DITP ร่วมกับสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย ผลักดันผู้ประกอบการสินค้าไทยมุ่งสู่ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ตอบรับกระแสการค้าโลก ด้วยการจัดระบบหีบห่อและการใช้วัสดุของบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสถานการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะกับสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล สภาพภูมิอากาศ หรือการผลิตปศุสัตว์ ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ได้กระตุ้นให้ผู้คนหันกลับมามองวิถีการดำรงชีวิตของตัวเองว่าไปกระทบกับสิ่งแวดล้อมหรือไม่ นานาประเทศต่างตื่นตัวโดยเฉพาะการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-Use Plastic) ผู้คนตระหนักและเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ลดการใช้ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ใช้ครั้งเดียวทิ้ง แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน กลายเป็นแนวคิดที่ผู้ผลิตและผู้บริโภคทั่วโลกต้องหันมาให้ความสำคัญ นอกจากนี้หลายประเทศยังออกกฎระเบียบมากมาย
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จึงได้ร่วมกับสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทยจัด กิจกรรมส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการจัดการระบบหีบห่อ และการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ Circular Packaging towards BCG ภายใต้แนวคิด The Future is Circular สอดรับกับโมเดลเศรษฐกิจแบบ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ของรัฐบาล และนโยบาย ตลาดนำการผลิต ของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) เพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการส่งออกไทยให้ได้ปรับตัวและเตรียมพร้อมสู่การค้าในระดับโลกอย่างเข้มแข็งจากการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้สอดคล้องกับเทรนด์ตลาดโลก โดยมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยกว่า 20 แบรนด์ เข้าร่วมกิจกรรมอบรมสัมมนา ให้คำปรึกษาเชิงลึก พร้อมทั้งนำไอเดียใหม่ๆ จากผู้เชี่ยวชาญไปปรับการจัดการหีบห่อและกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์ของตนเอง เพื่อนำไปใช้กับสินค้าที่กำลังจะผลิตออกมา
การเป็นมากกว่ากล่องสินค้าของ PASAYA
นางสาวตะวันนา บานแย้ม Senior Visual Merchandising บริษัท เท็กซ์ไทล์ แกลลอรี่ จำกัด หรือพาซาญ่า (PASAYA) เล่าถึงเป้าหมายของการเป็น Circular ที่ครบวงจรว่า พยายามหาบรรจุภัณฑ์ในรูปแบบที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุดมาสักระยะหนึ่งแล้ว เคยคิดจะหนีออกไปจากพลาสติกแต่ก็ไม่อยากใช้กระดาษเพราะจะมีปัญหาเรื่องความชื้นเนื่องจากสินค้าเป็นผ้า พอมาทำรูปแบบถุงซิบล็อกเพื่อให้เกิดการนำกลับมาใช้ใหม่ (reuse) ก็พบปัญหาเรื่องการจัดแสดงสินค้า การจัดเก็บ การขนส่ง และมีความเสียหายเกิดขึ้นระหว่างทาง อาจเพราะว่าดีไซน์ที่ออกแบบไปยังไม่เหมาะสมเท่าไร จึงปรึกษา นายธีรชัย ศุภเมธีกุลวัฒน์ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบ แบรนด์ Qualy ผู้เชี่ยวชาญของโครงการถึงปัญหานี้ ซึ่งได้รับคอมเม้นต์ในสิ่งที่เคยทำไปอย่างจริงใจว่าเกิดจากอะไร และจะแก้ปัญหาไปในทิศทางใด ซึ่งวิธีการแก้ปัญหานั้นใช้ได้จริงและเอาไปปรับใช้กับส่วนอื่นได้
เดิมทีกล่องสินค้าที่เลือกมาพัฒนารูปแบบคือกล่องของรุ่น PASAYA BAZICS ที่เป็นพลาสติกแบบ PP แต่เมื่อคุยไปเรื่อยๆ จึงพบว่ากล่องสินค้าอีกรุ่นที่มีแบรนด์ PASAYA บนกล่องเลยนั้นเป็นพลาสติกแบบ PET ที่ย่อยสลายได้ จึงหันมาพัฒนารุ่นนี้แทนเพื่อใช้กับสินค้าทุกรุ่น จะทำให้ต้นทุนต่ำลงเพราะผลิตได้มากขึ้น โดยดีไซน์ของกล่องแบบใหม่จะเปลี่ยนจากฝาล็อกเดิม เป็นลิ้นเสียบให้ดูเป็นแฟ้มหรือกระเป๋าเอกสารมากขึ้น เจาะรูเพิ่มสายริบบิ้นที่เป็นแบรนด์ PASAYA สำหรับไวใช้เป็นหูกระเป๋า เพราะจะไม่มีแบรนด์ที่กล่องอีกแล้ว และจะแนบกระดาษอธิบายถึงไอเดียการ reuse กล่องสินค้าเข้าไปด้วย แต่ลูกค้าก็สามารถ DIY การใช้งานในแบบที่ตัวเองชอบได้เช่นกัน ตั้งใจจะนำไปใช้กับสินค้าคอลเล็กชั่นใหม่ที่จะออกในเดือนตุลาคม - พฤศจิกายนนี้เลย แม้จะต้องใช้เวลาในการสื่อสารกับลูกค้าสักระยะในเรื่องการเปลี่ยนแปลง แต่แบรนด์ก็มองถึงประโยชน์ในระยะยาว ที่จะเกิดขึ้นทั้ง ecosystem
ลังใหญ่ที่ต้องใช้ได้ทุกขนาดสินค้า
นางสาวณัฐวรินทร์ จงมนรุ่งโรจน์ เจ้าของแบรนด์นาโรเซ่ (Narose) ผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผมที่ทำจากธรรมชาติ กล่าวว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้ไปออกงานแฟร์ที่ต่างประเทศและการได้จับคู่เจรจาธุรกิจ โดยเฉพาะกับลูกค้ายุโรป ทำให้ทราบถึงความต้องการสินค้าที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เน้นแนวคิด Zero Waste หรือสามารถรียูสได้ ดังนั้นเมื่อแบรนด์ผลิตสินค้าเพื่อส่งออกเป็นหลัก ก็ต้องคำนึงถึงเรื่องนี้เป็นสำคัญ และประกอบกับเป็นสิ่งที่ทางแบรนด์มีความตั้งใจในเรื่องรักษ์โลกอยู่แล้ว จึงเริ่มปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ให้เป็นธรรมชาติมากที่สุดขนาดที่หากทิ้งลงไปในน้ำก็ไม่เกิดผลเสียต่อธรรมชาติและเลือกใช้ขวด PET แต่ยังมีปัญหาเรื่องกล่องบรรจุสินค้าขนาด 12 ชิ้น ที่พบว่าเมื่อจำหน่ายสินค้าปลีกไม่ถึง 12 ชิ้นต้องไปซื้อกล่องใหม่มาบรรจุเพื่อส่งให้ลูกค้า ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นอีกทั้งกล่องที่มีอยู่ก็นำไปใช้อะไรต่อไม่ได้กลายเป็นขยะ ผศ.