ธุรกิจรีไซเคิลลุ้น อย.ประกาศใช้กฎหมายใหม่เร็วที่สุด เร่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับขวด PET

จากการที่สังคมเริ่มมีการตื่นตัวในการร่วมกันจัดการขยะ โดยเฉพาะขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประหยัดทรัพยากรด้วยการนำวัสดุเหล่านี้กลับมารีไซเคิลตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ขวดพลาสติกใสประเภท Polyethylene terephthalate (ขวด PET) ซึ่งใช้กับขวดเครื่องดื่มโดยทั่วไป น่าจะเป็นความหวังหลัก เนื่องจากทุกวันนี้มีธุรกิจรับซื้อ ขายและรีไซเคิลที่เป็นระบบอยู่แล้ว หากแต่โดยส่วนใหญ่ ขวด PET ในประเทศไทยจะถูกนำมารีไซเคิลเป็นเส้นใย โพลีเอสเตอร์แทบจะทั้งหมด เนื่องจาก ประเทศไทยกฎหมายยังไม่อนุญาตให้มีการนำ PET ที่ผ่านการรีไซเคิล ( rPET ) มาใช้เป็นภาชนะบรรจุอาหารและเครื่องดื่มใหม่ เหมือนในต่างประเทศที่มีการอนุมัติให้ใช้มาเป็นเวลานานแล้ว นั่นหมายความว่าการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มในประเทศไทยยังจำเป็นต้องใช้พลาสติกผลิตใหม่ 100% ซึ่งเท่ากับเป็นการเติมพลาสติกใหม่เข้ามาในระบบอย่างต่อเนื่อง

นายปราเนย์ จาอิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีโคบลู จำกัด หนึ่งในผู้ผลิตรายใหญ่ของอุตสาหกรรมการผลิตพลาสติกรีไซเคิลในประเทศไทยกล่าวในเรื่องนี้ว่า การจะทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ( circular economy) สำหรับพลาสติกนั้น มีองค์ประกอบสำคัญ 6 ประการ คือ 1) การส่งเสริมให้พลาสติกทุกชนิดสามารถรีไซเคิลได้ 2) การมีเป้าหมายเดียวกันในการใช้พลาสติกรีไซเคิล 3) การอนุญาตให้ใช้พลาสติกรีไซเคิลสัมผัสโดยตรงกับอาหารและเครื่องดื่ม 4) การพัฒนาและปรับปรุงห่วงโซ่อุปทานขยะพลาสติก 5) การออกแบบการใช้วัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ และ 6) การพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่สำหรับการรีไซเคิล

ทุกองค์ประกอบควรดำเนินการไปพร้อมกันซึ่งจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ ธุรกิจเอกชนและภาคประชาสังคมร่วมกันผลักดันให้เกิดขึ้น และสำหรับประเทศไทย การเร่งปลดล็อกข้อจำกัดด้านกฎหมาย เพื่อทำให้องค์ประกอบในข้อ 3 บรรลุผล จะเป็นการเปิดประตูก้าวแรกสู่การขับเคลื่อนแนวทางสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนการใช้พลาสติกในระยะต่อไป

นายปราเนย์ ยังกล่าวถึงประเด็นการดำเนินงานของรัฐบาลไทยต่อการเร่งแก้ไขกฎหมายของกระทรวงสาธารณสุขซึ่งดำเนินงานโดยคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อให้มีการใช้ rPET ผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ที่สัมผัสโดยตรงกับอาหารและเครื่องดื่มโดยทางอุตสาหกรรมหวังว่า อย.จะสามารถประกาศแก้ไขประกาศกระทรวงซึ่งเป็นข้อจำกัดดังกล่าวได้ภายในปีนี้ เพื่อเปิดทางให้ภาคอุตสาหกรรมในไทยสามารถนำ rPET มาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์สัมผัสโดยตรงกับอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งขณะนี้ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมพลาสติกที่เกี่ยวข้องได้รับทราบร่างระเบียบเกณฑ์ใหม่ของ อย.แล้ว ในภาพรวมถือว่าเป็นความท้าทายสำคัญของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมพลาสติกไม่น้อย ภาคธุรกิจได้พยายามส่งข้อมูลสะท้อนกลับไปให้ภาครัฐได้เห็นช่องโหว่และปัญหาที่จะเกิดจากร่างกฎเกณฑ์ใหม่เพื่อจะได้ร่วมกันหาทางปรับแก้ไขเกณฑ์ที่เหมาะสมกับทุกฝ่าย

