“ขยะพลาสติก” นับเป็นปัญหาใหญ่ของโลก จากรายงานของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย มหาวิทยาลัยจอร์เจีย และสมาคมการศึกษาทางทะเล (Sea Education Association) ในรัฐแมสซาชูเซทส์ สหรัฐฯ ที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร Science Advances ระบุว่า ขยะพลาสติก 6,300 ล้านตันในปี พ.ศ.2558 มีเพียงร้อยละ 9 เท่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิล ร้อยละ 12 ถูกนำไปเผาซึ่งก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ และที่เหลือร้อยละ 79 ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม หนึ่งในหนทางที่เป็นความหวังของโลกก็คือ ผู้ผลิตสินค้าแบรนด์ใหญ่ระดับโลกยื่นมือเข้ามาช่วยแก้ไขอย่างจริงจัง ด้วยการขับเคลื่อนผ่านกลยุทธ์เพื่อความยั่งยืน โดยมีทั้งเป้าหมายและแนวทางที่ชัดเจน ดูตัวอย่างจาก 3 แบรนด์ใหญ่ คือ “ยูนิลีเวอร์ – เนสท์เล่ – เอสซี จอห์นสัน” ที่เดินหน้าต่อเนื่อง
๐ ยูนิลีเวอร์ชูนวัตกรรมวัสดุทางเลือก ก้าวสำคัญกลยุทธ์บรรจุภัณฑ์ยั่งยืน
นายโรเบิร์ต แคนเดลิโน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า “ยูนิลีเวอร์มีความรับผิดชอบต่อผู้คน ชุมชน และโลกใบนี้ ด้วยศักยภาพที่มีอยู่ เราเชื่อว่าเราสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและทำให้โลกดีขึ้นไม่ว่าจะเกิดวิกฤตใดก็ตาม เราต้องการตอบแทนสังคมและผู้บริโภค”
ยูนิลีเวอร์ยังคงเดินหน้าที่จะแก้ไขปัญหาสังคม ลดขยะพลาสติกและต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างไม่หยุดยั้ง ในประเทศไทย ยูนิลีเวอร์เป็นผู้นำในธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้บรรจุภัณฑ์รีไซเคิลหลังการบริโภค (post-consumer recycled: PCR) ภายในประเทศมากถึง 4,000 ตัน ปัจจุบันหลายแบรนด์ของเรา เช่น ซันไลต์ คอมฟอร์ท ซันซิล และโดฟ ล้วนใช้ขวดบรรจุภัณฑ์ที่เป็น PCR ซึ่งช่วยกระตุ้นให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทย และทำให้เกิดการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการคัดแยกและจัดเก็บขยะพลาสติกเพื่อให้ขยะพลาสติกถูกนำมาหมุนเวียนใช้ในระบบ
ในปี 2562 ยูนิลีเวอร์ได้ประกาศพันธกิจในด้านพลาสติก โดยมุ่งลดการใช้เม็ดพลาสติกใหม่ลงครึ่งหนึ่ง และใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้ ใช้ซ้ำได้ หรือย่อยสลายได้ ให้ได้ 100% นอกจากนี้ ยังจะเก็บรวบรวมพลาสติกและแปรรูปให้ได้มากกว่าปริมาณที่จำหน่ายออกไป
ก้าวที่สำคัญของยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย คือการเปิดตัวแคมเปญทุกๆ U ทำสิ่งดีๆ (Every U Does Good : EUDG) ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา เพื่อปลุกจิตสำนึกของผู้บริโภคต่อโครงการรณรงค์เพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมของบริษัท และส่งเสริมการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน เป็นวิธีง่ายๆ ในการทำสิ่งดีๆ เพื่อโลกของเรา ประเทศชาติ สังคม และชุมชน โดยทุกครั้งเมื่อคุณถู คุณแปรง และรับประทานหรือดื่ม หนึ่งในผลิตภัณฑ์ของยูนิลีเวอร์ คุณได้มีส่วนร่วมในการทำความดีด้วยการสนับสนุนการรณรงค์ในเรื่องต่างๆ ของบริษัทในโลกนี้ และสนับสนุนความเป็นอยู่อย่างยั่งยืนอีกด้วย
