นับตั้งแต่เริ่มสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563 เป็นเวลาเกือบ 2 ปี ปริมาณขยะรายวันที่เกิดขึ้นในประเทศโดยรวมลดลงชัดเจนซึ่งเป็นผลจากจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่ลดลง รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องถูกยกเลิก แต่แม้ว่าปริมาณขยะโดยรวมจะลดลงก็ไม่ได้หมายความว่าปัญหาขยะจะคลี่คลายเบาบางลง สองปีของสถานการณ์โควิด-19 ได้เกิดปรากฏการณ์ปัญหาขยะที่ไม่เคยเจอมาก่อน ปรากฏการณ์แรกคือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คนที่เน้นการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคที่ต้องใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกใส่อาหารมากขึ้นจนทำให้ปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นอย่างน่าวิตก ปรากฏการณ์ที่สองคือการเพิ่มขึ้นของขยะติดเชื้อหลายเท่าตัวจนเกินขีดความสามารถของระบบกำจัดที่มีอยู่ในปัจจุบัน ปรากฏการณ์ 2 ด้านนี้ถูกเชื่อมโยงกับคำอธิบายบริบทใหม่ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่เรียกว่า New Normal จึงเกิดคำถามว่าปรากฏการณ์ทั้งสองจะเป็น New Normal จริงหรือเป็นเพียงปรากฏการณ์ชั่วคราว
ปี 2565 ที่กำลังจะมาถึงจะเป็นปีสุดท้ายของแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 ที่ผ่านการเห็นชอบคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 แผนดังกล่าวครอบคลุมการดำเนินงานเพื่อการจัดการขยะพลาสติกตั้งแต่ปี 2563 ไปสิ้นสุดแผนปฏิบัติการระยะแรกในปี 2565 โดยมีเป้าหมาย 2 ด้าน ได้แก่ เป้าหมายแรกคือการลด เลิกใช้พลาสติก 4 ชนิดและทดแทนด้วยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พลาสติก 4 ชนิด คือ ถุงพลาสติกหูหิ้ว กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติกและหลอดพลาสติก เป้าหมายที่สองคือการนำพลาสติกกลับไปใช้ประโยชน์หรือ Recycles ไม่น้อยกว่า 50% ได้แก่ ถุงพลาสติกประเภท HDPE LLDPE LDPE และ PP บรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกชั้นเดียว ขวดพลาสติกทุกชนิด ฝาขวด แก้วพลาสติก ถาด/กล่องอาหาร และพวกช้อน/ส้อม/มีดพลาสติก
ช่วงเวลาของแผนปฏิบัติการระยะที่ 1 เราได้เห็นการรณรงค์ลดขยะพลาสติกทางสื่อต่างๆ รวมทั้งกิจกรรมและเวทีเสวนามากมาย เพื่อสื่อให้เห็นถึงปัญหาของขยะพลาสติกที่ตัวมันเองต้องใช้เวลาหลายศตวรรษกว่าจะย่อยสลาย และการย่อยสลายหรือการแตกตัวของพลาสติกจะมีสภาพเป็นเม็ดพลาสติกขนาดเล็กมาก หรือเป็นอนุภาคที่เรียกว่าไมโครพลาสติก (Micro Plastic) มันสามารถย้อนกลับเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารจนเป็นอันตรายต่อชีวิตสัตว์และมนุษย์ได้
นอกจากนั้น ขยะพลาสติกประเภทถุงพลาสติก เศษเชือก แห อวน ที่เป็นส่วนหนึ่งของขยะทะเล (Marine Debris) ยังเป็นอันตรายต่อชีวิตสัตว์ทะเล ปัญหาขยะพลาสติกจึงถูกผูกโยงเข้ากับขยะทะเลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ไมโครพลาสติกหรืออนุภาคพลาสติกขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ส่วนหนึ่งเกิดจากการย่อยสลายของขยะพลาสติกชิ้นใหญ่ที่เสื่อมสภาพจากสภาพอากาศ การบด เสียดสี ผุพังและฉีกขาด มีผลงานวิจัยของศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จังหวัดตรัง พบไมโครพลาสติกกว่า 70 ชิ้น ในกระเพาะของปลาตัวเดียว ไมโครพลาสติกเหล่านี้มีทั้งลักษณะเป็นเส้นใย เป็นแท่งสีดำและเป็นเกล็ด แม้ว่างานวิจัยนี้ยังไม่ได้มีการศึกษาต่อในส่วนของเนื้อปลาซึ่งทางศูนย์จะขยายผลศึกษาต่อไป รวมทั้งจะศึกษาการปนเปื้อนในตะกอนทรายชายหาดและครอบคลุมสัตว์เศรษฐกิจชนิดอื่น เช่น หอยประเภทต่างๆ
