่งเหลือใช้จากการเกษตรเยอะมาก อาทิ ข้าว เราใช้เพียงเมล็ดข้าว แล้วทิ้งต้นข้าว หรือข้าวโพด เราก็ใช้เพียงแค่ฝักข้าวโพด แล้วทิ้งต้นข้าวโพด บ้านเราเป็นแบบนี้เยอะ เมื่อจัดการไม่ได้ ก็ใช้วิธีเผา เช่น มีการเผาซังข้าวโพดทุกปี
“เพราะฉะนั้น เราก็มองว่า ของเหลือใช้จากการเกษตร ถ้าเราใส่ Innovation ใส่นวัตกรรมดีๆ เข้าไป ก็จะหยิบมาสร้างต่อได้ แล้วสร้างกลไกมูลค่าเพิ่มได้อีกเยอะเลย การที่เราจึงหยิบชานอ้อยมาใช้ก็นับเป็นการเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้ชานอ้อย ถึง 200 เท่า เพราะหยิบมาจากราคาถูกๆ หรือแทบไม่มีราคาเลย เราสามารถเพิ่มมูลค่าได้ถึง 200 เท่า” นพ.วีรฉัตรระบุถึงมูลค่าที่สร้างขึ้นจากผลิตผลด้านการเกษตรที่ถูกทิ้งและถูกมองว่าไม่มีประโยชน์ ทว่า เกรซกลับสามารถนำมาสร้างมูลค่าได้อย่างน่าสนใจ
เมื่อแรกสร้างเกรซ-บุกตลาดต่างประเทศ
นพ.วีรฉัตรเล่าว่า เมื่อจัดสินใจนำชานอ้อยมาใช้ จากนั้นก็เริ่มสร้างโรงงาน เข้าสู่กระบวนการสำคัญในการสร้างบรรจุภัณฑ์ที่สืบเนื่องยาวนานมามากกว่าทศวรรษ
“ช่วงแรกๆ ที่สร้างโรงงาน ต้องบอกว่าเป็นโรงงานแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย engineer ก็หาไม่ได้ คนทำงานหาไม่ได้ คนที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้หาไม่ได้ เราก็ต้องให้ Professor จากที่เยอรมนีมาให้ความรู้
มาเทรนเรา ทำในปีแรกๆ เหนื่อยมากครับ เนื่องจากทำไม่เป็น แล้วก็ไม่มีใครทำมาก่อน ทำ 100 เสียไป 30 ต้นทุนก็สูงมากๆ ช่วงนั้น ต้นทุนสูง ราคาขายก็แพง ขณะที่โฟมกับพลาสติกราคาขายอยู่ที่ 1 บาทถึง 2 บาทกว่าๆ ของเราขาย5 บาท การขาย 5 บาทจึงทำได้ยาก แล้วอย่างที่คุณพูดเลยว่า เรามาก่อนกาล เราพูดว่าเราจะ No Foam No Plastic ก็ไม่มีใครเชื่อหรอกว่าจะทำได้ เพราะใครๆ ก็ใช้โฟมกันทั้งนั้น เราจึงตัดสินใจไปขายต่างประเทศก่อน
ในช่วงที่เราเปิดบริษัทช่วงแรกๆ เราขายต่างประเทศถึง 95% ขายในประเทศ แค่ 5% เท่านั้นเองครับ เป็นกระบวนการแก้เกมของเรา เพราะอเมริกา ยุโรป หรือญี่ปุ่น เขามี Mindset เรื่องนี้แล้ว เขามองเห็นปัญหาเรื่องสุขภาพว่าไม่ควรใช้โฟม เขาเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว และเขาเห็นว่าสิ่งเหล่านี้แก้ปัญหาที่ดีกับเขาทั้งในเรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพได้ เขาบอกว่า ถ้าโฟมและพลาสติกเข้ามาบ้านเขาต้องเสียภาษีนะ แต่อย่างของเรา นำเข้าไปไม่ต้องเสียภาษี แล้วทำให้ต้นทุนของเราสู้กับราคาที่นั่นได้ แล้วคนของเขายอมรับว่าใช้บรรจุภัณฑ์ของเราแล้วดีต่อสุขภาพ ดีต่อสิ่งแวดล้อม เพราะใช้ไปแล้วทิ้งก็ย่อยสลายภายใน 45 วัน เขาก็เริ่มเห็น ดังนั้น ยอดขายเราก็เริ่มโต แต่ 3-4 เดือนแรก ยอมรับว่าเราก็เหนื่อย เพราะเรายังทำต้นทุนไม่เก่ง ก็ต้องค่อยๆ พัฒนาไปเรื่อยๆ 3-4 เดือนแรกขาดทุนเป็น 100 นะครับ แต่เมื่อผ่าน 3-4 ปีแรก กระบวนการเรียนรู้ก็เกิดขึ้น เราก็มองเห็นโอกาส มองว่าเรามีโอกาสในการพัฒนาตัวโปรดักส์แล้ว ผมก็เห็นว่าเราควรเพิ่มยอดขายในประเทศเราด้วย เราก็มองว่า อยากให้ในเมืองไทยได้ใช้ของดี แต่ต้องเป็นของดีที่ราคาเหมาะสมด้วย” นพ.วีรฉัตรระบุ