และเมื่อเร็วๆ นี้ ยูนิลีเวอร์ได้เปิดตัว “ขวดน้ำยาซักผ้าที่ทำจากกระดาษ” นวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีนี้เป็นการพัฒนาร่วมกับกลุ่มบริษัท Pulpex ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง Unilever, Diageo, Pilot Lite และสมาชิกในอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยยูนิลีเวอร์สามารถใช้เทคโนโลยีนี้ เพื่อบรรจุผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคที่เป็นของเหลวในขวดที่ทำจากกระดาษชนิดแรก ซึ่งทำจากเยื่อกระดาษที่มาจากแหล่งที่ยั่งยืน และได้รับการออกแบบให้สามารถนำกลับไป รีไซเคิลได้ในกลุ่มกระดาษ
ภายในขวดมีการฉีดพ่นด้วยสารเคลือบที่กันน้ำได้ อันเป็นลิขสิทธิ์โดยเฉพาะ ทำให้วัสดุบรรจุภัณฑ์ที่เป็นกระดาษสามารถบรรจุผลิตภัณฑ์ที่เป็นของเหลว เช่น น้ำยาซักผ้า แชมพู และครีมนวด ซึ่งประกอบด้วยสารลดแรงตึงผิว น้ำหอม และสารออกฤทธิ์อื่นๆ
การสร้างบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากกระดาษรีไซเคิลได้โดยไม่ต้องใช้ชั้นพลาสติกเพิ่มเติมถือเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ บรรจุภัณฑ์เยื่อกระดาษที่ได้รับการจดสิทธิบัตรของ Pulpex ให้แนวทางในการลดการใช้พลาสติกลงอย่างมาก และจะช่วยให้ Unilever บรรลุพันธะสัญญาต่อโลกที่ปราศจากขยะ
Richard Slater ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัยและพัฒนาของยูนิลีเวอร์ กล่าวว่า เพื่อจัดการกับขยะพลาสติก เราต้องคิดใหม่ทั้งหมดว่าเราออกแบบและบรรจุหีบห่อผลิตภัณฑ์อย่างไร สิ่งนี้ต้องการการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สามารถทำได้ผ่านความร่วมมือระดับอุตสาหกรรมเท่านั้น เทคโนโลยีขวดที่ทำจากกระดาษ Pulpex เป็นก้าวใหม่ที่น่าตื่นเต้นในทิศทางที่ถูกต้อง เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ทำงานร่วมกันเพื่อทดลองนวัตกรรมนี้สำหรับผลิตภัณฑ์ของเรา”
“นวัตกรรมวัสดุทางเลือกเป็นส่วนสำคัญของกลยุทธ์บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนของเรา และจะมีบทบาทสำคัญในความมุ่งมั่นของเราที่จะลดการใช้วัสดุพลาสติกบริสุทธิ์ของเราลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2568”
ทั้งนี้ เป้าหมายภายในปีค.ศ.2025 (พ.ศ.2568) ยูนิลีเวอร์มุ่งมั่นที่จะ: 1) ลดการใช้พลาสติกใหม่ลงครึ่งหนึ่ง โดยลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกลงมากกว่า 100,000 ตัน 2) เรียกเก็บและแปรรูปบรรจุภัณฑ์พลาสติกให้ได้มากกว่าที่จำหน่ายออกไป 3) ตรวจสอบให้แน่ใจว่าบรรจุภัณฑ์พลาสติก 100% ได้รับการออกแบบให้สามารถใช้ซ้ำได้ รีไซเคิลได้ หรือย่อยสลายได้อย่างสมบูรณ์ 4) เพิ่มการใช้วัสดุพลาสติกรีไซเคิลหลังการบริโภคในบรรจุภัณฑ์เป็นอย่างน้อย 25%