ธนารักษ์ จันทรประสิทธิ์ หัวหน้าภาควิชาศิลปอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้เชี่ยวชาญ จึงช่วยออกแบบกล่องให้ใส่ได้ 12 ชิ้นเหมือนเดิม แต่เพิ่มผนังกล่องเข้ามาเพื่อให้สามารถแยกใส่ได้แบบ 6 ชิ้น สามารถดึงออกมาเพื่อส่งไปรษณีย์ได้เลย อีกทั้งยังทำรอยปรุให้พับลงมาได้สำหรับการบรรจุสินค้าที่มีขนาดความสูงต่างจากรุ่นอื่นได้ด้วย ทำให้ไม่ต้องซื้อกล่องมาใหม่ กล่องขนาดเดียวนี้แต่บรรจุได้ทุกขนาดและได้จำนวนที่ต้องการ สามารถลดต้นทุน Zero Waste และไม่ต้องติดกาว ขณะเดียวกันกล่องสินค้าแบบชิ้นเดียวก็มีการเปลี่ยนด้านในเป็นเยื่อไม้ที่ย่อยสลายได้ดีขึ้น ไม่เน้นความสวยงามด้านในที่ต้องเป็นกระดาษขาวเพราะต้องนำกระดาษมาติดอีกชั้น แต่ให้ความสำคัญกับลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากกว่า นวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะช่วยทำให้แบรนด์มีคุณค่า มีเรื่องราวในการนำเสนอสินค้ากับคู่ค้าได้มากขึ้น มั่นใจว่าจะช่วยเพิ่มโอกาสในการจำหน่ายสินค้าเมื่อมีโอกาสได้ไปออกงานแฟร์ที่ต่างประเทศในอนาคต
สิ่งสำคัญที่ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมนี้นอกจากความรู้แล้ว ยังเป็นทางลัด (short cut) ที่ไม่ต้องเสียเวลาและเสียต้นทุนกับการซื้อมาทดลองเอง แต่ได้ผู้เชี่ยวชาญที่เป็นมืออาชีพให้คำปรึกษา ทำให้ขั้นตอนชัดเจนและไปถูกทาง การสร้างแบรนด์นั้นยาก แต่รักษาแบรนด์ให้คงอยู่ยิ่งยากกว่า เมื่อลูกค้าซื้อสินค้าแล้วก็อยากให้ประทับใจในทุกส่วนของผลิตภัณฑ์ คุณค่าที่ได้รับคือความภูมิใจและภาพลักษณ์ที่ดีของแบรนด์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน
เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์เพื่อการส่งออก
นายปริยะ ศิริกุล เจ้าของแบรนด์มัดใจ (Mudjai) ผู้ผลิตอาหารจากพืช (Plant based) โดยใช้เห็ดแครงแทนถั่ว เล่าว่า มีเป้าหมายที่จะขยายตลาดไปต่างประเทศโดยเฉพาะยุโรปและอเมริกา อีกทั้งมีแนวคิดว่าในเมื่อผลิตอาหารที่ทำมาจากพืชที่ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมอยู่แล้วก็ควรมีบรรจุภัณฑ์ที่ตอบโจทย์การย่อยสลายในธรรมชาติได้ด้วยเช่นกัน ของเดิมเป็นพลาสติกธรรมดาที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ ก็ได้รับคำแนะนำจาก นายโชตินรินทร์ วิภาดา ผู้เชี่ยวชาญของสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย ผู้เชี่ยวชาญของโครงการในการเปลี่ยนวัสดุเป็นพลาสติกแบบย่อยสลายได้ แต่ในประเทศไทยยังไม่มีผู้ผลิตจึงต้องประสานกับซัพพลายเออร์ที่ต่างประเทศ โดยได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ แม้จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นแต่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่แข่งขันในตลาดและเดินต่อได้ ผู้ประกอบการหลายคนอาจจะคิดว่าแนวคิดเศรษฐกิจแบบ BCG นั้นไกลตัว แต่จริงๆ เริ่มใกล้เข้ามามาก เพราะตลาดต่างประเทศให้ความสำคัญเรื่องนี้ สินค้าที่จะนำไปขึ้นชั้นสินค้าที่ยุโรปได้จะต้องเป็นสินค้าที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นสินค้าหมุนเวียน ซึ่งผู้ที่ต้องการส่งออกต้องปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์โลก
