3.6 หมื่นผู้ส่งออกไทยผวาสหรัฐฯ-อียูเร่งแผนก่อ “คาร์บอนวอร์” บังคับติดฉลาก-จ่ายค่าธรรมเนียมนำเข้า หอการค้า-สภาอุตฯ-สรท. จี้สมาชิกรับมือ โอดทำต้นทุนพุ่งกว่า 10% ห่วง SME ปรับตัวไม่ทันถูกกีดกันการค้า อบก.เผย 685 บริษัท 5,000 ผลิตภัณฑ์ ผ่านรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์แล้ว
ความตกลงปารีส (Paris Agreement) หรือความตกลงลดโลกร้อน ของ 196 ประเทศ คือความพยายามครั้งใหญ่ของมนุษยชาติในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีเป้าหมายท้าทายคือการยับยั้งไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงเกิน 2 องศาเซลเซียส หรือหากทำได้ จะพยายามควบคุมอุณหภูมิโลกให้สูงไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส รวมถึงการจำกัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ให้อยู่ในระดับเดียวกับที่ต้นไม้ ดิน และมหาสมุทรสามารถดูดซับได้ โดยจะมีการทบทวนการมีส่วนร่วมของประเทศสมาชิกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทุก ๆ 5 ปี เพื่อกระตุ้นให้เกิดความพยายามยิ่งขึ้น
อียู-สหรัฐลุยลดโลกร้อน
ในส่วนของสหภาพยุโรป(อียู) ผู้นำในการลดโลกร้อน ได้ประกาศเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจากอย่างน้อย 55% ภายในปี 2573 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2593 และเดินหน้าเรื่องคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (หรือฉลากคาร์บอนที่ระบุถึงปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์แต่ละหน่วย ตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ โดยคำนวณออกมาในรูปของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) เพื่อสร้างทางเลือกให้ผู้บริโภค
ล่าสุดอียูได้ยกร่างกฎหมายมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของอียู (CBAM) คาดจะมีผลบังคับใช้ในปี 2566 นำร่องในสินค้า 5 ประเภทที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงได้แก่ ซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ปุ๋ย และไฟฟ้า และจะขยายให้ครอบคลุมทุกสินค้าและบังคับใช้กฎหมายเต็มรูปแบบในปี 2569 สาระสำคัญคือผู้นำเข้าจะต้องซื้อใบแสดงสิทธิในการปล่อยคาร์บอน (CBAM certificates) เพื่อจ่ายค่าธรรมเนียม หรือ “ค่าปรับ” ในการปล่อยก๊าซฯของสินค้าที่นำเข้า
ส่วนสหรัฐฯที่ได้กลับเข้าร่วมอนุสัญญาฯปารีสแล้ว (หลังถอนตัวออกไปสมัยโดนัลด์ ทรัมป์)ประธานาธิบดีไบเดนได้ประกาศจัดสรรงบ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพื่อภารกิจด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาด และประกาศเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์และเป็นเศรษฐกิจพลังงานสะอาด 100% ในปี 2593 รวมถึงมีแนวโน้มจะบังคับให้สินค้าทั่วโลกรวมทั้งไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯต้องติดฉลากคาร์บอน ซึ่งเมื่อ 2 ตลาดใหญ่ของโลกขยับในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งเปรียบเสมือนการทำสงครามที่เรียกว่า “คาร์บอนวอร์” แม้เป้าใหญ่เพื่อลดโลกร้อน แต่จะส่งผลกระทบการค้าโลกในช่วงถัดจากนี้ไปอย่างแน่นอน
ผู้ผลิตไทยต้นทุนพุ่ง
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า นโยบายลดโลกร้อนของอียูและสหรัฐข้างต้นจะส่งผลกระทบกับผู้ผลิตส่งออกสินค้าไทย จากที่ต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต การเตรียมพร้อมด้านบุคลากร รวมถึงมีค่าใช้จ่ายในการประเมินและรักษาระบบเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจก เบื้องต้นคาดมีผลให้มีต้นทุนสูงขึ้นอีกมากกว่า 10%
