ทำความรู้จักแคมเปญสุดครีเอทเพื่อเติมเต็มช่องว่างทางการศึกษาจาก ‘เขาค้อทะเลภู’ ที่ทั้งสร้างสรรค์ และเปิดโอกาสให้ชีวิตเด็กไทย

เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงได้เห็นผลิตภัณฑ์แชมพูธรรมชาติ ‘เขาค้อทะเลภู’ ที่มีฉลากเป็นลายมือเด็กที่ได้เติมคำเข้าไปในสุภาษิตไทยแบบผิด ๆ ถูกๆ ซึ่งได้รับการพูดถึงและนำไปแชร์ต่อกันอย่างกว้างขวางบนโลกออนไลน์ แต่ใครจะรู้ถึงเบื้องลึกที่มาที่ไปและเป้าหมายของการทำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวบ้าง ว่ามีความน่าสนใจมากๆ และวันนี้เราจะพาไปค้นคำตอบกัน

แบรนด์ ‘เขาค้อทะเลภู’ ถือเป็นหนึ่งแบรนด์ไทยที่ได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเรามักจะได้เห็นแบรนด์นี้ทำแคมเปญต่าง ๆ ที่สร้างสรรค์สามารถกระตุ้นความสนใจจากสังคมได้เป็นอย่างดี

ยกตัวอย่างในปี 2562 กับการ Rebranding ครั้งสำคัญ ซึ่งโฟกัสไปยังกลุ่มคนเมือง โดยเฉพาะคนวัยทำงาน ด้วยการดีไซน์โฆษณาที่โดดเด่น ภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘ผมไม่ร่วงง่ายๆ’ ออกแบบให้นางแบบห้อยหัว และเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ ทางแบรนด์เลือกจะสื่อสารการตลาดผ่านสื่อ Out of Home ในรูปแบบหลากหลายที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของคนเมืองวัยทำงาน ไม่ว่าจะเป็นป้ายโฆษณาหน้าร้านสะดวกซื้อ, Bus Side, Bus Back และรถไฟฟ้า BTS ทั้งตัวขบวนรถไฟฟ้าและที่สถานี

ความครีเอท บวกกับการวางกลยุทธ์สื่อสารทางการได้ตรงจุด ทำให้แคมเปญนี้ได้รับความสนใจ (ปนสงสัย) เป็นอย่างมาก กลายเป็นไวรัลให้คนที่ได้พบเห็น ต้องกลับไปค้นหาที่มาที่ไปของแคมเปญและข้อมูลของผลิตภัณฑ์ จนแบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้น

มาถึงแคมเปญสนับสนุนและช่วยเหลือด้านการศึกษาที่ทาง ‘เขาค้อทะเลภู’ ได้นำเอาภาพวาดฝีมือเด็กด้อยโอกาส ที่ได้เติมคำเข้าไปในสุภาษิตไทยแบบผิดๆ ถูกๆ มาปรับใช้กับฉลากบรรจุภัณฑ์ขายดีที่สุดของแบรนด์ ทั้งแชมพูสมุนไพรสูตรมะกรูด-ใบบัวบก และแชมพูสมุนไพร สูตรอัญชัน-กะเม็ง

ความจริงแล้วแคมเปญนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง ‘เขาค้อทะเลภู’ ร่วมมือกับโครงการ Limited Education เปลี่ยนการศึกษาไทย ให้เป็นของ (ไม่) ลิมิเต็ด ในคอนเซปต์ ‘ได้ช้อป ได้ช่วย’ โดยวัตถุประสงค์หลัก เพื่อระดมทุนช่วยเหลือการศึกษาให้กับเด็กด้อยโอกาสและโรงเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ผ่านสินค้ารุ่นพิเศษ ที่จำหน่ายเฉพาะร้าน 7-eleven โดยการซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าว 1 ขวด เท่ากับได้บริจาค 5 บาท

เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า ‘การศึกษา’ ถือเป็นปัจจัยสำคัญ ในสร้างโอกาสของชีวิตให้กับผู้คนและพัฒนาประเทศ แต่ยังมีเด็กไทยจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงโอกาสนี้ ซึ่งความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ได้ฝังรากลึกในสังคมไทยมานาน และชัดเจนมากขึ้น ในช่วงล็อกดาวน์และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่จะเห็นได้ว่าเกิดความยากเย็นทางการศึกษาไม่น้อย ทั้งจากการศึกษาทางไกลผ่านทางโทรทัศน์และการเรียนออนไลน์ ที่มีเด็กจำนวนมากในประเทศไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์การเรียนรู้ บางพื้นที่ไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต ฯลฯ

ภาพเหล่านี้ ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงช่องว่างและปัญหาของโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาแบบเท่าเทียมของเด็กไทยได้อย่างชัดเจน และเป็นเหตุผลให้ ‘เขาค้อทะเลภู’ ทำแคมเปญนี้ขึ้นมา โดยการสื่อสารผ่านสุภาษิตไทยที่ถูกเติมเข้าไปแบบผิดๆ ถูกๆ นี้ อาจถูกมองเป็นหนึ่งในกิมมิคของแคมเปญ

แต่ในความเป็นจริงแล้วภายใต้การเติมสุภาษิตที่ผิดนั้น กำลังสะท้อนความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา อันเกิดจากความไม่รู้ของเด็ก ๆ เพราะขาดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งส่งผลให้มีปัญหาการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ตามมานั่นเอง เรียกได้ว่า ‘เขาค้อทะเลภู’ ตีความวัตถุประสงค์ของแคมเปญและสื่อสารออกมาผ่านสินค้าขายดีของแบรนด์ได้อย่างตรงไปตรงมา เพราะไม่ใช่แค่เชิญชวนให้บริจาค ยังสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไปพร้อมๆ กัน ด้วยการเป็นโครงการดี ๆ บวกกับมีไอเดียสุดครีเอทนี่เอง เพจดังมากมายจึงได้ร่วมกันโปรโมทสินค้าและช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์รุ่น Limited Education ของเขาค้อทะเลภู ทำให้แคมเปญดังกล่าวได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม ทำให้สินค้านี้ได้กลายเป็นแรร์ไอเทมที่ผู้บริโภคตามล่าหาซื้อ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเติมเต็มช่องว่างทางการศึกษาให้กับเด็กไทย

ขณะเดียวกันผู้คนได้มีกระแสการพูดถึงแคมเปญดังกล่าว และชื่นชมแบรนด์เขาค้อทะเลภูเป็นจำนวนมาก จนกลายเป็นไวรัลส่งต่อกันบนโลกออนไลน์ โดยส่วนใหญ่แสดงความคิดเห็นว่า นอกจากจะได้ร่วมทำบุญกับโครงการดี ๆ แบบนี้แล้วยังได้ใช้โปรดักท์ธรรมชาติที่ดีมีคุณภาพอีกด้วย

‘เขาค้อทะเลภู’ ถือเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาของแบรนด์ที่ทำให้คนตกหลุมรัก และอยู่ในใจผู้บริโภคตลอดเวลา เพราะไม่เพียงมีดีที่ ‘โปรดักท์’ แต่ทุกแคมเปญที่ทำออกมายังผ่านการคิดและสร้างสรรค์ออกมาในรูปแบบแปลกใหม่อยู่เสมอ สำคัญไปกว่านั้น คือ ยังช่วยผลักดันสังคมให้น่าอยู่และดีขึ้นยิ่งขึ้น จึงเป็นแบรนด์ไทยที่น่าจับตามองมากๆ ในยุคนี้เลยก็ว่าได้

 

ที่มา: https://www.marketingoops.com/news/biz-news/khaokho-talaypu/ 

วันที่ 28 กันยายน 2564