Dow ตระหนักปัญหาพลาสติกใช้แล้วที่หลุดรอดสู่สิ่งแวดล้อม ตั้งเป้าช่วย “หยุดขยะพลาสติก” มุ่งมั่นจะผลักดันให้พลาสติกใช้แล้ว 1 ล้านตันจากทั่วโลกถูกนำกลับมารีไซเคิล ผนึกพันธมิตร วช.-ม.เกษตร-ม.ธัญบุรี หนุนชุมชน สร้างรายได้จากวัสดุก่อสร้างผสมพลาสติกใช้แล้ว มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย(Dow) จับมือประชาคมวิจัย ได้แก่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ลงนามบันทึกข้อตกลง“ความร่วมมือภาคีเครือข่าย ขยะทะเล...สู่...การเพิ่มรายได้ชุมชนระยอง” ร่วมกับกลุ่มชุมชน ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนส่งเสริมอาชีพชุมชนเกาะกก และ หมู่บ้านเอื้ออาทรจังหวัดระยอง (วังหว้า) มีเพื่อถ่ายทอดนวัตกรรมการผลิตวัสดุก่อสร้างจากพลาสติกใช้แล้วให้กับชุมชน หวังสร้างรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิต และลดปัญหาขยะในทะเลไทยอย่างยังยืน
วัสดุก่อสร้างที่ได้จากโครงนี้จะมีมาตรฐานเทียบเท่ามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ใช้สำหรับการก่อสร้างภายนอกอาคาร เช่น บล็อคปูพื้น คอนกรีตบล็อก และขอบคันหิน โดยจะใส่พลาสติกทดแทนหินและทรายในสัดส่วน 0.4 – 1.5 กิโลกรัมต่อชิ้น หรือประมาณ 6-10% ของน้ำหนักทั้งหมด ราคาไม่ต่างจากวัสดุทั่วไปและมีความคงทนเทียบเท่าของเดิม คาดว่าจะสร้างรายได้ให้ชุมชนกว่า 400,000 - 1,500,000 บาท ต่อปี และลดปริมาณขยะพลาสติกได้กว่า 30,000 กิโลกรัมต่อปี เป็นประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า ในฐานะที่ ดาว เป็นหนึ่งในบริษัทด้าน Materials Science รายใหญ่ที่สุดของโลก เราตระหนักถึงปัญหาพลาสติกใช้แล้วที่หลุดรอดไปสู่สิ่งแวดล้อม และพยายามหาวิธีการต่างๆเข้ามาจัดการอย่างยั่งยืน ดาว ได้ตั้งเป้าที่จะช่วย “หยุดขยะพลาสติก” โดยมุ่งมั่นจะผลักดันให้พลาสติกใช้แล้วจำนวน 1 ล้านตันจากทั่วโลกถูกเก็บกลับมาใช้ประโยชน์ หรือ รีไซเคิล
โดย “ความร่วมมือภาคีเครือข่ายขยะทะเล...สู่...การเพิ่มรายได้ชุมชนระยอง” ก็เป็นอีกหนึ่งในโครงการสำคัญที่จะนำผลงานด้านการศึกษาและงานวิจัยมาใช้ประโยชน์ได้จริง เราพร้อมที่จะเป็นฟันเฟืองในการประสานงานระหว่างประชาคมวิจัย และกลุ่มชุมชน เพื่อให้โครงการประสบความสำเร็จ
การผสมพลาสติกใช้ในวัสดุก่อสร้างจะช่วยให้ผลิตภัณฑ์ มีน้ำหนักเบา และลดการใช้วัสดุที่ใช้แล้วหมดไปเช่น ทราย และหิน หากนำก้อนอิฐไปทำเป็นวัสดุปูพื้นนอกอาคาร ก็จะช่วยลดความร้อนของพื้นผิว สามารถเดินหรือทำกิจกรรมในเวลากลางแจ้งได้
ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ในฐานะหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม ในประเด็นการจัดการกับปัญหาเร่งด่วนสำคัญของประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่ง “ความร่วมมือภาคีเครือข่าย ขยะทะเล...สู่…การเพิ่มรายได้ชุมชนระยอง” ในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของการนำผลงานการวิจัยและนวัตกรรมของ “แผนงานวิจัยท้าทายไทย : ทะเลไทยไร้ขยะ” สู่การนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ในการแก้ไขและลดปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากขยะพลาสติก โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้ขยะพลาสติกและสร้างรายได้แก่ชุมชน สร้างเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนในพื้นที่ ก่อให้เกิดการผลักดันนโยบายและสร้างความตระหนักต่อปัญหาการจัดการขยะในวงกว้าง รวมทั้งสามารถสร้างระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนที่มุ่งลดของเสียและใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุดดร. จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า “ความร่วมมือภาคีเครือข่าย ขยะทะเล...สู่...