ปัจจุบัน ยูนิลีเวอร์กำลังเปลี่ยนแนวทางสู่บรรจุภัณฑ์พลาสติกโดยใช้กรอบนวัตกรรม ‘Less plastic. Better plastic. No plastic.’ นั่นคือ ′Less Plastic′ คือการลดปริมาณการใช้ลงตั้งแต่แรก ′Better Plastic′ คือการทำให้ผลิตภัณฑ์รีไซเคิลได้ การเพิ่มปริมาณการรีไซเคิล และการกำจัดวัสดุที่เป็นปัญหา ′No Plastic′ คือการคิดต่าง - ใช้วัสดุทางเลือก เช่น อลูมิเนียม แก้ว กระดาษ และกระดาน หากเป็นไปได้ และถอดพลาสติกออกเมื่อไม่จำเป็น
๐ บรรจุภัณฑ์เนสท์เล่ 89% รีไซเคิลได้แล้ว
นายวิคเตอร์ เซียห์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เนสท์เล่ อินโดไชน่า กล่าวถึงการรับมือกับปัญหาขยะพลาสติกว่า เป็นความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ เนสท์เล่เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว และมีพันธกิจที่มุ่งมั่นในการหาแนวทางเพื่อลดการใช้บรรจุภัณฑ์ นำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ และรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ของเนสท์เล่ (Reduce, Reuse, Recycle)
ทั้งนี้ เป้าหมายหลักของเนสท์เล่ระดับโลก คือการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดให้สามารถรีไซเคิลหรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ 100% และการลดการใช้พลาสติกผลิตใหม่ลง 1 ใน 3 ภายในปีค.ศ.2025 (พ.ศ.2568) เพื่อนำไปสู่อนาคตที่ปลอดขยะ (Zero Waste) โดยไม่มีบรรจุภัณฑ์ของเนสท์เล่หลุดลอยไปสู่แหล่งน้ำหรือกลายเป็นขยะฝังกลบ
สำหรับ “เนสท์เล่ ประเทศไทย” มีการคิดค้นนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน บรรจุภัณฑ์ 89% ของเนสท์เล่สามารถรีไซเคิลหรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้แล้ว ที่ผ่านมา เนสท์เล่เป็นบริษัทแรกที่ริเริ่มบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก เช่น ผลิตภัณฑ์ไมโลยูเอชทีที่เปลี่ยนมาใช้หลอดกระดาษ ผลิตภัณฑ์เนสท์เล่ไอศกรีมที่เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์เป็นซองไอศกรีมกระดาษ เนสกาแฟกระป๋องพร้อมดื่มเปลี่ยนไปใช้กระป๋องอะลูมิเนียมแทนกระป๋องเหล็ก และ“เนสท์เล่ เพียวไลฟ์” ที่ถอดสีฟ้าออกจากขวดน้ำดื่ม เพื่อให้สามารถนำไปรีไซเคิลได้ง่ายขึ้น การปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกทั้งหมดนี้ทำให้ในปีพ.ศ.2564 เนสท์เล่จะสามารถลดการใช้หลอดพลาสติกลงได้ 500 ล้านหลอด ลดปริมาณซองพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์ไอศกรีมได้ 28 ตัน และลดปริมาณพลาสติกผลิตใหม่จากขวดน้ำดื่มเนสท์เล่ เพียวไลฟ์ได้ 370 ตัน
เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้ผู้บริโภคสามารถร่วมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อโลกไปพร้อมกับเนสท์เล่ โดยเริ่มจากสิ่งเล็กๆ ใกล้ตัวในชีวิตประจำวันอย่างการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก จากผลการวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคของนีลเส็น (Nielsen) และกันตาร์ (Kantar) พบว่า คนไทย 81% บอกว่าพยายามเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังไม่สามารถปรับการใช้ชีวิตได้มากนัก จึงมองหาผลิตภัณฑ์จากแบรนด์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ช่วยให้การปรับพฤติกรรมรักษ์โลกทำได้ง่ายขึ้น
