สถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ยังไม่จบง่าย กลายเป็นปัจจัยเพิ่มแรงผลักดันให้ผู้บริโภคเลือกลดความเสี่ยงด้วยการสั่งอาหารออนไลน์ หรือฟู้ดดิลิเวอรี่มากขึ้น
นอกเหนือจากเทรนด์ของคนยุคนี้ที่ได้รับความสะดวกสบาย รวดเร็ว ประเมินแล้วว่าคุ้มค่าต่อการเอาเวลาจากการเดินทางไปร้านอาหารไปทำอย่างอื่นแทน เขาไม่ต้องออกไปไหนก็ได้อาหารถูกปากมาส่งถึงที่
หลายคนไม่เคยนึก ตระหนักต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ตามมาว่า “ขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกต่างๆ หรือแพคเกจจิ้งจากฟู้ดดิลิเวอรี่” เมื่อเราบริโภคจบทิ้งลงถังขยะจะไปไหนต่อ ปล่อยให้เป็นหน้าที่คนอื่น คือซาเล้ง และเจ้าหน้าที่เก็บขยะ
ขยะสารพัดพอไม่ใช้ ไม่กิน แค่ทิ้งลงขยะก็พอแล้วไหม! นั่นคือวิถีแต่ดั้งเดิม ทั้งที่จริง วิถีนิวนอร์มอลที่ดีทั้งต่อตัวเราและสิ่งแวดล้อม เราทุกคนสามารถ “ช่วยลดภาระต่อโลก” ได้อีก แม้อาจดูเป็นการเพิ่มภาระให้ตนเองไปทำไม! แต่หากเราเลือกลงมือทำวันนี้ ผลลัพธ์วันข้างหน้า โลกสีเขียวใบนี้จะดีกว่าแน่นอน
เพจเฟซบุ๊ค CHULA Zero Waste แนะนำวิธีจัดการแพคเกจจิ้งจากการสั่งอาหารให้ไม่เหลือขยะ กล่องอาหาร ช้อนส้อม ตะเกียบ ซองช้อนส้อมและตะเกียบ ซองน้ำจิ้ม ต้องไม่ลงถังขยะทั่วไปแม้แต่ชิ้นเดียว
เวลาสั่งอาหารมากิน อิ่มแล้วใครทิ้งกล่องอาหารลงถังไปเลยบ้าง ยกมือขึ้น!
Zero Waste at Home ทำยังไงให้กินอิ่ม สบายท้องและสบายโลกด้วย เราบอกครบทุกขั้นตอนแบบไม่มีกั๊กตั้งแต่กินเสร็จจนถึงส่งแพคเกจจิ้งไปเกิดใหม่ มาช่วยกันส่งน้องๆ แพคเกจจิ้งไปในที่ๆ ดีต่อโลกกัน จาก 5 ข้อแนะนำดังต่อไปนี้
1 เวลาสั่งอาหารมา 1 มื้อ สิ่งที่เราได้มามักจะมี 4 อย่างนี้ อาจจะมีอย่างอื่นแถมมาเพิ่มนิดหน่อย ช้อนส้อมและเครื่องปรุง ถ้ามื้อนั้นไม่ใช้ก็บอกไม่รับได้นะ
2 กินเสร็จแล้วเอาทุกอย่างมาล้างน้ำยาล้างจานให้สะอาด กำจัดคราบมันและกลิ่น แล้วตากให้แห้ง เท่านี้แพคเกจจิ้งของเราก็สะอาดไม่เป็นขยะแล้ว
3 ต่อไปมาดูกันว่าของแต่ละอย่างที่เราเก็บไว้ จะแยกไปที่ไหน และแยกยังไง
4 จัดส่งแพคเกจจิ้งไปตามแหล่งต่างๆ
- YOLO และ โครงการส่งพลาสติกกลับบ้าน สามารถส่งกล่องข้าว ถ้วยน้ำจิ้ม และช้อนส้อม (ส่งได้เฉพาะ YOLO) ไปรีไซเคิลได้
- โครงการวน รับถุงแกง ถุงหูหิ้ว พลาสติกแรป รวมทั้งพลาสติกอื่นๆ ที่ยืดได้ทุกชนิด
- บริษัท N15 Technology ส่งซองเครื่องปรุงไปทำเชื้อเพลิงพลังงานทดแทนได้ (ส่งไปแต่ซองนะ อย่าเผลอส่งเครื่องปรุงไปด้วยละ)
สำหรับชาวจุฬาฯ มีอีกทางเลือกในการจัดการแพคเกจจิ้งทั้งหมดนี้ในถังเดียวจบ คือรวบรวมไว้รอจุฬาฯ เปิด แล้วเอามาหย่อนใส่ถัง Recycle+ ที่มีอยู่ตามตึกต่างๆ และจุดรับพลาสติกยืดของโครงการวนที่ตึกจามจุรี 5 ได้เลย
5 บางทีก็เจอปัญหาว่าพลาสติกดูคล้ายๆ กันไปหมด จะแยกยังไงดี เทคนิคคือดูที่สัญลักษณ์การรีไซเคิลพลาสติก พลาสติกแต่ละประเภทจะมีเลขเฉพาะตัว แพคเกจจิ้งชิ้นไหนมีเลขเดียวกันเอาไว้ด้วยกัน
แค่นี้ก็แยกแพคเกจจิ้งให้ไปเกิดใหม่ในที่ที่ดีต่อโลกได้ง่ายๆ ไม่เหลือไปลงถังขยะแม้แต่ชิ้นเดียว มาช่วยกันแยกขยะกันนะ ส่วนใครอยากรู้เรื่องอะไรอีกเกี่ยวกับการจัดการขยะในบ้าน คอมเมนต์บอกได้ที่ CHULA Zero Waste
ที่มา: https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9650000003455