ต่อยอดตลาดในประเทศ
นพ.วีรฉัตรกล่าวว่า เมื่อยอดขายในต่างประเทศเป็นไปด้วยดีอย่างต่อเนื่อง บริษัทเริ่มทำต้นทุนได้ดี โอกาสที่จะกลับมาขายในประเทศก็เริ่มมองเห็นได้ชัด “ช่วงนั้น จากเดิมที่ต้นทุนเราเคยอยู่ที่ 5 บาท เราก็ไปคุยกับอาจารย์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์เขาก็เห็นว่าสิ่งที่เราทำนั้นดี เราก็เลยทำรีเสิร์ชร่วมกับอาจารย์หลักสูตรบริหารธุรกิจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์จุฬาฯบอกว่าราคาที่เหมาะสมที่จะทำให้บรรจุภัณฑ์นี้ขายได้ ต้องมีราคาอยู่ที่ 2 บาท ขณะที่ต้นทุนเราตอนนั้น พัฒนามาอยู่ที่ 3 บาทกว่า เราก็คุยกันอยู่นาน เราคุยกับอาจารย์ที่จุฬาฯตั้งเนิ่นนานครับ แต่อาจารย์ก็เสนอสิ่งที่ดีแก่เรา ในที่สุดเราก็ยอมรับ ว่าต้นทุนเรา 3 บาทนะแต่เราขาย 2 บาท เพราะเราเชื่อว่าสิ่งที่เราทำน่าจะเป็นสิ่งที่ดีกับสังคม
จากนั้น เราก็เริ่มจากขายให้จุฬาฯ ก่อนเลย อาจารย์จุฬาฯ บอกว่าถ้าขาย 2 บาท จุฬาฯ จะเริ่มใช้ก่อนเลยที่บริหารธุรกิจ เมื่อผ่านไป 3 เดือน อาจารย์จุฬาฯบอกว่าเวิร์คมาก เพราะตอนนั้น เมื่อต้นทุนเรา 3 บาท แต่ต้องขาย 2 บาท ยอมรับว่าเราก็เหนื่อยนะครับ เพราะว่าขาดทุนแต่เราก็ทำ แล้วโชคดีที่ทางจุฬาฯก็ช่วยโดยการให้เริ่มขายที่จุฬาฯ ก่อน เมื่อจุฬาฯ ช่วยแล้วพอได้ใช้บรรจุภัณฑ์ของเรา เขาก็บอกว่าดี ถูกกว่า SMS อีก เพราะสมัยนั้นส่ง SMS ครั้งหนึ่ง ราคา 3 บาท แต่ชามชานอ้อยของเราแค่ 2 บาท ถูกกว่าอีก จากนั้น ตัวเลขยอดขายเราก็เริ่มเพิ่มขึ้น ทำไปได้ 6 เดือน ตัวเลขเพิ่มขึ้น 4 เท่า” นพ.วีรฉัตรบอกเล่าได้อย่างเห็นภาพถึงยุคเริ่มแรกของการทำตลาดในประเทศ
Economies of Scale เมื่อยอดขายเติบโตต่อเนื่อง
นพ.วีรฉัตรกล่าวว่า เมื่อยอดขายเกรซเพิ่มขึ้น 4 เท่า เมื่อนั้น Economies of Scale เกิดขึ้น จึงทำให้ต้นทุนลดลงเหลือเพียง 1 บาทกว่าๆ บริษัทจึงหันมาใส่ใจกระบวนการตรจุดนี้ให้มากขึ้น
อาจกล่าวได้ว่า เมื่อเริ่มเก่งขึ้น เพราะทำมาหลายปีแล้ว ก็มีกระบวนการจัดการ ที่ทำให้การได้มาของเยื่อธรรมชาติมีราคาที่ถูกลงได้
“นอกจากนั้น เราไม่ใช้ไฟฟ้า เราใช้ความร้อนด้วยไอน้ำ ทำให้ต้นทุนการผลิตของเราดีต่อสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะเราใช้ไอน้ำไม่ต้องใช้ไฟ Process ในการผลิตเราก็ฆ่าเชื้อด้วย UV ก่อนส่งบรรจุภัณฑ์ออกไป แล้วเมื่อใช้ของเราเสร็จ ใช้ไปแล้วทิ้งไป บรรจุภัณฑ์ของเราจะกลายเป็นปุ๋ยให้ต้นไม้ภายใน 45 วัน ดังนั้น เราทำขึ้นมาโดยที่เราคิดให้ครบ Cycle เลยครับ” นพ.วีรฉัตรระบุและเน้นย้ำถึงความเป็นมิตรของเกรซที่มีต่อโลกคือการย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยภายใน 45 วัน ซึ่งนับเป็นจุดแข็งสำคัญประการหนึ่ง
ถามว่า เมื่อทำวิจัยร่วมกันและขายบรรจุภัณฑ์ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้วขยายผลต่อเนื่องไปยังแห่งอื่นๆ อย่างไร
