บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จํากัด (มหาชน) หรือ เอสซีจี (SCG) ดำเนินธุรกิจคู่คนไทยและฝ่าฝันทุกวิกฤตการณ์มายาวนานถึง 111 ปี ผ่านการบริหารงานโดย CEO มาแล้วถึง 12 คน โดยปัจจุบัน “ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จํากัด (มหาชน) หรือ เอสซีจี (SCG) เป็น CEO คนที่ 12 ต่อจาก “รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส” ที่เกษียณอายุงานเมื่อวันที่ 1 ม.ค.2567 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ด้วยสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ และวิกฤติต่าง ๆ ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจต้องอยู่ในโลกที่มีความผันผวนสูง จะเห็นได้ชัดว่าในแต่ละปีมักเกิดเหตุการณ์เซอร์ไพรส์ต่าง ๆ ทั้ง โควิด-19, เทรดวอร์ สงครามระหว่างประเทศ เป็นต้น ดังนั้น ภายใต้แรงกดดันทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก วิสัยทัศน์ผู้นำองค์กรจึงสำคัญ โดยเฉพาะองค์กรขนาดใหญ่
เอสซีจีทำรายได้ครึ่งปีแรกของปี 2567 ที่ 252,461 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีก่อน โดยมาจาก 6 กลุ่มธุรกิจหลัก แบ่งเป็น 1. เอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC) 2. เอสซีจีพี (SCGP) 3. เอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชัน 4. เอสซีจี สมาร์ทลีฟวิง 5. เอสซีจี ดิสทริบิวชั่นแอนด์รีเทล และ 6. เอสซีจี เดคคอร์ (SCGD) และธุรกิจน้องใหม่ “เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่” ที่มุ่งเพิ่มสัดส่วนการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ให้ลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความต้องการสูง
ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จํากัด (มหาชน) หรือ เอสซีจี เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ด้วยหลายปัจจัยที่รุมเร้าส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกยังไม่ฟื้นตัว แม้ว่าเอสซีจีจะได้รับผลกระทบจากวัฏจักรปิโตรเคมีโลกที่อยู่ในช่วงขาลง ความตึงเครียดจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ตลาดแข่งขันสูงจากสินค้านำเข้าจากจีน เศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวช้า จากกำลังซื้อที่อ่อนแอในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย การดำเนินธุรกิจในต่างประเทศรวมส่งออกจากไทยครึ่งปีแรกของปี 2567 มียอดขาย 111,367 ล้านบาท คิดเป็นกว่า 40% ของยอดขายรวม
ทั้งนี้ เมื่อโดนจีนเข้ามาตีตลาด ให้ทำตัวเองเหมือนเป็นบริษัทจีน โดยเฉพาะการลงทุน เปลี่ยนการซื้อเครื่องจักรจากยุโรปมาเป็นของจีน และใช้เทคโนโลยีมาพัฒนาเพิ่มเติม จะช่วยลดต้นทุนลงได้ 40% รวมถึงการหาจุดแข็งจากจีนแล้วต่อยอด เพราะหากทำเหมือนเดิมก็ไม่รอด เอสซีจีเข้าหานักลงทุนจีนที่เข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เสนอขายสินค้าของเอสซีจี ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดี สามารถขายได้ ต้องเข้าใจว่าการเข้ามาของจีนที่ไม่รู้จักใคร รู้หน้าไม่รู้ใจจึงใช้ของจีนที่รู้จัก เอสซีจีจึงการันตีสินค้า
“เอสซีจีเปิดบ้านให้เอสเอ็มอีผ่านสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้สู้กับจีน เพราะเราเจ็บตัวมาเยอะ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก แพคเกจจิ้ง วัสดุก่อสร้าง เอสเอ็มอีบางรายไม่ใช่มาเรียนอย่างเดียวแต่มานำเสนอมุมมองที่ได้ประโยชน์”
ตลอด 111 ปี เอสซีจีผ่านทุกวิกฤติ จากความท้าทายจึงพร้อมรับมือและมองเห็นทิศทางปัจจัยที่จะกระทบทั้งระยะสั้นและยาว รวมถึงปัจจัยที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด เช่น กรณีเหตุระเบิดภายในบริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมาเป็นเรื่องที่เสียใจ และไม่คาดคิด จึงต้องบริหารจัดการต้นตอความเสี่ยง รวมถึงการมองเห็นเทรนด์ในการดำเนินธุรกิจในอนาคต โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กลายเป็นเรื่องสำคัญ
