“ทูตพาณิชย์เช็ก”ชี้ตลาดน้ำอัดลมขวดแก้ว กำลังกลับมานิยม หลังคนเน้นลดขยะบรรจุภัณฑ์

“ทูตพาณิชย์เช็ก” เผยน้ำอัดลมบรรจุขวดแก้ว เริ่มกลับมาเป็นที่นิยม หลังพบ 2 บริษัทรายใหญ่ได้กลับมาผลิตเพิ่มมากขึ้น เพื่อลดขยะบรรจุภัณฑ์ และการนำกลับมารีไซเคิล แนะผู้ผลิต ศึกษาและนำมาปรับใช้ในการวางแผนการผลิตและทำตลาด

น.ส.วิภาวี วรรณพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก เปิดเผยว่า ปัจจุบัน น้ำอัดลมบรรจุขวดแก้วในสาธารณรัฐเช็กเริ่มได้รับความนิยมอีกครั้ง โดยบริษัทผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่ายน้ำดื่มรายใหญ่ เช่น บริษัท Mattoni 1873 และบริษัท Kofola ได้นำสินค้าเครื่องดื่มบรรจุขวดแก้วที่เคยได้รับความนิยมในอดีตมาวางจำหน่ายอีกครั้ง เพื่อลดขยะจากบรรจุภัณฑ์ และให้มีการนำกลับมา recycle เพื่อใช้ซ้ำได้ โดยมีแผนการวางจำหน่ายเครื่องดื่มบรรจุขวดแก้วในเดือนก.ย.2564 และผู้บริโภคจะต้องจ่ายค่ามัดจำ ซึ่งจะได้รับเงินมัดจำคืนเมื่อนำขวดแก้วที่ใช้แล้วกลับมาคืน

โดยเครื่องดื่มในบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วดังกล่าว จะเริ่มจัดจำหน่ายในกลุ่มสินค้าเครื่องดื่มอัดแก๊ส (Sparkling Beverage) และไม่อัดแก๊ส (Non-Sparkling Beverage) ในห้างค้าปลีก Lidl และหากแผนการจำหน่ายดังกล่าวประสบผลสำเร็จ จะขยายแผนจำหน่ายเครื่องดื่มบรรจุขวดแก้วในเครื่องดื่มประเภทอื่น ๆ ต่อไป

สำหรับบริษัท Kofola มีแผนโครงการ Cirkulka ที่จะวางจำหน่ายเครื่องดื่มบรรจุขวดแก้ว ได้แก่ น้ำมะนาว น้ำองุ่นอัดแก๊ส และน้ำแร่ธรรมชาติ ในเครือข่ายร้านค้าปลีกและร้านค้าต่าง ๆ ในช่วงเดือนมี.ค.–พ.ค.2565 โดยบริษัทจะแนะนำโครงการดังกล่าวให้แก่ผู้จัดจำหน่าย เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการจัดการด้านการขนส่ง

ทั้งนี้ นอกจากการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์น้ำดื่มเป็นแบบขวดแก้วแล้ว ทั้งสองบริษัทยังมีแผนจำหน่ายลังบรรจุขวดเครื่องดื่ม ซึ่งจะช่วยให้การจัดเก็บภายในบ้านสะดวกขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนในระยะยาวของบริษัท

น.ส.วิภาวีกล่าวว่า การให้ความสำคัญต่อประเด็นสิ่งแวดล้อมเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการผลิต การค้า ตลอดจนวิถีชีวิตของผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อย ๆ การใช้บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่มที่สามารถนำกลับมา recycle ได้ นอกจากจะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการรักษาคุณภาพผลิตภัณฑ์ เพิ่มความสะดวกในการใช้งาน อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนการผลิตในกระบวนการรีไซเคิลขวดแก้ว รวมทั้งขวดแก้วกว่าร้อยละ 80 สามารถนำกลับมา recycle ได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อเทียบกับพลาสติก และยังช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ให้แก่สินค้าอีกด้วย

“ในยุคที่แนวโน้มในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจแบบยั่งยืนได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภค ผู้ผลิต ผู้ส่งออกการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าบรรจุภัณฑ์ของไทย ควรศึกษาข้อมูลและเตรียมแผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถนำมา recycle ได้ และเสริมด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้น่าสนใจ อาทิ การจัดเก็บ การใช้งานที่สะดวกสบาย น้ำหนักเบา พกพาสะดวก และคงคุณภาพของสินค้า จะทำให้สินค้าไทยได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น”น.ส.วิภาวีกล่าว

 

ที่มา: https://mgronline.com/business/detail/9640000090115 

วันที่ 14 กันยายน 2564