บรรจุภัณฑ์แก้ว นับว่าเป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีความแข็งแรงและปลอดภัย ทำให้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากโดยเฉพาะการใช้บรรจุอาหาร เครื่องดื่ม ไปจนถึงสินค้าระดับพรีเมียม แต่อย่างไรก็ตาม บรรจุภัณฑ์ประเภทนี้ยังมีจุดอ่อนในเรื่องน้ำหนักที่ค่อนข้างมากโดยเฉพาะในการขนส่ง เมื่อเมื่อเทียบกับบรรจุภัณฑ์อื่น ๆ อย่างพลาสติกหรือกระดาษ จึงเป็นที่มาของการพัฒนานวัตกรรม Lightweight หรือบรรจุภัณฑ์แก้วที่มีน้ำหนักเบาแต่ยังคงความแข็งแรงเหมือนเดิม เพื่อแก้ปัญหา Pain Point เหล่านี้
มาดูกันว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์แก้วมีการพัฒนานวัตกรรมไปถึงขั้นไหน และท่ามกลางเทรนด์สิ่งแวดล้อมที่กำลังมาแรงอยู่ในขณะนี้ ผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดอย่าง บมจ.บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส (BGC) มีความท้าทายและปรับตัวอย่างไรบ้าง?
BGC โตโดดเด่นสวนตลาด เตรียมเพิ่มพอร์ตผลิตภัณฑ์สู่ธุรกิจกลางน้ำ
ในสถานการณ์ COVID-19 ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความตระหนักเรื่องสุขภาพที่มากขึ้น จนอาจทำให้ความต้องการด้านบรรจุภัณฑ์เกิดการเปลี่ยนแปลงจากในอดีต แต่ BGC ยังสามารถปรับตัว และสร้างการเติบโตได้อย่างโดดเด่นสวนทางกับภาพรวมตลาด โดยผลการดำเนินงานล่าสุดในไตรมาส 2/2564 บริษัทฯ มีรายได้จากการขาย 3,150 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 122 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 53% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยล่าสุด บจ.บีจี แพคเกจจิ้ง (BGP) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายฟิล์มพลาสติก ฝาพลาสติก ขวด PET หลอดพรีฟอร์ม ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ BGC ได้เตรียมขยายกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อน (Flexible Packaging) หรือที่เรียกว่าถุง Pouch เพื่อเป็นการเพิ่มพอร์ตสินค้าและตอบสนองความต้องการของตลาดกลุ่มนี้ที่มีอัตราการเติบโตสูง ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนการลงทุนที่จะขับเคลื่อนธุรกิจ BGC สู่เป้าหมายรายได้ 2.5 หมื่นล้านบาท ภายในปี 2025 และบริษัทฯ ยังวางแผนลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาในสัดส่วนถึง 0.5% ของยอดขายรวม และตั้งเป้าผลักดันยอดขายสินค้านวัตกรรมเพิ่มเป็น 25% ของยอดขายรวมในปี 2025 จากสัดส่วน 17% ในปีนี้ (ประมาณการ)
BGC ตอกย้ำผู้นำด้านนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ กับ ‘ศูนย์ Technology and Innovation Center (TIC)’
เพื่อให้บริษัทฯ สามารถเติบโตและยกระดับสู่การเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรหรือ Total Packaging Solutions ตามเป้าหมายที่วางไว้ BGC จึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการพัฒนาด้านนวัตกรรม โดยบริษัทฯ มีการลงทุนด้านวิจัยและนวัตกรรมมาอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา
และในปี- 2564 BGC เตรียมลงทุนด้านเทคโนโลยีการผลิตกว่า 200 ล้านบาท รวมทั้งวางแผนลงทุนเพิ่มอีก 320 ล้านบาทในปีหน้า เพื่อพัฒนากระบวนการผลิตให้เป็นระบบอัตโนมัติและใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์มากขึ้น โดยบริษัทฯ เตรียมยื่นจดทะเบียนสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรเพิ่มขึ้น 60% จากปีที่ผ่านมา
ปัจจุบันบริษัทฯ มีศูนย์ Technology and Innovation Center (TIC Office) ซึ่งใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 25 ล้านบาท โดยเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมพื้นที่สำนักงาน ห้องปฏิบัติการ และระบบจำลองกระบวนการผลิต กว่า 1,020 ตารางเมตร ตั้งอยู่ภายในพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางในการพัฒนานวัตกรรมในประเทศไทย โดยได้รับความร่วมมือกับภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัย เพื่อทำการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง
ดร.อรธิดา แซ่โค้ว ผู้จัดการศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หัวเรือใหญ่ของศูนย์ TIC เล่าถึงภารกิจของหน่วยงานว่า ศูนย์ TIC เป็นเสาหลักด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของ BGC ตั้งแต่การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับกระบวนการผลิตของโรงงานแก้วทุกแห่งของ BGC ไปจนถึงการต่อยอดสร้างสรรค์บรรจุภัณฑ์ ให้สามารถแก้ Pain Point ของลูกค้า รวมถึงพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ Market Trend ในปัจจุบันและอนาคต
“ที่ผ่านมา BGC มีการวิจัยและพัฒนาด้านนวัตกรรมมาโดยตลอด จนกระทั่งมีการปรับโครงสร้างการทำงานให้ชัดเจนมากขึ้นและจัดตั้งเป็นศูนย์ TIC ในช่วงต้นปี ซึ่งเป็นการรวบรวมทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์จากสาขาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นนักวิจัย วิศวกร และนักวิเคราะห์ทดสอบ โดยเป็นผู้จบปริญญาเอก (ระดับ Ph.D.) กว่า 30% ของบุคลากรทั้งหมด และจะเพิ่มจำนวนบุคลากรในศูนย์นี้อีก 2 เท่าตัว ภายในปี 2025”
“การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมของศูนย์ TIC จะเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของตลาดและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การตรวจสอบคุณภาพ และเพิ่มระบบการทำงานแบบ automation เพื่อให้กระบวนการทั้งหมดได้ตามมาตรฐาน ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ออกมาจะต้องมีความแข็งแรงได้มาตรฐาน และมีคุณสมบัติตรงกับความต้องการของตลาด เพราะฉะนั้น เราจะเน้นการทำงานที่มีความใกล้ชิดกับลูกค้า เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันก็ต้องรองรับการใช้งานของผู้บริโภคที่เป็น End User ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ BGC พัฒนาไปสู่การเป็น Total Packaging Solutions ตามเป้าหมายที่วางไว้”
ด้วยศักยภาพของบุคลากรและความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทำให้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ศูนย์ TIC มีผลงานนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์และช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบรรจุภัณฑ์ของ BGC อย่างต่อเนื่อง อาทิ เครื่องตรวจวัดออกซิเจน (Oxygen Sensor) ซึ่งเป็นหนึ่งในระบบตรวจสอบประสิทธิภาพการเผาไหม้ในขั้นตอนการผลิตขวดแก้ว ณ เตาหลอมแก้วและรางน้ำแก้ว
“การตรวจวัดออกซิเจนในขณะที่หลอมขวดแก้ว จะทำให้การเผาไหม้เป็นไปอย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ ซึ่งนอกจากจะมีผลต่อคุณภาพของขวดแก้วที่ผลิตออกมาแล้ว ยังสามารถลดการใช้พลังงาน และลดมลพิษที่อาจจะเกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดภาวะโลกร้อนอีกด้วย”
นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ รับเทรนด์สิ่งแวดล้อม
บรรจุภัณฑ์แก้วที่มีน้ำหนักเบา (Lightweight) เป็นนวัตกรรมล่าสุดของ BGC ซึ่งเป็นขวดแก้วที่เบากว่าขวดแก้วทั่วไป แต่ยังคงคุณสมบัติอื่น ๆ ที่จำเป็นไว้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นความแข็งแรง ทนทาน ไปจนถึงความปลอดภัย และยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งในขั้นตอนการผลิตและการขนส่ง โดย BGC ถือเป็นผู้ประกอบการรายแรกในประเทศ ที่สามารถพัฒนานวัตกรรมดังกล่าวในกลุ่มบรรจุภัณฑ์สำหรับซอสและเครื่องปรุงรสแบบขวดใหญ่ ที่มีความจุมากกว่า 600 มิลลิลิตร ได้สำเร็จ
ไม่เพียงนวัตกรรม Lightweight แต่ BGC ยังอยู่ระหว่างวิจัยและพัฒนาไปสู่ Ultra-Lightweight หรือบรรจุภัณฑ์แก้วที่มีน้ำหนักเบากว่าบรรจุภัณฑ์แบบ Lightweight ในปัจจุบัน ซึ่งจะมีน้ำหนักเบาในระดับที่ใกล้เคียงกับขวดพลาสติกเลยทีเดียว โดยการพัฒนาครั้งนี้จะทำควบคู่ไปกับการส่งเสริมคุณสมบัติเรื่องความแข็งแรง รวมทั้งกระบวนการผลิตที่จะมีความเป็น Automation มากขึ้น
ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นว่า แม้ BGC จะเป็นหนึ่งในผู้นำและเป็น Big Player ของอุตสาหกรรมอยู่แล้ว แต่บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนากระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์อยู่เสมอ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทำให้ BGC สามารถสร้างการเติบโตได้แม้อยู่ในภาวะวิกฤต และยังเป็นการเสริมศักยภาพให้บริษัทฯ ก้าวสู่การเป็นผู้นำในอาเซียนด้านการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์แก้วตามวิชั่นที่ตั้งไว้ …
ที่มา: https://www.marketingoops.com/news/biz-news/bgc-packaging-development-strategy