Craft ตั้งแต่หีบห่อถึงผลิตภัณฑ์
นางจิรายุณัฐ อัจฉริยะขจร เจ้าของแบรนด์ช็อกโกแลตทำมือที่มีชื่อเสียงของจังหวัดนครศรีธรรมราชอย่างวัน มอร์ ไทย คราฟท์ ช็อกโกแลต (One More Thai Craft Chocolates) ซึ่งทำด้วยวิธีโฮมเมดตั้งแต่ต้นจนจบด้วยความประณีตพิถีพิถัน ได้เล่าว่า เป็นความตั้งใจและใฝ่ฝันอยากจะมีรูปแบบของบรรจุภัณฑ์ Circular Packaging ซึ่งสอดคล้องกับสินค้าและวิธีคิดของแบรนด์ตั้งแต่แรกแต่ยังไม่มีโอกาสพัฒนาอย่างจริงจัง จากวิธีเดิมในงานช็อกโกแลตของแบรนด์คือใช้ฟอยล์ห่อปกป้องช็อกโกแลตบาร์ก่อนห่อกระดาษอีกชั้น และติดสติ๊กเกอร์ อีกวิธีคือบรรจุในถุงฟอยล์หน้าพลาสติกซิปล็อก ซึ่งพบว่ารีไซเคิลได้ยาก ทั้งยังส่งมอบถึงมือลูกค้าได้ไม่สวยงามและดีพอเท่าที่ตั้งใจไว้ และไม่สามารถสื่อสารถึงคุณค่าของสินค้าได้มากเท่าที่ควรจะเป็น
บรรจุภัณฑ์รุ่นใหม่ที่ได้พัฒนาต่อยอดจากโครงการนี้ จะช่วยลดการใช้ถุงฟอยล์พลาสติกและสติ๊กเกอร์ลงอย่างมาก โดยจะใช้ฟอยล์ซึ่งรีไซเคิลได้เฉพาะแค่ในการห่อตัวช็อกโกแลตแล้วนำบรรจุในกล่องกระดาษรักษ์โลก จะทำให้สะดวกปลอดภัยในการนำส่งช็อกโกแลตถึงมือลูกค้าและยังมีความสวยงามด้วยโลโก้แบรนด์ที่เป็นลายเส้นไม่เน้นสีสันมากนัก ทั้งหมดจะสะท้อนความเป็นคราฟท์ตั้งแต่บรรจุภัณฑ์ภายนอกจนถึงสินค้าภายใน และพิเศษยิ่งกว่านั้นคือแนวคิดการจัดโปรโมชั่นช็อกโกแลตรักษ์โลกให้ลูกค้าสะสมฟอยล์แล้วส่งกลับมาแลกเป็น Special chocolate Bars จากนั้นทางแบรนด์จะรวบรวมฟอยล์จนมีน้ำหนักมากพอเพื่อนำเข้าไปสู่กระบวนการรีไซเคิลต่อไป ทั้งนี้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยปลูกจิตสำนึกให้ผู้บริโภคได้ร่วมกันตระหนักถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมโลก
การเข้าร่วมกิจกรรมนี้ นางสาวภัทรา คุณวัฒน์ รองเลขาธิการสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย ผู้เชี่ยวชาญจากโครงการได้ช่วยแนะนำและให้ไอเดียการเลือกวัสดุธรรมชาติมาทำบรรจุภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ได้หลายแนวทาง ซึ่งเป็นการเปิดโลกทรรศน์ให้ แบรนด์ช็อกโกแลตท้องถิ่นเตรียมตัวก้าวสู่ตลาดโลกในระดับสากลตามแนวทาง BCG แม้วันนี้กำลังการผลิตยังไม่พร้อมส่งออก แต่ตั้งใจเตรียมความพร้อมให้แบรนด์ก้าวหน้าต่อไปบนรากฐานที่แข็งแรง ผู้ประกอบการไทยไม่ว่าจะรายเล็กหรือใหญ่ หากมีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมจะเป็นประโยชน์และสามารถนำไปสู่การปรับภาพลักษณ์ของแบรนด์ช่วยพัฒนาต่อยอดเพิ่มมูลค่าทางการตลาดได้อย่างแน่นอน
Refill Bag in Box เจาะตลาดรักษ์โลก