การเพิ่มรายได้ชุมชนระยอง” เกิดขึ้นเนื่องจากการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติเพื่อแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกอย่างครบวงจร ทั้งนี้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นหน่วยงานซึ่งได้รับจัดสรรทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และเป็นผู้บริหารแผนงานวิจัยท้าทายไทย : ทะเลไทยไร้ขยะ” ที่มีเป้าประสงค์ในการจัดการกับปัญหาขยะพลาสติกในทะเล และดำเนินการการวิจัยในหลายส่วน อาทิ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมในการรวบรวมจัดเก็บขยะพลาสติกตกค้างทั้งทางบกทางทะเล การติดตามผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการตกค้างของขยะพลาสติก รวมทั้งนวัตกรรมการนำขยะพลาสติกมาแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยมีเครือข่ายนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เป็นผู้ร่วมดำเนินการ”
ผศ. ดร. สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีในฐานะหน่วยงานวิจัยหนึ่งภายใต้ ”แผนงานวิจัยท้าทายไทย : ทะเลไทยไร้ขยะ” ได้วิจัยและออกแบบนวัตกรรมในการนำขยะพลาสติกจากทะเลมาเป็นวัตถุดิบในวัสดุก่อสร้างโดยชุมชนสามารถผลิตเพื่อจำหน่ายได้เอง อาทิ กระเบื้องพื้นสนาม กระถางต้นไม้ นอกจากจะเป็นการกำจัดขยะพลาสติกยังเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนในระยะยาว เรามีความภูมิใจที่งานวิจัยที่ประชาคมวิจัยได้ร่วมกันทุ่มเท ได้รับการยอมรับและนำการใช้งานอย่างกว้างขวางผ่านการสนับสนุนจากภาคเอกชน และความพร้อมของกลุ่มชุมชน”
นายสำราญ ทิพย์บรรพต ประธานวิสาหกิจชุมชน ส่งเสริมอาชีพชุมชนเกาะกก กล่าวว่า “ ขอขอบพระคุณประชาคมวิจัย ที่ส่งมอบผลงานวิจัยที่มีประโยชน์ และสามารถส่งเสริมศักยภาพให้ทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ทำให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ต่อยอดผลิตภัณฑ์เดิมที่มีอยู่ และขอขอบคุณกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทยที่เป็นตัวกลางในการประสานให้ทางกลุ่มได้เข้าถึงนวัตกรรมการจัดการปัญหาขยะพลาสติก และร่วมให้การสนับสนุนทั้งในด้านงบประมาณ คำแนะนำ และเครื่องมือ เครื่องจักร ทำให้ชุมชนสามารถยกระดับความรู้ความสามารถในการจัดการปัญหาขยะพลาสติกได้อย่างเป็นรูปธรรม และสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจากการนำผลงานวิจัยนี้ไปใช้ประโยชน์”
นายสายัณห์ รุ่งเรือง ประธานชุมชน หมู่บ้านเอื้ออาทรจังหวัดระยอง (วังหว้า) กล่าวว่า “รู้สึกเป็นเกียรติและรู้สึกขอบคุณหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานการศึกษา และหน่วยงานเอกชน ซึ่งได้แก่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี รวมทั้งกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ที่ได้มีการทำบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ ซึ่งเป็นการนำผลงานวิจัยจากภาครัฐทำให้ชุมชนสามารถนำมาใช้ต่อยอดเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆซึ่งชุมชนสามารถผลิตใช้ได้เอง มีการทดสอบคุณภาพตามหลักวิชาการ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคในการนำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปใช้งาน“
โครงการนี้จะช่วยส่งเสริมระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนส่งผลให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเป็นต้นแบบของความร่วมมือในการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีมาแก้ปัญหาด้วยความร่วมมือของชุมชน เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและนำไปสู่สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
ผู้สนใจสั่งซื้อวัสดุก่อสร้างผสมพลาสติกใช้แล้ว มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สามารถติดต่อได้ที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
สามารถรับชมวีดีโอแนะนำโครงการ “ความร่วมมือภาคีเครือข่าย ขยะทะเล...สู่...การเพิ่มรายได้ชุมชนระยอง” ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=0kyliIq6rYo
ที่มา: https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9640000081157