นพ.วีรฉัตรตอบว่า หลักคิดสำคัญคือ เราเชื่อว่า เราจะทำให้คนใช้บรรจุภัณฑ์ของเราได้เยอะ เราต้องให้ผู้ทรงอิทธิพลต่อการขายหรือ Influencer เบอร์ใหญ่ๆ เบอร์หลักๆ ของประเทศใช้ เมื่อ Influencer เหล่านั้นใช้บรรจุภัณฑ์ของเกรซ ก็จะเป็น reference ให้คนอื่นใช้ด้วย เช่น เมื่อ จุฬาฯ ใช้ของเกรซ ต่อมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็อยากใช้บ้าง ต่อเนื่องไปยังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมถึง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ก็อยากใช้บ้าง
“เราก็เริ่มไปทำความร่วมมือกับหลายๆ มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็น Influencer ใหญ่ แล้วกลุ่ม Influencer อีกกลุ่มที่ใหญ่ไม่แพ้กันก็คือกลุ่มโรงพยาบาล ทำอย่างไรให้โรงพยาบาลใช้บรรจุภัณฑ์ของเรา ซึ่งโรงพยาบาลจุฬาฯ โรงพยาบาลหลักๆ ของมหาวิทยาลัยลัยก็เริ่มใช้ของเรา เพราะเขาไม่ต้องการให้มีการติดเชื้อในโรงพยาบาล จากนั้น เราก็ขยายผลต่อเนื่องไปยังการชวนแหล่งท่องเที่ยวใช้ เช่น จ.เชียงใหม่ จ.ภูเก็ต เพราะแหล่งท่องเที่ยวมีขยะมหาศาล นักท่องเที่ยวเยอะๆ ตามตลาดนัด ตลาดไนท์มาร์เก็ต มีขยะเยอะมาก เราก็ไปชวนเขา” นพ.วีรฉัตรระบุ และกล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ จ.เชียงใหม่ มีเคสหนึ่งที่น่าสนใจ คือ หลวงพ่อที่วัดแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ในย่านแหล่งท่อมเที่ยวท่านเห็นบรรจุภัณฑ์เกรซ แล้วท่านสนใจท่านจึงติดต่อมา ทำให้ทราบว่าวัดแห่งนี้เป็นสถานที่ขายอาหารอยู่ประมาณ 30ร้านค้า แล้วหลวงพ่ออยากให้ทุกร้านขายอาหารใส่ชามชานอ้อยทั้งหมดเลย ไม่อยากใช้โฟม ไม่อยากใช้พลาสติก เนื่องจากหลวงพ่อรูปนี้ท่านจบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ด้วย ท่านจึงสนใจสิ่งที่เกรซทำ
หลวงพ่อท่านเล่าให้ฟังว่า ท่านบอกผู้ค้าทั้ง 30 ร้านค้า ให้ใช้ชามชานอ้อย โดยหลวงพ่อก็ต่อรองว่า ขอต่อราคาถูกกว่า 2 บาทได้ไหม แล้วหลวงพ่อจะให้ทั้ง 30 ร้านค้ามาใช้ชามชานอ้อย โดยที่หลวงพ่อไม่คิดค่าเช่าร้านกับคนที่มาขายของในวัด แต่หลวงพ่อจะใช้วิธีให้ใบเขียว-ใบเหลือง-ใบแดง
ใครใช้ชามชานอ้อยแล้ว จะให้ใบเขียว
ใครยังไม่ใช้ชามชานอ้อยจะให้ใบเหลือง
ใครเตือนใบเหลืองหนึ่งครั้งแล้วยังไม่ใช้ชามชานอ้อย ยังใช้โฟมหรือพลาสติกอยู่จะให้ใบแดง ใครได้ใบแดงสองครั้งคือให้ออกจากวัด
แล้วหลวงพ่อก็ติดป้ายประกาศไว้ที่หน้าวัด ว่าที่นี่ใช้บรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยทั้งหมด โดยเขียนเป็นภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่น จีน เขียนหลายภาษา
เมื่อหลวงพ่อเขียนป้ายติดแบบนี้คนก็สนใจมากินกันเยอะขึ้น อาหารขายดีขึ้น หลวงพ่อบอกว่าหลังๆ เมื่อใช้ไป 3-4 เดือน เจ้าของร้านค้าก็มาบอกหลวงพ่อว่า ‘ทำไมหลวงพ่อไม่ทำแบบนี้ตั้งแต่แรก ขายดีขึ้นเยอะเลย’ เป็นความภูมิใจของท่าน เหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ดีเช่นที่หลวงพ่อได้เล่าให้ นพ.วีรฉัตรฟัง
Target group ที่ครอบคุลมหลากหลาย
ถามว่าปัจจุบันนี้ Target group รายใหญ่ของเกรซคือใคร