เนสท์เล่จึงจัดทำแคมเปญ “เล็กน้อยที่ยิ่งใหญ่ ทุกความใส่ใจเปลี่ยนโลกได้” (Every Little Act Matters) เป็นการขับเคลื่อนกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลักในปี 2564 โดยแสดงถึงความตั้งใจของเนสท์เล่ที่เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถนำไปรีไซเคิลได้ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปริมาณการใช้พลาสติก ลดก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังช่วยอนุรักษ์ชีวิตของสัตว์ทะเล และลดพื้นที่ฝังกลบขยะอีกด้วย ด้วยการถ่ายทอดเป็นวิดีโอ บอกเล่าทุกคนให้เห็นว่าการช่วยกันสร้างความยั่งยืนให้โลกใบนี้ทำไม่ได้ยาก และเชิญชวนให้ผู้บริโภคเริ่มทำสิ่งเล็กๆ ในทุกๆ วัน เพื่อโลกที่ยั่งยืนและอนาคตที่ดีของคนรุ่นถัดไป เพราะเนสท์เล่เชื่อในพลังเล็กๆ ที่จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้
๐ SC Johnson เดินหน้ายุติการสร้างขยะพลาสติก
ฟิสก์ จอห์นสัน ประธานและซีโอ SC Johnson กล่าวในการลงนาม “เจตนารมณ์ระดับโลกว่าด้วยระบบเศรษฐกิจพลาสติกแบบใหม่” (New Plastics Economy Global Commitment) ว่า “ความสำเร็จของเราไม่ได้วัดจากรายงานทางการเงินในไตรมาสต่อไป แต่วัดจากโลกที่เราทิ้งไว้ให้คนในยุคต่อไป เราและมูลนิธิเอลเลน แมคอาเธอร์และองค์กรทั่วโลกจับมือกันเพื่อแสดงเจตนารมย์ในการสร้างเศรษฐกิจพลาสติกใหม่ที่เป็นการป้องกันไม่ให้พลาสติกกลายเป็นขยะ”
ตั้งแต่ค.ศ. 2018 นับเป็นปีที่ SC Johnson ก้าวไปอีกขั้นในการแสดงความรับผิดชอบในผลิตภัณฑ์ ด้วยการเป็นแนวร่วมธุรกิจกับรัฐบาลเพื่อแก้ไขวิกฤตมลพิษจากพลาสติกทั่วโลกที่หนักข้อขึ้น
สำหรับการดำเนินงานของ SC Johnson ที่สอดคล้องกับหลักการของเจตนารมณ์ระดับโลก มีดังนี้
1. การทำให้บรรจุภัณฑ์พลาสติกของ SC Johnson นำมาแปรใช้ใหม่ ใช้ซ้ำ หรือย่อยสลายได้ 100% ภายในปี ค.ศ. 2025 โดยในปัจจุบัน 62% ของบรรจุภัณฑ์พลาสติกของเราออกแบบเพื่อให้แปรใช้ใหม่ ใช้ซ้ำ หรือย่อยสลายได้
2. การเพิ่มปริมาณพลาสติกแปรใช้ใหม่หลังผู้บริโภคใช้แล้ว (Post-Consumer Recycled หรือ PCR) ในบรรจุภัณฑ์ของ SC Johnson เป็นสามเท่าภายในปี ค.ศ. 2025 เราจะเพิ่มการใช้พลาสติก PCR ในการบรรจุภัณฑ์จาก 10 ล้านกิโลกรัม เป็นมากกว่า 30 ล้านกิโลกรัม ในการดำเนินงานนี้ เราจะเพิ่มเปอร์เซ็นต์ของพลาสติก PCR ที่เราใช้ในขวดที่ผลิตในอเมริกาเหนือและยุโรปจาก 20% เป็น 40% ภายในปี ค.ศ. 2025
