อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เผยตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ขยะพลาสติกพุ่ง เหตุประชาชนสั่งอาหารกินที่บ้าน แล้วบรรจุภัณฑ์พลาสติกเพียบ พบหลังทำระบบงดรับช้อน-ส้อมพลาสติกในแพลตฟอร์มสั่งอาหาร พอช่วยลดขยะได้บ้าง แนะเลือกไม่รับพลาสติก หรือถ้ารับให้คัดแยก ทำความสะอาด นำไปบริจาคได้
วันนี้ (7 ม.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า จากการที่ภาครัฐกำหนดมาตรการล็อกดาวน์ การทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) และการไม่อนุญาตหรือจำกัดการรับประทานอาหารในร้านอาหาร รณรงค์ให้ทานอาหารที่บ้าน ประชาชนหันมาเลือกใช้บริการสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ (Food Delivery) มากขึ้น ส่งผลให้นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ช่วงต้นปี 2563 ถึงปัจจุบันมีปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ส่วนใหญ่เป็นบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว เช่น กล่องโฟม กล่องพลาสติกใส่อาหาร ถุงพลาสติกหูหิ้ว ถุงร้อน ถุงเย็น ถุงเครื่องปรุง ช้อน ส้อม มีดพลาสติก แก้วพลาสติก หลอด
ที่ผ่านมา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษได้ร่วมมือกับเจ้าของแพลตฟอร์มผู้ให้บริการส่งอาหาร ได้แก่ ไลน์แมน แกร็บ ฟู้ดแพนด้า และลาล่ามูฟ ให้ปรับแพลตฟอร์มไม่ให้แจกผลิตภัณฑ์พลาสติก ร้านอาหารใช้ผลิตภัณฑ์ทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยลูกค้าสามารถปฏิเสธไม่รับพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแบบอัตโนมัติในแอปพลิเคชั่น (งดรับช้อน-ส้อมพลาสติก) ตั้งแต่เดือน ก.ย. 2563 เป็นต้นมา ส่งผลให้ประชาชนผู้บริโภค ร้านอาหารและผู้ให้บริการส่งอาหารออนไลน์ หันมาให้ความสำคัญกับปัญหาขยะพลาสติกในประเทศมากขึ้น จากข้อมูลการบริโภคพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ของสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทยเมื่อเดือนสิงหาคม 2564 คือ ถุงพลาสติก, แก้วพลาสติก, หลอดพลาสติก และกล่องโฟมบรรจุอาหารลดลง 20%
ปัจจุบันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังมีต่อเนื่อง ทำให้การใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกยังคงเพิ่มสูงขึ้น การเลือกใช้บริการส่งอาหารออนไลน์มีความสะดวกและมีร้านอาหารให้เลือกหลากหลายมากขึ้น ประกอบกับผู้ให้บริการฟู้ดดีลิเวอรีมีโปรโมชั่นลดราคาอาหาร-บริการส่งฟรี เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งของรัฐบาล และส่วนหนึ่งผู้ประกอบการร้านค้ามีความเคยชินแจกพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวอยู่ ดังนั้น ประชาชนในฐานะผู้บริโภคสามารถมีส่วนร่วมลดขยะพลาสติกได้ ด้วยการเลือกไม่รับพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว จากการใช้บริการฟู้ดดีลิเวอรี
หรือหากมีความจำเป็นต้องใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกสามารถคัดแยกและล้างทำความสะอาด เพื่อรวบรวมเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล หรือนำไปบริจาคให้โครงการ “เปลี่ยนพลาสติกเป็นบุญ” (เมื่อคุณหมุนเวียน) ได้ เพราะการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะปัญหาขยะพลาสติกต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งจัดการขยะพลาสติกตั้งแต่ขั้นตอนการจัดการ ณ ต้นทาง (ผู้ผลิต), การจัดการ ณ กลางทาง (ผู้บริโภค ผู้ประกอบการร้านอาหาร) และการจัดการ ณ ปลายทาง (การรีไซเคิล) เพื่อคัดแยกและนำพลาสติกที่ใช้แล้วนำกลับไปใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น
ที่มา: https://mgronline.com/onlinesection/detail/9650000001794