นพ.วีรฉัตรตอบว่า “เราขายไปเยอะมากครับ เนื่องจากเราเปิดบริษัทมามาสิบกว่าปีแล้ว แรกๆ เราขายกับ Influencer เบอร์ใหญ่ๆ อย่างที่เล่าไปข้างต้น กับ กระทรวงมหาดไทย เราก็มีไปขายกับผู้ว่าราชการจังหวัด ถ้ามีประชุมผู้ว่าฯ เราขออนุญาตไปคุยด้วย ขอไปคุยกับท่านนายกฯ ทุกท่าน และชวนให้ท่านรณรงค์ ท่านก็ช่วยรณรงค์ให้นะครับ รณรงค์ไม่ใช้โฟมไม่ใช้พลาสติก ให้ใช้สิ่งที่ย่อยสลายได้ดีกว่า
ดังนั้น ทาร์เก็ตกรุ๊ป ตอนนี้ โฟกัสกรุ๊ปของเรา แรกๆ ต้องบอกว่า เรา Focus ที่กลุ่มร้านอาหาร เพราะก่อนที่จะเกิดโควิด-19 เราทำ Food Packaging เราทำร้านอาหารที่เป็น Chain ที่มีฐานลูกค้า มีหลายสาขา เช่นร้านนิตยาไก่ย่าง แต่ปรากฎว่า เมื่อเราทำไปช่วงหนึ่ง สังคมมีการรณรงค์เรื่องการไม่ใช้ถุงพลาสติก เพราะมีปลาวาฬตายจากการกลืนถุงพลาสติก และมีเหตุการณ์มาเรียมตาย (หมายเหตุ มาเรียม เป็นพะยูนน้อยขวัญใจชาวไทย เสียชีวิตจากอาการติดเชื้อในกระแสเลือด โดยที่มีขยะพลาสติกอยู่ในท้องหลายชิ้นขวางลำไส้ ) ช่วงปี 2018-2019 กระแสรณรงค์มาแรงมาก”นพ.วีรฉัตรระบุ ก่อนเล่าเพิ่มเติมว่า ช่วงก่อนที่จะมีกระแสรณรรงค์ขยะพลาสติกที่ทำอันตรายแก่สัตว์น้ำ ยังมีอีกช่วงเวลาสำคัญช่วงหนึ่งของประเทศที่ทำให้คนรู้จักเกรซมากที่สุด
นั่นคืองานสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 ( หมายเหตุ : พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จสวรรคตเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช รัฐบาลประกาศไว้ทุกข์ถวายความอาลัยเป็นเวลา 1 ปี สำนักพระราชวังมีหมายกำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระบรมศพระหว่างวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ถึง 21 มกราคม พ.ศ. 2560 ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง คณะรัฐมนตรีได้กำหนดให้มีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพขึ้นในวันที่ 25 - 29 ตุลาคม พ.ศ. 2560 )
นพ.วีรฉัตรเล่าว่า ในช่วงนั้น ทั้งสนามหลวงมีพลาสติกและโฟมเยอะมาก ทางกรุงเทพมหานคร และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่รณรงค์งดใช้โฟมและพลาสติกจึงมาหารือเพื่อขอความร่วมมือกับเกรซ ขอให้ทั้งสนามหลวงไม่ใช้โฟมและพลาสติก
“ตอนนั้น เราผลิตไม่ทันเลย เพราะเมื่อมีการประกาศแบบนี้ไป ที่อื่นที่เขามีงานเขาก็ไม่ใช้โฟม ทำให้ตลอดระยะเวลาปีกว่าๆ นั้น มีคนรู้จักเราหมดและใช้กันทั่วไปหมด ซึ่งสิ่งที่เราทำนั้น เราน้อมถวายเป็นพระราชกุศลด้วย ยอมรับว่าเราผลิตไม่ทันเลย แล้วพอหลังจากนั้น ก็มีกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อม กระแสเรื่องพะยูนน้อยมาเรียมด้วย ยอดขายเราก็ขยายตัวเร็วในช่วงนั้นด้วย” นพ.วีรฉัตรระบุ นอกจากนี้ ยังบอกเล่าถึงระยะเวลาเมื่อราว 2-3 ปีก่อน กลุ่มภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมใน จ.เชียงใหม่ อาทิ กลุ่มเขียวสวยหอม
และภาคีร้านค้าต่างๆ ในเชียงใหม่ ร่วมกันขับเคลื่อนรณรงค์ไม่ใช้โฟม ไม่ใช้พลาสติก ช่วงนั้น เกรซก็ได้ร่วมโครงการดังกล่าวด้วย
