ตรัง - มทร.ศรีวิชัย ผลักดันนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์อาหาร “จานใบจาก” สู่เชิงพาณิชย์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพราะปลอดภัยกับผู้บริโภคและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทดแทนการใช้พลาสติกและกล่องโฟม
วันนี้ (11 ต.ค.) ชุมชนบ้านทุ่งกระบือ อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง ประชากรในพื้นที่นอกจากจะประกอบอาชีพทำสวนยางและทำการประมงแล้ว ยังมีอาชีพเสริมจาก “ต้นจาก” พืชเศรษฐกิจในชุมชนที่มีความสำคัญและสร้างรายได้ให้ชุมชนบ้านทุ่งกระบือได้เป็นอย่างดี จากรวมกลุ่มจัดตั้งเป็น “วิสาหกิจชุมชนทุ่งกระบือร่วมใจพัฒนา” โดยมี นางแช่ม เพ็ชรจันทร์ เป็นประธานกลุ่ม
ซึ่งจัดตั้งกลุ่มขึ้นเพื่อส่งเสริมด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ เพื่อความยั่งยืนและคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยการนำใบจากมาลอกตากแห้งเพื่อทำมวนบุหรี่ ส่วนของก้านจากได้นำมาสานเป็นตะกร้ารูปทรงต่างๆ และยังมีการผลิตน้ำตาลจากด้วย ซึ่งผลผลิตที่ได้เหล่านี้ถึงแม้จะมีความต้องของตลาดเป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่เพียงพอต่อการบริหารจัดการ จึงมีการนำกำไรส่วนหนึ่งที่ได้จากการขายสินค้ามาใช้ในกิจกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มีพันธกิจในการสร้างงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรม สู่การนำไปใช้ประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งจากการดำเนินโครงการวิจัยพัฒนาพื้นที่ นำโดย รศ.ดร.ชาตรี หอมเขียว อาจารย์สังกัดคณะวิศวกรรมศาสตร์ และทีมวิจัย ได้ลงพื้นที่ในตำบลทุ่งกระบือ อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง และพัฒนาการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากใบจาก มาเป็นภาชนะบรรจุอาหาร นอกจากจะสร้างความแตกต่างทางด้านการตลาดสร้างจุดสนใจให้ลูกค้าแล้ว ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งปลอดภัยกับผู้บริโภคที่ใช้ผลิตภัณฑ์ภาชนะบรรจุอาหารที่ผลิตมาจากวัสดุธรรมชาติ ทดแทนการใช้พลาสติกและกล่องโฟม
โดยได้ภาชนะบรรจุอาหาร 3 รูปแบบ ประกอบด้วย จานใบจาก และจานอาหารว่างใบจาก ใบเล็ก ราคา 5 บาท ใบใหญ่ ราคา 10 บาท ส่วนกล่องใบจาก ราคาใบละ 15 บาท ซึ่งทางกลุ่มสามารถผลิตและส่งขายได้ประมาณเดือนละ 600-700 ใบ
รศ.ดร.ชาตรี หอมเขียว หัวหน้าโครงการวิจัยนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์อาหารรักษ์โลกจากใบจาก กล่าวว่า คณะทำงานทีมวิจัยมหาวิทยาลัยได้เข้าไปทำการศึกษาวิจัย และเป็นที่ปรึกษาให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทุ่งกระบือร่วมใจพัฒนา ในการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารรักษ์โลกจากใบจาก เพื่อศึกษาวิเคราะห์ถึงการขึ้นรูปเป็นภาชนะอาหารบรรจุอาหาร โดยการนำแป้งสาคูมาทดลองใช้เป็นตัวประสานช่วยในการขึ้นรูปภาชนะ เนื่องจากแป้งสาคูเป็นผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น ซึ่งมีประสิทธิภาพใช้เป็นตัวประสานใบจากดีกว่าการใช้แป้งมันสำปะหลัง นอกจากนั้น ยังได้มีการวิเคราะห์ต้นทุน ระยะเวลาในการผลิต และความแข็งแรงต่อการนำมาใช้งาน พบว่าเกิดความคุ้มค่ามากกว่าเดิม
โดย “จ๊ะสาว” นางจุรี ชัยมี อายุ 64 ปี เจ้าของร้านขายข้าวหมกไก่ ข้าวหมกทะเล ชาวตำบลทุ่งกระบือ อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ตนเองใช้กระดาษเคลือบพลาสติก กล่องโฟม และจานพลาสติก ในการบรรจุข้าวหมกไก่ให้ลูกค้ามาโดยตลอด แต่หลังจากได้มีการรณรงค์ให้ลดการใช้พลาสติก จึงเริ่มหารือร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทุ่งกระบือร่วมใจพัฒนา ก่อนนำจานใบจากมาใช้แทนกล่องบรรจุอาหาร ซึ่งจากการสอบถามลูกค้าพบว่า จานใบจากนอกจากจะมีกลิ่นหอมแล้ว ยังสามารถใช้ซ้ำได้ 2-3 ครั้ง และย่อยสลายได้เร็ว จึงปลอดภัยต่อผู้บริโภค เพราะผลิตจากวัสดุธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์