สส.ผนึกกำลังภาคเอกชน MOU เดินเครื่องต้นแบบระบบรีไซเคิลกระป๋องอลูมิเนียมใช้แล้วแบบครบวงจร

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) จับมือ 4 บริษัทเอกชน เดินเครื่องรักษ์สิ่งแวดล้อม MOU ภายใต้โครงการ Transparency of Aluminium Closed-Loop Recycling มุ่งเป้าเป็นต้นแบบการนำขยะกระป๋องอลูมิเนียมใช้แล้วกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่

นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) โครงการ Transparency of Aluminium Closed-Loop Recycling ระหว่างบริษัทไทย เบเวอร์เรจ แคน จำกัด,บริษัทไทยเบฟเวอเรจไซเคิล จำกัด, บริษัท แองโกลเอเชีย กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท ยูเอซีเจ (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีนายสาโรซ ชยาวิวัฒน์กุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทย เบเวอร์เรจ แคน จำกัด กล่าวรายงาน ท่ามกลางแขกผู้มีเกียรติจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ โรงแรม เซ็นทาราแกรนด์เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ

ทั้งนี้ นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้อยู่ภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการจัดทำระบบรีไซเคิลกระป๋องอลูมิเนียมใช้แล้วแบบครบวงจรในประเทศไทย ถือเป็นต้นแบบการนำขยะกระป๋องอลูมิเนียมใช้แล้วกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ โดยผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มกระป๋องอลูมิเนียมใบใหม่อีกครั้ง (Can to Can)และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรวบรวมและการคัดแยกเพื่อพัฒนาคุณภาพของกระป๋องอลูมิเนียมใช้แล้วการอัตราการรีไซเคิล (Recycling Rate) และสัดส่วนการใช้วัสดุรีไซเคิล (Recycled Content) ในการผลิตกระป๋องอลูมิเนียม รวมถึงเพื่อสนับสนุนให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงและติดตามความคืบหน้าในการเก็บกลับกระป๋องอลูมิเนียมเพื่อนำกลับมาผลิตกระป๋องอลูมิเนียมได้

“โครงการ Transparency of Aluminium Closed-Loop Recycling ถือเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับแผนการดำเนินงานบันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับภาคีเครือข่ายผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมและรีไซเคิล “เรื่องการส่งเสริมการผลิตบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มที่สามารถรีไซเคิลได้” รวมถึงเป็นไปตามหลักความรับผิดชอบของผู้ผลิต หรือ EPR (Extended Producer Responsibility) ที่ผู้ผลิตมีหน้าที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดวงจรชีวิตของบรรจุภัณฑ์ตั้งแต่การออกแบบ การกระจายสินค้า การรับคืน การเก็บรวบรวม และการนำกลับมาใช้ใหม่ และตอบสนองต่อยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Model โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” นายรัชฎา กล่าว

อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวต่อไปว่า สำหรับการขับเคลื่อนภายหลังการลงนามความร่วมมือในวันนี้ จะมีการผลักดันให้เกิดการเก็บกลับคืนกระป๋องอลูมิเนียมใช้แล้วเข้าสู่วงจรการรีไซเคิลแบบ Closed loop เพื่อกลับเข้าสู่ระบบการรีไซเคิล หรือใช้ประโยชน์ใหม่ มาผลิตเป็นกระป๋องใบใหม่สำหรับบรรจุเครื่องดื่มที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ ส่งต่อและคืนประโยชน์สู่สังคม พร้อมจัดให้มีระบบการรีไซเคิลกระป๋องอลูมิเนียมได้ทั้งใบ ไม่ใช่เฉพาะห่วงดึงเท่านั้น รวมถึงการพัฒนาระบบการผลิตกระป๋องอลูมิเนียมจากวัสดุรีไซเคิลที่สามารถช่วยประหยัดพลังงานได้กว่า 95% เมื่อเทียบกับการถลุงแร่ขึ้นมาใหม่ และกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนของทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง

“โครงการ Transparency of Aluminium Closed-Loop Recycling เป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญที่
กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินการที่จะช่วยให้เกิดความตระหนักรู้คุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด เกิดการหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ซ้ำได้ การนำทรัพยากรกลับเข้าสู่ระบบรีไซเคิล ร่วมกันสร้างสังคมรีไซเคิล ด้วยระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ภายใต้แนวคิด “Next Normal : ใช้ชีวิตอย่างชาญฉลาด คืนธรรมชาติสู่สมดุล ตามนโยบายของนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ” นายรัชฎากล่าวในที่สุด

 

ที่มา: https://mgronline.com/daily/detail/9640000121235 

วันที่ 08 ธันวาคม 2564