“ผมอยากให้ภาครัฐได้ทดสอบเกณฑ์ใหม่ 2021 ที่ อย.กำหนดในกระบวนการทุกขั้นตอนกับภาคอุตสาหกรรม ติดขัดตรงไหนอย่างไร รัฐ-เอกชนร่วมกันคิดแก้ไขกันได้ ซึ่งผู้ประกอบการได้เตรียมพร้อมแล้วโดยการลงทุนในเทคโนโลยีระดับไฮเอนด์เพื่อการรีไซเคิล จึงอยากให้รัฐบาลได้เร่งแก้ไขและประกาศใช้กฎหมายใหม่โดยเร็ว เพราะหลังจากประกาศใช้กฎระเบียบใหม่ อุตสาหกรรมยังต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ ซึ่งในขั้นตอนเหล่านี้ต้องใช้เวลาพิจารณาอีกอย่างน้อย 6-12 เดือน ” นายปราเนย์ กล่าว

พร้อมกันนี้ควรมีการกระตุ้นเตือนภาคประชาชนในการทิ้งขวดพลาสติกและขยะพลาสติกอื่นๆ อย่างถูกวิธี โดยแนวทางหนึ่งที่ทำให้เกิดความร่วมมือของประชาชนคือการออกกฎหมายว่าด้วยการทิ้งและคัดแยกขยะ รวมทั้งการสร้างแรงจูงใจในการนำขวดPETกลับมารีไซเคิลอย่างเป็นระบบและยั่งยืน เฉกเช่นเดียวกับระบบที่มีในต่างประเทศเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีวัตถุดิบเพียงพอและมีคุณภาพเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล

นายปราเนย์ กล่าวด้วยว่า ทิศทางอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าในระดับโลกกำลังมุ่งไปสู่การมองหาทางออกที่สมดุลของการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าทั้งในเชิงธุรกิจและความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อม การใช้ rPET ร่วมกับพลาสติกใหม่ในการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่สัมผัสโดยตรงกับอาหารและเครื่องดื่มเป็นแนวทางหนึ่งที่อุตสาหกรรมระดับโลกยอมรับ รัฐบาลในหลายประเทศชั้นนำ เช่น ประเทศในกลุ่มอียู สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ต่างให้ความสำคัญและผลักดันให้ทุกภาคส่วนได้

ร่วมกันขับเคลื่อนแนวทางสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับขวด PET โดยรัฐกำหนดเป้าหมายชัดเจนในการใช้อัตราส่วนผสมที่เป็น rPET หรือ rPET content ในบรรจุภัณฑ์ที่สัมผัสโดยตรงกับอาหารและเครื่องดื่ม

“ BCG โมเดลของรัฐบาลไทยเป็นนโยบายที่ดีมาก สำหรับผมคิดว่ารัฐบาลต้องเป็นผู้ผลักดันการประกาศเป้าหมายที่ชัดเจนในการใช้ rPET content ในบรรจุภัณฑ์ เช่นเดียวกับประเทศชั้นนำที่กำหนดเป้าหมายไว้ชัดว่าสัดส่วน rPET content ในบรรจุภัณฑ์จะเพิ่มขึ้นเป็น 25-30% ภายในปี 2568 ถือเป็นความรับผิดชอบของผู้ผลิตที่จะต้องดำเนินการให้บรรลุ ซึ่งผมเชื่อว่าการมีเป้าหมายเดียวกันโดยรัฐบาลผลักดันและส่งเสริม จะทำให้เกิดความร่วมมือทั้งจากภาคอุตสาหกรรมและประชาชน”

เป็นที่ทราบกันว่าพลาสติก PET ที่ใช้ในการผลิตขวดเป็นพลาสติกที่สามารถนำกลับเข้าสู่การรีไซเคิลได้ดีที่สุด แต่พลาสติกPET มีจำนวนเพียงร้อยละ 5 ของขยะพลาสติกทั้งหมด จากการสำรวจข้อมูลในระดับโลกโดยธนาคารโลกในช่วงปีที่ผ่านมาพบว่ามีอัตราการเก็บขวดพลาสติก PET กลับมารีไซเคิลได้เพียงร้อยละ 46 และเมื่อพลาสติกเหล่านั้นเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลจะเกิดการสูญเสียไปอีกร้อยละ 25 หมายความว่าจะเหลือพลาสติกที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการรีไซเคิลจริงๆ ได้เพียงร้อยละ 75 ของร้อยละ 46 เท่านั้น ความจำเป็นการของการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับพลาสติกจึงต้องเกิดขึ้นให้ได้ ทั้งเพื่อการลดปริมาณขยะพลาสติก ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม และสร้างการหมุนเวียนในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