3. การขยายปริมาณทางเลือกน้ำยาเติมสูตรเข้มข้นสำหรับผลิตภัณฑ์ SC Johnson ภายในปี ค.ศ. 2025 เราผลิตน้ำยาเติมสูตรเข้มข้นสำหรับผลิตภัณฑ์ขวดสเปรย์ทำความสะอาดในครัวเรือนในสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2011 ขวดสเปรย์แบบพ่นแต่ละขวดฉีดน้ำยาได้ 10,000 ครั้ง หมายความว่าสามารถเติมและใช้ซ้ำได้เฉลี่ย 13 ครั้งและเป็นการหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ใช้แล้วทิ้ง เราจะยังคงขยายทางเลือกน้ำยาเติมสูตรเข้มข้นให้มีความหลากหลาย และเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคใช้บรรจุภัณฑ์ซ้ำและลดปริมาณขยะ
4. การดำเนินการลดพลาสติกคงเหลือให้มากที่สุด SC Johnson ให้ความสำคัญกับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ไม่จำเป็นที่ทำจากผลิตภัณฑ์ของเรา ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2011 จนถึงปี ค.ศ. 2017 เรากำจัดวัสดุจากบรรจุภัณฑ์ของเราได้แล้ว 9.5 ล้านกิโลกรัม
5. การเป็นผู้นำด้านการนำแผ่นฟิล์มพลาสติกข้างถนนมาแปรใช้ใหม่ SC Johnson ยังคงพยายามส่งเสริมการรีไซเคิลที่บ้านสำหรับผลิตภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกอย่างต่อเนื่อง เช่น ถุงยี่ห้อ Ziploc® ในสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ SC Johnson ยังส่งเสริมการใช้ถุงยี่ห้อ Ziploc® ที่ทำขึ้นเพื่อใช้ซ้ำได้หลายรอบ
6. การทำงานร่วมกับอุตสาหกรรมและองค์กรอื่นๆ เพื่อสนับสนุนโมเดลเศรษฐกิจพลาสติกหมุนเวียน โดยทำงานร่วมกับอุตสาหกรรมและองค์กรไม่แสวงหาผลกําไรเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนและลดพลาสติกในที่ฝังกลบและสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ เจตนารมณ์ระดับโลกว่าด้วยระบบเศรษฐกิจพลาสติกแบบใหม่ (New Plastics Economy Global Commitment) นำโดยมูลนิธิเอลเลน แมคอาเธอร์ และได้รับความร่วมมือจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ เพื่อสร้างวิสัยทัศน์ร่วมให้บริษัทต่างๆ ได้สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนจากพลาสติก โดยในการประกาศเจตนารมณ์ระดับโลกอย่างเป็นทางการ ณ ที่ประชุมว่าด้วยเรื่องมหาสมุทร (Our Ocean Conference) ในบาหลี อินโดนีเซียในเดือนตุลาคม เมื่อค.ศ.2018 มีผู้ลงนามมากกว่า 250 องค์กร
จุดประสงค์ของเจตนารมณ์ระดับโลกคือแก้ไขต้นเหตุของมลพิษจากพลาสติกและสร้าง “มาตรฐานใหม่” ให้กับมลพิษจากพลาสติก เป้าหมายในระยะแรกคือการกำจัดบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่เป็นภัยหรือไม่จำเป็นและเปลี่ยนจากบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้แล้วทิ้งเป็นนำมาใช้ซ้ำ มีการใช้นวัตกรรมการประดิษฐ์คิดค้นบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่นำมาใช้ซ้ำ รีไซเคิล หรือย่อยสลายได้อย่างง่ายดายและปลอดภัยได้ทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2025 และหมุนเวียนการใช้พลาสติกด้วยการเพิ่มปริมาณพลาสติกที่ใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลและนำไปผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์หรือผลิตภัณฑ์ใหม่
ที่มา: https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9640000092483