CEA ผนึก 'กกพ.' เปิดตัว 4 แพลตฟอร์ม Wonder Waste สร้างนวัตกรรมคัดแยกขยะชุมชนสู่พลังงานทางเลือก

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. เผยผลสำเร็จโครงการสร้างนวัตกรรมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน หรือ Wonder Waste! เปิดตัว 4 พื้นที่ต้นแบบการจัดการขยะเพื่อการผลิตไฟฟ้า ผ่านการนำร่อง 4 พื้นที่ ย่านเจริญกรุง ย่านหนองแขม กรุงเทพฯ ย่านศรีจันทร์ จังหวัดขอนแก่น และย่านเมืองเก่า จังหวัดภูเก็ต คาดพัฒนาสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมปลอดขยะ

นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือสำนักงาน กกพ. ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ได้เปิดตัว 4 พื้นที่ต้นแบบการจัดการขยะเพื่อการผลิตไฟฟ้า บนพื้นฐานของการศึกษาพฤติกรรมผู้ทิ้งในระดับครัวเรือนและชุมชนในจำนวน 4 พื้นที่ ได้แก่ ย่านเจริญกรุง ย่านหนองแขม กรุงเทพฯ ย่านศรีจันทร์ จังหวัดขอนแก่น และย่านเมืองเก่า จังหวัดภูเก็ต ภายใต้โครงการสร้างนวัตกรรมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน หรือ Wonder Waste! โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ. 2563 โดยมีเป้าหมายที่จะกระตุ้นให้เกิดการตระหนักเรื่องการจัดการขยะให้ได้คุณภาพ ก่อนนำไปกำจัดหรือเพิ่มทางเลือกด้วยการนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าที่เป็นพลังงานหมุนเวียนต่อไป

นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า โครงการ Wonder Waste! นำเสนอแพลตฟอร์มจัดการขยะครัวเรือนและชุมชน ผ่านการนำเสนอต้นแบบ 4 นวัตกรรมที่เกิดจากการนำกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) มาใช้เพื่อการระดมความคิดเห็นและแก้ปัญหาด้วยกระบวนการสร้างสรรค์ร่วม (co-create) กับประชาชนในพื้นที่ในการพัฒนาสู่แนวคิดในการคัดแยกขยะให้เป็น 4 แพลตฟอร์มที่แตกต่างกันตามบริบทการใช้งานและพฤติกรรมของผู้ทิ้งในระดับครัวเรือนและชุมชน โดยเนื้อหาและแพลตฟอร์มแยกขยะ ประกอบด้วย 4 ต้นแบบ ดังนี้

1. PowerPick พัฒนาโดย : บริษัท ขอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด พื้นที่ติดตั้ง : ลานใบไม้ บริษัท ยิบ อิน ซอย จำกัด ถนนมหาพฤฒาราม บางรัก กรุงเทพฯ
แพลตฟอร์มที่มีแนวคิดแก้ไขปัญหาขยะที่เพิ่มขึ้นหลังบริโภคจากฟูดดีลิเวอรีในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยแพลตฟอร์มนี้จะเข้ามาบริหารคัดแยกบรรจุภัณฑ์ อาหาร และเครื่องดื่มประเภทพลาสติกเบา รวมทั้งกระดาษในรูปแบบ Pop-Up ที่มีบริการรับถุงแยกขยะรีไซเคิลด้วยตู้อัตโนมัติ และเคาน์เตอร์เซอร์วิส พร้อม Lab ที่ทำหน้าที่ทั้งรับ บด ล้าง อบ และแพกขยะ สู่การแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงขยะ (RDF) พร้อมใช้จักรยานเพาเวอร์พิกไฟฟ้าบรรทุก หรือ PowerPick WtE eBike บริการรับแยกขยะแบบเคลื่อนที่ผ่านแอปพลิเคชันในการกำหนดเวลารับขยะถึงที่