“เราทำงานร่วมกับพวกเขาตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่เรารณรงค์เรื่องการใช้ชานอ้อย เรื่องการย่อยสลายตามธรรมชาติ ตั้งแต่ก่อนการรณรงค์เรื่องงดใช้ถุงพลาสติก
ในช่วงแรกๆ เราก็เริ่มรณรงค์กับกลุ่มเขียวสวยหอมที่ท่าแพ” นพ.วีรฉัตรบอกเล่าถึงการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวย่านสำคัญของ จ.เชียงใหม่ ในการรณรงค์ใช้บรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติ ซึ่งเกรซมีส่วนร่วมในการรณรงค์ด้วยนับแต่ช่วงแรกๆ
ผลกระทบและความท้าทายจากวิกฤติโควิด-19
ถามว่า 15 ปีที่ผ่านมา กระทั่ง ณ วันนี้ เกรซเป็นที่รู้จักทั้งในระดับผู้นำประเทศ ถึงในระดับชุมชน ทว่า เมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 เกรซเผชิญกับความท้าทายใดบ้างและผ่านมาได้อย่างไร
นพ.วีรฉัตรตอบว่า
“ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 เกรซขายบรรจุภัณฑ์ให้ทั้งกับสายการบิน Air France สายการบิน Lufthansa เสิร์ฟบนเครื่องบิน ขายให้ไทยสไมล์ เสิร์ฟบนไทยสไมล์ในประเทศไทย Universal Studios ทุกแห่งก็ใช้บรรจุภัณฑ์ของเรา
นอกจากนั้น เราขายได้เยอะ มีการใช้บรรจุภัณฑ์ของเราเยอะในแหล่งท่องเที่ยว ตรงไหนมีชุมชนเยอะๆ เขาก็อยากใช้ของเราเยอะ เพราะขยะมันเยอะ เขาจึงต้องการสิ่งที่ย่อยสลายได้ อีกกลุ่มที่เราขายเยอะคือกลุ่มโรงพยาบาล และกลุ่มที่ระวังเรื่องสุขภาพ เช่น กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มนี้เราก็ขายเยอะ
กลุ่มที่เราขายเยอะกลุ่มใหญ่ๆ ของเรา จากช่วงแรกที่เราขายเชนใหญ่ๆ แต่เมื่อมีนโยบายจากรัฐในการรณรงค์ ระดับชุมชน แม่ค้าร้านเล็กๆ แม่ค้าที่ถนนคนเดินก็ใช้ของเราเยอะ ภูเก็ตก็ใช้ของเราเยอะ ดังนั้น เราขายได้เดือนหนึ่ง 7-8 ล้านบาท ก่อนที่โควิด-19 จะมา แล้วตัวเลขเราก็โตขึ้นเรื่อยๆ
แต่เมื่อโควิด-19 มาปุ๊บ นักท่องเที่ยวหายไปทันที ไม่ว่าที่ภูเก็ต หรือว่าเชียงใหม่ หายไปหมด นักท่องเที่ยวสมุยหายหมด ตัวเลขเราก็หายไปเยอะ หายไปทันที นอกจากนี้ เราเป็นเบอร์ต้นๆ ที่ขายใน Universal Studios ทุกที่ทั่วโลก สายการบินหยุดบินเราก็ได้รับผลกระทบ
แม้แต่ Puff & Pie ก็ใช้ของเราทั้งหมด เบอร์ใหญ่ๆ หลายแห่ง ใช้ของเราทั้งหมด แต่เมื่อนักท่องเที่ยวหาย สายการบินไม่บิน ยอดขายเราก็หายไปมากเหมือนกันครับ ลูกค้าหยุดสั่งกันหมดเพราะว่าบินไม่ได้ทั้งโลก เพราะฉะนั้น ตัวเลขเราก็หายไปเยอะ ช่วงแรกๆ จู่ๆ ก็หายไปครึ่งหนึ่งเลย ทั้งๆ ที่เราขยายโรงงานรอพร้อมอยู่แล้ว เพราะในปี 2019 ตัวเลขเราโตขึ้นมาก จนเราขยายโรงงานเพื่อรองรับปี 2021” นพ.วีรฉัตรระบุ
พบโอกาสในวิกฤติ
นพ.วีรฉัตรกล่าวว่า เมื่อมองเห็นว่าปัญหาเกิดขึ้นจากการมาถึงของโควิด-19 ทว่า ขณะเดียวกัน กลับมองว่ายังมีโอกาสด้วย
“โอกาสที่เรามองเห็นคือ Delivery มาแรงมาก ทุกอย่างกลายเป็น Delivery หมด เราก็ทำกล่องสำหรับ Delivery เอายอดขายคืนจาก Delivery ทำกล่องใหม่ๆ รูปแบบใหม่ๆ ออกมา ออกแบบให้ปิดสนิทอย่างดี ฝาไม่หกไม่เลอะ ก็เป็นโปรดักส์ใหม่ๆ ที่เราผลิตออกมาครับ เป็นกล่องที่ช่วยให้เราขยับและขยายตัวไปได้ เมื่อโควิด-19 ระลอกแรกผ่านไป
