ซีพีเอฟจับมือ SOS-GEPP ส่งอาหารปลอดภัย 12,000 มื้อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง และร่วมดูแลสิ่งแวดล้อม

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ จับมือ มูลนิธิสโกลาร์ส ออฟ ซัสทีแนนซ์ (SOS) และบริษัท เก็บสะอาด จำกัด (GEPP) ส่งอาหารในโครงการ “Circular Meal มื้อนี้เปลี่ยนโลก” เปลี่ยนอาหารส่วนเกิน (Surplus Food) เป็นเมนูพร้อมรับประทานอร่อย สะอาด ปลอดภัยกว่า 12,000 มื้อ สร้างการเข้าถึงอาหารให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 เด็ก ผู้ยากไร้ และกลุ่มเปราะบาง พร้อมทั้งเก็บบรรจุภัณฑ์พลาสติกหลังการบริโภค เก็บกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล

นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนองค์กร ซีพีเอฟ กล่าวว่า ทั้ง SOS และ GEPP เป็นพันธมิตรที่ดีของซีพีเอฟ ในการดำเนินโครงการ “Circular Meal มื้อนี้เปลี่ยนโลก” เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ต่างๆ ได้เข้าถึงอาหารคุณภาพ ปลอดภัย อย่างเพียงพอ และร่วมดูแลสิ่งแวดล้อมด้วยการลดปัญหาขยะพลาสติก โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 สามารถส่งมอบอาหารให้แก่มูลนิธิเด็ก ผู้ยากไร้ ผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มเปราะบาง ได้เข้าถึงอาหารอย่างเพียงพอ รวม 12,000 มื้อ สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 10,000 มื้อ (ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 จนถึงปัจจุบัน) ช่วยลดอาหารส่วนเกินได้มากกว่า 2,800 กิโลกรัม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 6,014 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

โครงการดังกล่าวเป็นความมุ่งมั่นร่วมกันดำเนินการโดยยึดหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยในส่วนของมูลนิธิ SOS ทำหน้าที่นำอาหารส่วนเกินจากซีพีเอฟมาจัดการและปรุงใหม่เป็นอาหารพร้อมรับประทานส่งมอบถึงมือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน และ บริษัท เก็บสะอาด เป็นผู้เก็บกลับบรรจุภัณฑ์พลาสติกหลังบริโภค (Take back system) นำเข้าสู่กระบวนการจัดการรีไซเคิล เพื่อช่วยจัดการปัญหาขยะในชุมชน ซึ่งเป็นการจัดการแบบครบวงจร พร้อมกันนี้ ซีพีเอฟได้นำไข่ไก่สด 2,000 ฟอง ส่งมอบให้มูลนิธิ SOS เพื่อนำไปปรุงอาหารให้ประชาชนในชุมชน และมอบชุด PPE ให้แก่ทั้ง 2 หน่วยงาน เพื่อเป็นกำลังใจเจ้าหน้าที่อาสาสมัครในการปฏิบัติงาน

“โครงการ Circular Meal มื้อนี้เปลี่ยนโลก เป็นต้นแบบความร่วมมือระหว่างซีพีเอฟกับพันธมิตรเพื่อช่วยเหลือชุมชนในภาวะวิกฤต และตอบโจทย์การขับเคลื่อนความยั่งยืนในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร จัดการอาหารส่วนเกิน และเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ที่จะเกิดขึ้นในชุมชน หลังจากกิจกรรมการบริจาคอาหาร ช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกที่มีการดำเนินการแบบครบวงจรเป็นครั้งแรกของไทย” นายวุฒิชัยกล่าว

นางสาวธนาภรณ์ อิสรานุกูล ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ มูลนิธิ SOS กล่าวว่า ความร่วมมือของซีพีเอฟกับ GEPP สนับสนุนให้การดำเนินโครงการของมูลนิธิ SOS บรรลุเป้าหมายการเชื่อมต่อการส่งอาหารส่วนเกิน (Surplus Food) ซึ่งมีคุณภาพดี มาปรุงสุก หรือแจกจ่ายให้ชุมชนกลุ่มเปราะบาง ศูนย์พักคอย ชุมชนที่กักตัว รวมทั้งทีมอาสาชุมชนในพื้นที่ความเสี่ยงสูง เพื่อได้บริโภคอาหารปลอดภัย สะอาด มีคุณค่าโภชนาการอย่างเพียงพอ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของคนในชุมชนจากวิกฤตโควิด-19 และปลูกฝังชุมชนมีส่วนร่วมในการเก็บบรรจุภัณฑ์อาหารคืน เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ส่งเสริมการเข้าถึงอาหาร และจัดการอย่างถูกวิธี เพื่อขจัดวงจรขยะอาหารและบรรจุภัณฑ์ทิ้งลงสู่หลุมฝังกลบ ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

นายโดม บุญญานุรักษ์ ซีเอ็มโอและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เก็บสะอาด จำกัด กล่าวว่า GEPP เข้ามาเป็นพันธมิตรในโครงการ ฯ สนับสนุนการให้ความรู้และทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครในการคัดแยกขยะพลาสติกให้มีการบริหารจัดการอย่างถูกต้องและถูกวิธี รวมไปถึงการติดตามข้อมูลการจัดเก็บบรรจุภัณฑ์พลาสติกหลังการบริโภค เพื่อคำนวณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเป็นการช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมในชุมชน

โครงการ “Circular Meal มื้อนี้เปลี่ยนโลก” มีเป้าหมายลดปริมาณอาหารส่วนเกินและขยะอาหารสู่หลุมฝังกลบให้เป็นศูนย์ (Zero Waste to Landfill) ภายในปี 2573 ภายใต้กลยุทธ์ CPF 2030 Sustainability in Action ความมุ่งมั่น Waste to Value สร้างคุณค่าปราศจากขยะ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ในช่วง 10 ปีข้างหน้าของซีพีเอฟ (ปี 2564-2573) สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) ที่ต้องการลดจำนวนขยะอาหารทั่วโลกกว่าครึ่งภายในปี 2573

 

ที่มา: https://mgronline.com/business/detail/9640000094996 

วันที่ 28 กันยายน 2564