“เฉพาะเรื่อง CBAM ของอียูที่จะมีผลบังคับใช้ในเวลาอันใกล้นี้ เบื้องต้นผู้นำเข้าจะเป็นคนจ่ายค่าธรรมเนียมในการปล่อยก๊าซของสินค้านำเข้า ซึ่งจะเป็นอัตราเท่าใดนั้นยังไม่ชัดเจน แต่ผู้นำเข้าก็อาจผลักภาระมาให้ผู้ส่งออก รวมถึงผู้บริโภคปลายทาง ซึ่งอะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น ขณะเดียวกันอียูส่งสัญญาณก่อนหน้านี้ให้สินค้านำเข้าต้องติดฉลากคาร์บอน จากที่เวลานี้ยังเป็นมาตรการสมัครใจ”
3.6 หมื่นบริษัทเร่งรับมือ
เพื่อเตรียมความในเรื่องคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในตลาดอียู สหรัฐ และตลาดอื่น ๆ ผู้ประกอบการส่งออกของไทยได้เตรียมพร้อมรับมือแล้ว โดยจากข้อมูลจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.ที่เป็นผู้รับขึ้นทะเบียนบริษัท และผลิตภัณฑ์เพื่อตรวจประเมินและรับรอง และอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ล่าสุดผ่านการรับรองแล้ว 685 บริษัท รวม 4,900 ผลิตภัณฑ์ ใน 18 กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก โดย 5 อันดับแรกได้แก่ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม, ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์, ก่อสร้าง, พลาสติกและบรรจุภัณฑ์ และหัตถกรรมและเครื่องประดับ จากปัจจุบันบริษัทส่งออกไทยมีกว่า 3.6 หมื่นบริษัท สินค้าส่งออกรวมกว่า 3.6 หมื่นรายการที่ต้องเร่งรับมือ
ห่วงเอสเอ็มอีปรับตัวไม่ทัน
ด้านนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การลดโลกร้อนโดยลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นทิศทางของโลกที่ผู้ประกอบการไทยคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่อีกด้านจะทำให้มีต้นทุนที่สูงขึ้นจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต เครื่องจักร และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ซึ่งรายใหญ่ไม่น่าห่วง เพราะมีทุนและมีความสามารถ แต่ห่วงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ขาดเงินทุนในการปรับเปลี่ยนการผลิต ขอให้ภาครัฐหรือกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีได้เข้ามาช่วยเหลือ
“ห่วงผู้ประกอบการรายเล็กที่เป็นซัพพลายเชนส่งวัตถุดิบให้รายใหญ่ หรือเป็นผู้ส่งออกโดยตรง ที่ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองให้มีมาตรฐานการผลิตที่สูงขึ้น ในอนาคตหากไทยมีการจัดทำเอฟทีเอกับอียู การส่งออกไทยไปตลาดอียูจะเพิ่มขึ้นดังนั้นต้องเร่งปรับตัวเองให้เข้ากับกฎเกณฑ์ที่เขากำหนด หากทำไม่ได้อาจกลายเป็นการถูกกีดกันการค้า เฉพาะอย่างยิ่งเรื่องฉลากคาร์บอนคาดอียูจะบังคับใช้ไม่เกิน 5 ปีนับจากนี้”
แนะแสดงความเห็น CBAM
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การลดโลกร้อนเป็นทิศทางของโลก ตราบใดที่ไทยยังพึ่งพาตลาดส่งออก ผู้ประกอบการก็ต้องเตรียมพร้อมในการปรับตัวเพื่อรองรับกับมาตรการทั้งของภาครัฐและเอกชนของประเทศคู่ค้าเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด ในส่วนของมาตรการ CBAM ล่าสุดอียูได้นำร่างกฎหมายนี้ขึ้นเว็บไซต์เพื่อเปิดรับฟังความเห็นจากทั่วโลกแล้ว หากภาคเอกชนของไทยเห็นอย่างไรก็สามารถเข้าไปแสดงความเห็นได้ และหากเห็นว่าเป็นมาตรการที่ไม่เป็นธรรมหรือเข้มงวดมากเกินไปก็สามารถใช้เวที WTO หรือสอบถามจากคณะกรรมาธิการของสหภาพยุโรปที่อยู่ในไทยได้
อนึ่ง ประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากสุด 5 อันดับแรกของโลก ณ ปัจจุบัน ได้แก่ จีน สัดส่วน 28%, สหรัฐฯ 15%, อินเดีย 7%, รัสเซีย 5% และญี่ปุ่น 3%