เมื่อมาถึงระลอก 2 เราเห็นว่า คนเริ่มติดเชื้อกันเยอะ ในโรงพยาบาลก็มีคนเป็นโควิด-19 เยอะมาก เมื่อเป็นโควิด-19 สิ่งต่างๆ ยิ่งไม่ควรใช้ซ้ำ ไม่ว่าจาน ชาม ภาชนะ ถ้วย ของโรงพยาบาลต่างๆ ต้องใช้ครั้งเดียวทิ้งหมดเลย แต่ละโรงพยาบาลเขาก็มองเห็นปัญานี้ เขาไม่อยากให้หมอ พยาบาล คนไข้ ใช้ของซ้ำกัน เขาต้องการใช้แล้วทิ้งทั้งหมดเลย เราก็เข้าไปบุกตลาดโรงพยาบาล
แล้วตลาดกลุ่มนี้ก็ขยายตัวเร็วมาก โดยเฉพาะช่วงที่มีผู้ติดเชื้อเป็นหลักหมื่นคน ตัวเลขจากกลุ่มโรงพยาบาลเราขยายตัวเร็วมาก แล้วเมื่อมาถึงช่วงนี้ โรงพยาบาลก็ยังใช้บรรจุภัณฑ์ของเราต่อเนื่อง ตัวเลข Delivery ก็ดีขึ้น
ตอนนี้สิ่งต่างๆ เริ่มกลับมา คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิต การบินเริ่มกลับมา ไทยสไมล์
Lufthansa เริ่มกลับมาบิน Universal Studios ก็กลับมาเปิด ตอนนี้เราก็เลยเริ่มขยายกลับมามากกว่าช่วงปี 2019 แล้วครับ เมื่อบวกกับของเก่าที่เรามีและของใหม่ที่เราเริ่มทำในช่วงวิกฤติ เหล่านี้คือ กระบวนการที่เราทำ แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เรา concern ที่สุดคือเรื่องของสุขภาพ” นพ.วีรฉัตรบอกเล่าในรายละเอียดและไม่ลืมที่จะเน้นย้ำถึงสิ่งสำคัญคือสุขภาพของคนเราทุกวันนี้ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เนื่องจากมนุษย์เป็นมะเร็งกันเยอะ แล้วขยะที่คนเราทิ้ง เมื่อถึงเวลาฝนตก ขยะเหล่านั้นก็จะไหลไปรวมกันอยู่ในทะเล แล้วพลาสติกก็จะแตกเป็นชิ้นเล็กๆ เป็นไมโครพลาสติก เมื่อแพลงก์ตอนก็กินเข้าไป ปลาเล็กก็มากินแพลงก์ตอน จากนั้นปลาใหญ่ก็มากินปลาเล็ก
ความห่วงกังวล
นพ.วีรฉัตรกล่าวต่อเนื่องว่า “แล้วเราก็กินซูชิ กลายเป็นไมโครพลาสติกอยู่ในตัวเรา Disrupt ระบบในร่างกายเราไปหมดเลย Disrupt เรื่องฮอร์โมนเราไปหมด ฮอร์โมนเราจะเพี้ยนไปหมด ประจำเดือนมาไม่ปกติ เบาหวาน ความดัน โรคไม่ติดต่อต่างๆ เพราะขยะเหล่านี้นี้มัน Disrupt ฮอร์โมน ดังนั้น เราต้องเป็นห่วงลูกหลานเราที่จะเกิดมาด้วยในอนาคต สิ่งเหล่านี้จะเป็นปัญหาใหญ่ของเขา
ปัญหาที่ท้าทายตอนนี้ ผมคิดว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงและอยากฝากสื่อมวลชนด้วยก็คือ ปัจจุบัน มีบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายปลอมเยอะมาก เอากระดาษมาเคลือบพลาสติกแล้วบอกว่าเป็นบรรจุภัณฑ์ย่อยสลาย อันนี้ เป็นปัญหาใหญ่ของโลกเลยและของประเทศไทย มีเยอะมาก” นพ.วีรฉัตรระบุถึงสิ่งที่ห่วงกังวล
ถามว่า เราจะสามารถแยกบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายปลอมออกจากของจริงที่สามารถย่อยสลายได้จริงอย่างไร
นพ.วีรฉัตรตอบว่า “ของปลอมจะมันๆ วาวๆ ข้างในจะมันวับๆ เลยครับ เหมือนเป็นสีของพลาสติก เหมือนเป็นพลาสติกเคลือบ ขณะที่ของเกรซ โครงสร้างของเราจะไม่มีรอยพับ และจะไม่มันวับขนาดนั้น แต่กระดาษย่อยสลายปลอมจะมีรอยพับแล้วเคลือบพลาสติก อันตรายมาก เพราะมันเป็นพลาสติก แล้วเขาไม่ยอมบอกความจริงด้วย แต่กลับบอกว่าย่อยสลายได้ ซึ่งพลาสติกในประเทศไทย ที่บอกว่าย่อยสลายได้ พวกนี้ก็ปลอมทั้งหมด เพราะพลาสติกไม่สามารถย่อยสลายได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว แต่เขาเอาไปใส่โคบอลต์ ใส่สารกัมมันตภาพรังสี ทำให้เวลาเจอแสงแดดมันจะแตก แต่มันไม่ได้ย่อยสลาย มันเพียงแค่แตกเป็นผง แล้วเมื่อเราหายใจเข้าไป กินเข้าไปตอนไหนก็ไม่รู้เพราะมันเป็นผง แบบนี้มีเยอะมากๆ ในบ้านเรา