นายปราเนย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อุตสาหกรรมรีไซเคิลพลาสติกมีเทคโนโลยีการรีไซเคิลหลายระดับขึ้นอยู่กับประเภทและคุณภาพของวัตถุดิบพลาสติกที่นำมารีไซเคิล การผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล PET หรือ rPET จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและใช้วัตถุดิบพลาสติก PET หรือขวด PET ที่มีคุณภาพ โดยคุณภาพของขยะพลาสติกและขวด PET จะขึ้นอยู่กับออกแบบวัสดุว่าสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ทั้งหมดหรือไม่ รวมไปถึงคุณภาพของกระบวนการทิ้งและคัดแยกขยะที่มีประสิทธิภาพซึ่งจะช่วยลดการปนเปื้อนของขยะพลาสติกได้

อีโคบลูเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ในอุตสาหกรรมรีไซเคิลพลาสติก ใช้เทคโนโลยีใหม่ที่ก้าวล้ำ สามารถผลิต rPET คุณภาพสูงที่สามารถนำไปใช้เป็นวัสดุผลิตบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพเทียบเท่ากับ PET Resin บริสุทธิ์เหมาะสำหรับการใช้งานบรรจุภัณฑ์ที่ต้องสัมผัสกับอาหาร กระบวนการผลิต rPET ของอีโคบลูผ่านมาตรฐาน US FDA มั่นใจได้ในเรื่องของความสะอาดและความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ยิ่งกว่านั้น ด้วยเทคโนโลยีรีไซเคิลขั้นสูง อีโคบลูยังสามารถผลิตขวดใสโดยใช้ rPET 100% กล่าวได้ว่า กระบวนการผลิตของโรงงานอีโคบลูถือว่ามีความพร้อมในการรับรองมาตรฐานการรีไซเคิลทั่วโลก

นอกจากนี้ อีโคบลูยังผลิตพลาสติกรีไซเคิลชนิดโพลีโอเลฟิน (rPolyolefin) เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าชนิดต่างๆ ในหลายอุตสาหกรรม เช่น บรรจุภัณฑ์ ชิ้นส่วนรถยนต์ อุปกรณ์กีฬาและสันทนาการ การก่อสร้าง เกษตรกรรม เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมทั้งสิ่งทอและเฟอร์นิเจอร์เกรด rHDPE และ rPP ซึ่งเพิ่งได้รับการอนุมัติจาก US FDA สำหรับการใช้งานในบรรจุภัณฑ์ที่สัมผัสกับอาหาร ปัจจุบัน โรงงานอีโคบลูที่จังหวัดระยอง มีกำลังการผลิตรวมทั้งหมดประมาณปีละ 20,000 ตัน แบ่งเป็น rPET ประมาณ 15,000 ตันที่เหลือเป็น rPolyolefin และขณะนี้บริษัทฯ เพิ่งเสร็จสิ้นการก่อสร้างโรงงานซึ่งใช้เทคโนโลยีใหม่เพื่อรองรับกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 40,000 ตันต่อปี โดยตั้งเป้าผลิต rPET เป็น 30,000 ตันและ rPolyolefin10,000 ตันต่อปี เพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดทั้งในและต่างประเทศ

อุตสาหกรรมรีไซเคิลในไทยมีความพร้อมทั้งด้านเทคโนโลยีและกระบวนการดำเนินงานตามมาตรฐานระดับสากลเพื่อการผลิต rPET คุณภาพสูงใช้เป็นบรรจุภัณฑ์สัมผัสอาหารและเครื่องดื่มมีความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค เมื่อภาครัฐมีกฎระเบียบและหลักเกณฑ์ชัดเจนและเหมาะสม ภาคอุตสาหกรรมก็พร้อม เพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับพลาสติกซึ่งเป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญของนโยบาย BCG โมเดล

 

ที่มา: https://mgronline.com/qol/detail/9640000120377 

วันที่ 08 ธันวาคม 2564