2. care4 พัฒนาโดย : พิเศษ วีรังคบุตร และทีมงานพื้นที่ติดตั้ง : หมู่บ้านจิตรณรงค์ 21 ใกล้โรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อม หนองแขม กรุงเทพฯ แพลตฟอร์มระบบเก็บขยะเพื่อส่งเข้าโรงเผาขยะด้วยเทคนิคลดความชื้นขยะ ด้วยวิศวกรรมและการออกแบบ มาใช้ร่วมกับระบบคัดแยกเพื่อทำให้การเผาขยะมีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยการปรับปรุงคุณภาพขยะและลดขั้นตอนการคัดแยกให้มีความซับซ้อนน้อยลง ด้วยกระบวนการแยกขยะ - รับขยะ - พักขยะ - ส่งขยะ สำหรับการแยกขยะ จะมีถุงและถังขยะที่ออกแบบให้เหมาะสม วางไว้ในแต่ละจุดของบ้านพร้อมเอกสารแนะนำ เพื่อสร้างความเข้าใจในวิธีการคัดแยก มีการรับขยะถึงหน้าบ้านเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับคนในพื้นที่ โดยมีจักรยานเข้าไปรับขยะมาจัดการตามแต่ละชนิดของขยะ และการพักขยะโดยการลดความชื้นด้วย Solar Waste Dryer ก่อนส่งเข้าสู่กระบวนการบริหารจัดการของกรุงเทพมหานครต่อไป

3. บุญบุญ พัฒนาโดย : FabCafe Bangkok พื้นที่ติดตั้ง : พื้นที่ศรีจันทร์ จังหวัดขอนแก่น หุ่นยนต์แมวเก็บขยะ ที่สร้างแรงจูงใจ สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการคัดแยกขยะที่นำเทคโนโลยี Delivery Robot ด้วยการนำถังขยะมาหาคน ให้ถังขยะมีบทบาทเป็นสื่อกลางให้ข้อมูล (Information Agent) และความรู้เกี่ยวกับการแยกขยะ ประกอบด้วยหุ่นยนต์แมวใช้ภายในร้านคาเฟ่ ‘บุญเล็ก’ ที่วิ่งไปรับบริจาคขยะที่ใช้ภายในร้านค้าที่เป็นเครือข่าย เพื่อให้เกิดการเรียนรู้เรื่องการทิ้งขยะแก่ผู้ที่เข้ามาใช้บริการ และหุ่นยนต์แมวใช้ภายนอก ‘บุญใหญ่’ ที่รับขยะจากร้านค้าที่มีการคัดแยกไว้แล้วตั้งแต่ต้นทาง ผ่านระบบ Line Official โดยมีสถานีคอยรับขยะจากหุ่นยนต์ทั้งภายในและภายนอก พร้อมทั้งมีการต่อยอดด้วยการจัดแคมเปญ Activity Waste Information ร่วมกับพื้นที่อีกด้วย

4. BABA Waste พัฒนาโดย : วีระชัย ปราณวีระไพบูลย์ และทีมงานอาร์ ดี เอ็ม สตราติจีส พื้นที่ติดตั้ง : พื้นที่เมืองเก่าจังหวัดภูเก็ต แพลตฟอร์มการจัดการขยะสำหรับธุรกิจคาเฟ่และบ้านเรือน โดยใช้ถุงสีแยกขยะตามประเภทเพื่อเป็นการสื่อสารระหว่าง (ครัวเรือน ร้านค้า) - กลางทาง (คนเก็บขยะ) - ปลายทาง (ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวม จังหวัดภูเก็ต) พร้อมนำเสนอโมเดลธุรกิจควบคู่กันไป เพื่อให้เกิดการจัดการที่สมบูรณ์และความยั่งยืน ประกอบด้วย BABABIN ถังขยะสำหรับใช้ภายในคาเฟ่หรือบ้านเรือน และสำหรับใช้ภายนอก BABABAG ถุงขยะสีที่ช่วยแยกประเภทขยะ ขยะแห้ง ขยะเศษอาหาร ขยะรีไซเคิล ขยะอันตราย และ BABACONE ชุดแปรรูปเศษอาหารเพื่อนำไปทำเป็นปุ๋ยหมัก

 

ที่มา: https://mgronline.com/business/detail/9640000117002 

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2564