พลาสติกแบบนี้ เมื่อเราเก็บไว้แล้วมันจะเป็นผุยผงเลย นี่คือถุงพลาสติกย่อยสลายปลอม ผมว่านี่คือสิ่งที่น่ากลัวสำหรับสังคมไทย เราอุตส่าห์ตั้งใจทำสิ่งดีๆ เพื่อสังคม ทำสิ่งที่ย่อยสลายได้จริง ใช้สิ่งที่ดีต่อสุขภาพ แต่กลับมีคนที่มาทำแบบนี้ แล้วมาทำร้ายคนที่ตั้งใจดีที่เขาอยากใช้ของย่อยสลายได้จริง เขาอาจไปหลงซื้อของเหล่านี้มาใช้ อยากให้ช่วยกันสื่อสารเรื่องนี้เยอะๆ” นพ.วีรฉัตรระบุ
หลากหลายบรรจุภัณฑ์แปรรรูปจากการเกษตร
นอกจากความเป็นห่วงบ่วงใยในสุขภาพคนไทยและความกังวลเรื่องบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายปลอมแล้ว ถามถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของเกรซว่า นอกจากชานอ้อยแล้ว ใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอะไรอีกบ้างมาแปรรูป
นพ.วีรฉัตรตอบว่า “เป็นคำถามที่ดีมากเลยครับ เพราะอย่างที่บอกว่าบ้านเรา เป็นเมืองแห่งการเกษตร แล้วเราก็ทำรีเสิร์ชเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังจากทำชานอ้อยแล้ว เราก็มาทำเยื่อปาล์มที่เหลือเยอะ และตอนนี้เราก็เอาฟางข้าวมาใช้ มาผสม และนำผักตบชวามาใช้ด้วย เป็นการแก้ปัญหาเรื่องผักตบชวาล้นตลิ่งด้วย
กล่าวได้ว่าอะไรที่เป็นปัญหาทางการเกษตร อะไรที่คนส่วนใหญ่ไม่ชอบ แต่ผมกลับชอบ เพราะเมื่อเรามาใส่ Innovation เข้าไปแล้ว อะไรที่คนไม่ชอบ ต้นทุนเราจะถูกลงครับ แล้วเราได้แก้ปัญหาให้สังคมด้วย นี่คือเรื่องที่เราให้ความสำคัญ ตอนนี้เราก็ใช้ทั้งไผ่ ผักตบชวา ฟางข้าว เยื่อปาล์ม ตอนนี้เราเอาซังข้าวโพดที่เขาไม่ใช้แล้วจากเชียงใหม่นำมาแปรรูปด้วย และเรากำลังศึกษาใยสับปะรดและใยกัญชงด้วยครับ
มีคู่ค้าจาก 33 ประเทศทั่วโลก
ถามว่า นับจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่กล่าวถึงในช่วงแรก ปัจจุบัน ในตลาดต่างประเทศ มีประเทศไหนบ้างที่เป็นลูกค้าของเกรซ
นพ.วีรฉัตรตอบว่า “ตอนนี้เราขายทั้งหมด 33 ประเทศ ยุโรปเราก็ไป อังกฤษ เยอรมนี ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย อเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แต่กลุ่มที่เข้ามาหลังๆ จะเป็นกลุ่มประเทศหมู่เกาะ เพราะเขาไม่มีที่ทิ้งขยะ การทิ้งขยะของเขาต้องขนขยะออกไปทะเลก็เป็นปัญหาใหญ่ เขาจึงต้องการสิ่งที่ย่อยสลายได้ เกาะใหญ่ๆ อย่างมัลดีฟส์ ( หมายเหตุ : สาธารณรัฐมัลดีฟส์ Republic of Maldives ) และอีกหลายๆ แห่งก็ซื้อของเราเยอะ เขาชอบ เพราะย่อยสลายได้ โดยเฉพาะตามแหล่งท่องเที่ยว” นพ.วีรฉัตรระบุถึงการเติบโตที่แผ่ขยายพื้นที่อย่างกว้างไกลทั่วโลกตลอดระยะเวลานับ 15 ปีที่ผ่านมา
ถามต่อเนื่องว่า เท่าที่ทราบมา ประมาณปี 2558 ธุรกิจของคุณเติบโตทะลุพันล้านบาทแล้ว พอจะบอกมูลค่าปัจจุบันได้หรือไม่