นายธวีโรจน์ ธนธรธรรม เจ้าของแบรนด์ออร์ก้า (ORGA) ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหนังสัตว์เลี้ยงที่ผลิตจากสารสกัดจากผลไม้ตามธรรมชาติปราศจากสารมีที่เป็นอันตรายต่อผิวหนังมนุษย์และสัตว์เลี้ยง (SLS, SLES) ที่เป็นสาเหตุขนร่วง ผื่นคัน และมะเร็งผิวหนัง เล่าว่า ผู้เลี้ยงสัตว์เลี้ยงในต่างประเทศโดยเฉพาะในสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และไต้หวันให้ความสนใจผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติ เพราะตระหนักแล้วว่าสารเคมีที่มาจากปิโตรเลียมเป็นอันตรายต่อ มนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม หลังจากค้นคว้าข้อมูลพบว่าการที่ผู้เลี้ยงสัตว์ใช้สินค้ามากขึ้นจะก่อให้เกิดขยะจากบรรจุภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นขวด พลาสติกฟิล์มหด สติกเกอร์ฉลากมากขึ้นด้วยเช่นกัน และในสหภาพยุโรปขณะนี้เทรนด์การเติมสินค้า (Products Refill) กำลังได้รับความนิยมเพราะช่วยลดขยะและพลาสติกได้มาก จึงปรึกษากับ อ.ศุภเดช หิมะมาน หัวหน้าสาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้เชี่ยวชาญ เกิดเป็นไอเดียการจำหน่ายสินค้าในรูปแบบ Refill โดยเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ขนาด 5 ลิตรจากแกลลอนพลาสติก ไปเป็นถุงบิ๊กแบ๊กรีไซเคิล มีจุกก๊อกให้น้ำยาไหลออกมา แล้วบรรจุในกล่องอีกชั้นเพื่อความปลอดภัยต่อการขนส่ง มีน้ำหนักที่เบาขึ้น ซึ่งช่วยลดวัสดุสิ้นเปลืองและสามารถรีไซเคิลได้ทั้งหมด
สำหรับผลิตภัณฑ์รูปแบบ Refill Bag in Box ขนาด 5 ลิตร จะช่วยลดการใช้ขวดพลาสติกได้ถึง 20 ขวด และไมโครพลาสติกที่เป็นฉลากได้ถึง 20 ชิ้นเหมาะสำหรับบ้านที่เลี้ยงสุนัขหลายตัวหรือเลี้ยงสุนัขพันธุ์ใหญ่ ตลอดจนร้าน Grooming ที่ต้องใช้จำนวนมาก อีกทั้งในต่างประเทศเริ่มมีการขยายตัวตลาดของร้านสินค้าสัตว์เลี้ยงแบบ Refill คาดว่าบรรจุภัณฑ์ในรูปแบบนี้จะตอบโจทย์ผู้บริโภคที่มีแนวคิดให้มนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม อยู่ร่วมกันได้อย่างรื่นรมย์ การปรับเปลี่ยนครั้งนี้ไม่ทำให้ต้นทุนต่างจากเดิมมากนักแต่สามารถช่วยทำให้โลกดีขึ้น แบรนด์จะได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมในระดับโลก คาดว่าหลังจากผลิตต้นแบบมาแล้วจะนำไปใช้ทันทีหลังจากเคลียร์สต็อกสินค้าเดิมหมด
ทั้งหมดนี้คือการเปลี่ยนแปลง ecosystem ของธุรกิจที่เริ่มต้นจากแบรนด์เล็กๆ แต่มีเป้าหมายยิ่งใหญ่ ที่มากกว่าการส่งออกสินค้าไทยไปต่างประเทศ คือการสร้างความตระหนักรู้ต่อผู้คน ทั้งคู่ค้า ลูกค้า และส่งต่อความมุ่งมั่นนี้สู่ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ให้หันมาใส่ใจโลก เพราะนั่นหมายถึงการใส่ใจชีวิตของมนุษย์ทุกคน สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมดีๆ เช่นนี้ในปีถัดไป สามารถติดตามรายละเอียดได้ทางสำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทรศัพท์ 0 2507 8267 อีเมล innovation@ditp.go.th เว็ปไซต์ www.ditp-design.com