CPF ร่วมผลักดัน SMEs รุ่นใหม่ พัฒนานวัตกรรมลดขยะอาหาร หนุนบริโภค “รักษ์โลก” อย่างยั่งยืน

โครงการ Shaper in Action : Waste Hero Awards จัดเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ในงาน “Thailand Sustainability Expo 2021” (TSX) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ โดยซีพีเอฟร่วมเป็นกรรมการตัดสิน มี นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหารซีพีเอฟ เป็นผู้มอบรางวัลแก่ผู้ชนะเลิศและรองชนะเลิศที่คิดค้นนวัตกรรมและพัฒนาธุรกิจรักษ์โลก ช่วยจัดการขยะอาหาร สร้างมูลค่าเพิ่ม ผ่านการใช้ทรัพยากรอย่างสร้างสรรค์ และมีส่วนร่วมผลักดันสังคมสู่การลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ให้มีการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อจัดการและเพิ่มมูลค่าขยะอาหาร (Food Waste management and Value-added)

สำหรับปีนี้มี SMEs รุ่นใหม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและการบริโภคอย่างยั่งยืนสนใจส่งผลงานเข้าประกวดมากกว่า 50 ผลงาน โดยผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ คือทีม Innowaste ผลิตเครื่องกำจัดขยะมูลฝอยอินทรีย์ในครัวเรือนและร้านค้าขนาดเล็ก ตัดขยะให้เป็นชิ้นเล็ก กวนคลุกเคล้ากับจุลินทรีย์ให้เข้ากัน สู่กระบวนการย่อยสลายเป็นปุ๋ยไร้กลิ่น ภายในระยะเวลา 2 ชั่วโมง ช่วยประหยัดพลังงาน และรองชนะเลิศอีก 3 ราย ประกอบด้วย ทีม Food Loss Food Waste Thailand พัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับชุมชนผู้ผลิตสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ช่วยให้ขายผลผลิต สอนชุมชนแยกขยะ จัดการบริหารขยะอินทรีย์ที่ต้นทาง ตามความต้องการของชุมชน ทีม Laika ผลิตขนมสุนัขคุณภาพพรีเมียม โดยใช้โปรตีนจากแมลงเป็นวัตถุดิบหลัก และใช้ผักออร์แกนิกคุณภาพดีที่กำลังจะถูกคัดทิ้งจากโรงงานมาเป็นอาหารเลี้ยงแมลงในฟาร์ม ลดปัญหาขยะอาหารส่วนเกิน และทีม Oklin Thailand ผลงานเครื่องกำจัดเศษขยะอาหารเป็นปุ๋ยภายใน 24 ชั่วโมง ผ่านกระบวนการธรรมชาติโดยไม่ต้องเติมหัวเชื้อจุลินทรีย์ ไม่ต้องเปลี่ยนฟิลเตอร์หรือใช้ตัวกรอง

ส่วนโครงการ Shaper in Action : Waste Hero Awards จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาความยั่งยืนในประเทศไทย ตลอดจนการสร้างคุณค่าให้สังคมเชื่อมโยงสู่ระดับภูมิภาคได้ และยังเป็นกิจกรรมที่สอดคล้องกับ 1 ใน 9 ความมุ่งมั่นตามแนวทางสร้างคุณค่า ปราศจากขยะ (Waste to Value) ภายใต้กลยุทธ์ความยั่งยืนใหม่ของซีพีเอฟ “CPF 2030 Sustainability in Action” ซึ่งมีเป้าหมายในการลดขยะอาหารในกระบวนการดำเนินธุรกิจของบริษัทเป็นศูนย์ รวมถึงจัดการบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับบรรจุอาหารให้นำกลับมาใช้ซ้ำ นำมาใช้ใหม่ หรือย่อยสลายได้ 100% ในปี 2573 เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

ทั้งนี้ ซีพีเอฟมุ่งมั่นบริหารจัดการขยะอาหารอย่างมีประสิทธิภาพผ่านกิจกรรมหลายรูปแบบตั้งแต่ต้นทางการผลิต การจัดหาวัตถุดิบอย่างรับผิดชอบ มีเอกสารรับรองตรวจสอบกลับถึงแหล่งที่มาได้ นำเทคโนโลยีทันสมัยทั้งปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligent : AI) และ Internet of Things (IoT) ช่วยการติดตาม วิเคราะห์และประเมินผลที่แม่นยำ เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตลดการสูญเสียและใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน ร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายเครือเจริญโภคภัณฑ์ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2573

ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว ซีพีเอฟได้จัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและความร่วมมือในระดับบุคคล เช่น โครงการ “กินเกลี้ยงเลี้ยงโลก” รณรงค์ให้พนักงานและครอบครัวกินอาหารอย่างรู้คุณค่าไม่เหลือทิ้ง โครงการ “Circular Meal...มื้อนี้เปลี่ยนโลก” เพื่อนำอาหารส่วนเกินที่มีคุณค่าทางโภชนาการไปปรุงเป็นอาหารมื้อพิเศษให้แก่กลุ่มเปราะบาง สร้างคุณค่าและการมีส่วนร่วมของสังคม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากขยะอาหาร และการนำบรรจุภัณฑ์พลาสติกกลับมาจัดการอย่างเหมาะสมตามหลักวิชาการ รวมถึงจัดทำโครงการ “กล้าจากป่า พนาในเมือง” ซึ่งเป็นโครงการ 5 ปี (2564-2568) ส่งเสริมการปลูกต้นไม้ในครัวเรือน สถานประกอบการ พื้นที่สาธารณะและพื้นที่ป่า มีเป้าหมายการปลูกต้นไม้ 100,000 ต้นภายในปี 2568 เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและปริมาณออกซิเจนในอากาศ ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ซีพีเอฟบูรณาการเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals : SDGs) ทั้ง 17 ข้อ มาดำเนินการให้สอดคล้องกับธุรกิจของบริษัทฯ เพื่อเดินหน้าเป้าหมายการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมลดขยะอาหารและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งมีผลต่อการบริโภคและความเป็นอยู่ของประชากรโลกในอนาคต

 

ที่มา: https://mgronline.com/business/detail/9640000104756 

วันที่ 26 ตุลาคม 2564