นพ.วีรฉัตรยังคงหัวเราะอย่างถ่อมตน และตอบว่าตัวเลขก็ยังอยู่ประมาณนั้น เพราะเมื่อเจอกับวิกฤติโควิด-19 ตัวเลขของเกรซก็ไม่ได้โตขึ้น จึงยังคงอยู่ประมาณพันล้าน แต่คาดว่าปี 2022 ตัวเลขน่าจะเกินพันล้านบาท
ทั้งนี้ นพ.วีรฉัตรกล่าวด้วยว่า ปัจจุบัน เกรซ อยู่ในในตลาดทุนคือตลาดหุ้นกู้ โดยจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 2022
‘สามเหลี่ยมความคิด’ และวิสัยทัศน์ที่มาก่อนกาล
อดถามไม่ได้ว่า นพ.วีรฉัตรมีวิสัยทัศน์ในการบริหาร อย่างไร ทั้งการไม่หยุดนิ่ง สร้างสิ่งที่เสมือน ‘มาก่อนกาล’ ในฐานะผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม มีอะไรที่อยากฝากถึงผู้ประกอบการหรือผู้ที่สนใจแนวคิดการสร้างผลิตภัณฑ์รักษ์โลก
หัวเรือใหญ่ของเกรซตอบว่า “ผมมีสามเหลี่ยมของความคิดอย่างนี้นะครับ คือแกนหลักของเกรซเอง เริ่มจากแกนของความคิดของผม
แกนที่หนึ่งที่เป็น DNA ของเราเลย คือ ‘สุขภาพเรา สุขภาพโลก’ หมายความว่า ไม่ว่าอย่างไรเราก็ต้องดูแลสุขภาพเรา เรามีชีวิตเดียว เรามีโลกใบเดียว เราต้องดูแลสุขภาพเรา เราต้องดูแลสุขภาพโลก อยากให้ทุกคนรู้ว่าปลายทางของสิ่งแวดล้อม ปลายสุดคือสุขภาพนี่แหละครับ เพราะถ้าสิ่งแวดล้อมไม่ดี เราไม่ดูแลรักษา สุดท้ายมันจะส่งผลกระทบกลับมาที่สุขภาพเรา ถ้าเราทิ้งแต่ของเสีย ลูกหลานของเราก็จะได้แต่ของเสีย ได้รับแต่ไวรัสที่ไม่ดี เขาจะกลายเป็นโรคต่างๆ เพราะฉะนั้นเราต้องคิดถึงอนาคตข้างหน้าเยอะๆ ผมอยากให้คิดถึงคนรุ่นหลังมากๆ ไม่ใช่คิดถึงแค่คนรุ่นเรา” นพ.วีรฉัตรระบุถึงแกนหลัก หรือ DNA ของเกรซ ก่อนบอกเล่าว่า
แกนต่อมา คือ One Heart เป็นความมุ่งหวัง อยากให้คนมีจิตใจร่วมกันในการพัฒนา สิ่งนี้ถือเป็นแกนกลางของบริษัทด้วยว่าอยากให้ทุกคนมีความสุขร่วมกัน แต่ความสุขร่วมกันที่ว่านี้ อยู่บนฐานคิดที่ว่าเราสร้างสิ่งที่ดีเพื่อคนอื่นด้วย ไม่ใช่สร้างเพื่อตัวเราเองเพียงอย่างเดียว
แกนที่สามคือ One Future นั่นคือ เราต้องสร้างอนาคตด้วย นับเป็นอีกหนึ่งแกนกลางที่ นพ.วีรฉัตรมักจะบอกกล่าวแก่คนรอบข้างเสมอว่า เราต้องสร้างอนาคต สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับโลก
“แต่ผมขอเถอะครับ ขอร้องว่านวัตกรรมใหม่ๆ อย่าพยายามเอาชนะธรรมชาติ Innovation อย่า Try to overcome natural เพราะเราไม่เคยเอาชนะธรรมชาติได้เลย เราสร้างเครื่องปรับอากาศขึ้นมาเพราะอยากเอาชนะธรรมชาติ เพราะเราร้อน แต่แอร์สร้างฟรีออน (Freon) สร้างปัญหาโลกร้อน แอร์หมดอายุก็ไม่รู้จะทิ้งที่ไหน สร้างปัญหาใหญ่มากในโลก ดังนั้น นวัตกรรมที่ดีสำหรับอนาคต คือต้องสอดคล้องกับธรรมชาติ ให้สามารถเอากลับมาใช้ใหม่และกลับคืนสู่ธรรมชาติดีกว่า แบบนี้สังคมจะไปได้ไกล ผมเชื่อว่าการทำเพื่อสังคมจะช่วยสร้างสิ่งที่ดีต่อไปในอนาคต” คือคำตอบของ นพ.วีรฉัตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) ซึ่งก่อกำเนิดมายาวนานนับ 15 ปี บนจุดยืนและวิสัยทัศน์ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเสมอมา
ที่มา: https://mgronline.com/onlinesection/detail/9650000001578