ผลของงานวิจัยนี้ทำให้รู้ว่าขยะพลาสติกขนาดเล็กหรือไมโครพลาสติกเข้าใกล้ชีวิตประจำวันของเราแล้ว ปัญหาขยะพลาสติกและขยะทะเลจึงไม่ใช่เป็นเพียงปัญหาความสะอาดเรียบร้อยของบ้านเมืองหรือชายหาด แต่กำลังจะเป็นมหันตภัยที่คุกคามต่อชีวิตสัตว์และมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ ปัญหาขยะพลาสติกและขยะทะเลจึงถูกกำหนดให้เป็นปัญหาเร่งด่วนจนต้องมีแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติกขึ้นมาโดยเฉพาะ
1 ใน 3 ของขยะทะเลเป็นขยะพลาสติกและกว่าครึ่งของขยะพลาสติกคือถุงพลาสติกที่ถูกพัดจากลำน้ำ ลำคลอง แม่น้ำลงสู่ทะเล ขยะทะเลจึงไม่ใช่แค่เศษซากเครื่องมือประมงหรือขยะตามชายหาด แม้แต่ขยะพลาสติกที่อยู่ห่างจากทะเลเป็นพันกิโลเมตรก็มีโอกาสถูกพัดลงจนกลายเป็นขยะพลาสติกในทะเลได้ ดังนั้น การจัดการขยะพลาสติกที่แหล่งกำเนิดจึงมีความสำคัญ ขยะที่ทิ้งไม่เป็นที่เป็นทางหรือการเก็บขนของท้องถิ่นที่ไม่มีประสิทธิภาพจนเกิดขยะตกค้างรวมไปถึงการกำจัดขยะที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการด้วยการเทกองโดยไม่มีการป้องกัน ล้วนเป็นปัจจัยทำให้ปัญหาขยะทะเลรุนแรงมากขึ้น
นับตั้งแต่เริ่มแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติกระยะที่ 1 ในปี 2563 ก็เป็นช่วงเวลาที่สถานการณ์โควิด-19 มีความรุนแรงขึ้น ด้วยมาตรการป้องกันโรคติดต่อ ทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไป ทุกคนต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกบ้าน ต้องเว้นระยะห่าง ต้องล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด จนต้องกำหนดมาตรการทำงานจากบ้านหรือ work from home โรงเรียนและสถานการศึกษาต้องปรับให้มีการเรียนการสอนออนไลน์ การเปลี่ยนแปลงนี้ได้ทำให้ธุรกิจการค้าออนไลน์และการจัดส่งสินค้ารวมทั้งอาหารแบบ Delivery เติบโตอย่างไม่เคยมีมาก่อน ผลที่ตามมาก็คือขยะบรรจุภัณฑ์ส่วนใหญ่เป็นพลาสติกเพิ่มมากขึ้น สัดส่วนของขยะพลาสติกในขยะทั่วไปซึ่งก่อนนี้มีประมาณร้อยละ 15-18 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 25-30 เท่ากับปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มมากขึ้นในขณะที่ปริมาณขยะโดยรวมกลับลดลง
สถานการณ์โควิด-19 ยืดเยื้อ ไม่อาจคาดการณ์ว่าจะสิ้นสุดอย่างไร เมื่อใด วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปจึงได้รับการบัญญัติด้วยศัพท์ใหม่ว่า New Normal หรือ “บรรทัดฐานใหม่” หมายความถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 จะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของสังคม แท้จริงแล้ว การเปลี่ยนแปลงบางส่วนอาจเป็นบรรทัดฐานใหม่ได้ เช่น มาตรการทำงานจากบ้าน ธุรกิจการค้าออนไลน์หรือการจัดส่งสินค้า ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ย้อนกลับเพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีโดยพื้นฐานแต่มีสถานการณ์โควิด-19 เป็นตัวเร่ง ส่วนการเพิ่มขึ้นของขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกหรือขยะพลาสติก หรือการเพิ่มขึ้นของขยะติดเชื้อ ขยะทางการแพทย์ ไม่ใช่บรรทัดฐานใหม่ มันเป็นเพียงปรากฏการณ์ด้านสาธารณสุขในสถานการณ์โรคระบาด
ดังนั้น เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย การดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติกจะต้องกลับมาดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดมหันตภัยต่อมนุษย์และสิ่งที่มีชีวิตอื่นๆ จากขยะพลาสติกและขยะทะเล