“เราจะเห็นทั้งปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม และไฟป่า สิ่งนี้ส่งผลให้เกิดมาตรการกีดกันทางการค้า ถ้าเตรียมตัวตั้งแต่วันนี้ มีส่วนรับผิดชอบการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการใช้เทรนด์ AI เข้ามาทรานฟอร์มธุรกิจจะสามารถแข่งขันในอนาคตได้”
ธรรมศักดิ์ กล่าวว่า ในส่วนของปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของจีนกับยุโรปได้กีดกันทางการค้า จีนไม่สามารถส่งสินค้าไปค้าขายได้เหมือนเดิม และเมื่อยังคงตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) จึงขยายตลาดมาประเทศไทยและภูมิภาค ส่งผลให้มีสินค้าราคาถูกไหลทะลักเข้ามาในภูมิภาคอาเซียน
ดังนั้น เอสซีจี จะแก้ปัญหา ดี-คาร์บอไนเซชัน เปลี่ยนผลิตภัณฑ์ที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ โดยพบว่า ครึ่งปีแรก 2567 สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม SCG Green Choice มียอดขาย 136,124 ล้านบาท คิดเป็น 54% ของยอดขายรวม ทั้งนี้ SCG Green Choice คือสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานของเอสซีจี ที่ให้ความสำคัญใน 3 ปัจจัยหลัก คือ ประหยัดพลังงาน ลดโลกร้อน, ประหยัดทรัพยากรธรรมชาติ และยืดอายุการใช้งาน และส่งเสริมสุขอนามัยที่ดี
“ช่วงปีที่ผ่านมา งบประมาณมาล่าช้า แต่ผลกำไรธุรกิจเอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชันโตสวนกระแส สามารถส่งออกสหรัฐกว่า 1 ล้านตัน ล่าสุดได้เปิดตัวปูนคาร์บอนต่ำรายแรกในเวียดนาม SCG Low Carbon Super Cement ส่วนในไทยตลาดยังโตต่อเนื่อง โดยมีสัดส่วนการใช้ทดแทนปูนแบบเดิมกว่า 86%”
อย่างไรก็ตาม เมื่อกำลังซื้อหด จากปัญหาหนี้เชิงอุตสาหกรรม กระทบคนตัวเล็ก เอสซีจีต้องออกสินค้าตรงกลุ่มที่ต้องการสินค้าไม่แพง ซึ่งเอสซีจีพร้อมรับมือครึ่งปีหลัง และปีต่อๆ ไป ด้วยความคล่องตัวและมั่นคง โดยเฉพาะกระแสเงินสดภายใต้การบริหาร 78,907 ล้านบาท รวมทั้งนวัตกรรมโซลูชั่นตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าครบวงจร
นอกจากนี้ สิ่งสำคัญ เมื่อรู้ว่าธุรกิจไหนเป็นจุดอ่อนก็ต้องรีบแก้ ธุรกิจไหนเป็นเทรนด์ที่ดีก็เพิ่มเข้ามา โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวกับกรีนที่มีความต้องการใช้ทั่วโลก ทั้งเรื่องของแบตเตอรี่ อีวี และโซลาร์ เป็นต้น ส่วนธุรกิจไหนไม่ดีก็ต้องตัด ละ เลิก ในฐานะคนทำธุรกิจที่อยู่มากว่า 100 ปี ต้องเตรียมพร้อมไว้ก่อน และต้องอยู่ได้ทุกสถานการณ์
จากการที่ธุรกิจของเอสซีจีมีความหลากหลาย การปรับองค์กรต้องมีความคล่องตัว จากการที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่มีพนักงานกว่า 5 หมื่นคน การขยับตัวอาจช้า จึงต้องแบ่งเป็นธุรกิจย่อยเพื่อให้พนักงานได้ร่วมตัดสินใจ และยึดหลักบริหารองค์กรด้วยนโยบาย ESG เพื่อให้ทุกหน่วยงานคำนึงถึงด้านสิ่งแวดล้อม
ธรรมศักดิ์ กล่าวว่า ยังมีธุรกิจที่อยากขยายอีกมากในอนาคต ดังนั้น ด้วยหน้าที่ของซีอีโอ คือ ต้องเปลี่ยนธุรกิจให้เป็นกรีนและต้องมีกำไร โดยการทรานฟอร์มธุรกิจ โดยเฉพาะกรีน เอ็นเนอจี้ เพราะทุกองค์กรทั่วโลกต้องการใช้พลังงานสะอาด เอสซีจีได้มีการทยอยลงทุนมาด้านพลังงานสะอาดมาหลายปีแล้ว ทั้งในรูปแบบแบตเตอรี่ สมาร์ทกริด หรือไฮโดรเจน เป็นต้น
นอกจากนี้ จากการที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ภาคแรงงานเริ่มลดลง การอาศัย Robotics เข้ามาแทนกำลังคนจึงสำคัญ รวมถึงการเดินหน้าไปสู่ดิจิทัล และพัฒนาแพลตฟอร์ม NocNoc เพื่อตอบรับไลฟ์สไตล์กลุ่มช้อปปิ้งออนไลน์ โดยใช้เทคโนโลยี AI มาช่วยให้การซื้อขายสินค้าง่ายและเสมือนจริงมากขึ้น โดยการพัฒนาเทคโนโลยีจากพนักงานเอสซีจีเอง เป็นการการก้าวสู่ R&D อินโนเวชั่นในอนาคต
ทั้งนี้ เอสซีมีมุ่งเป้าหมายสู่ Net Zero ปี 2050 ถือว่าเร็วกว่าเป้าประเทศไทย 15 ปี ผ่าน 5 กลยุทธ์ มุ่งสู่ Inclusive Green Growth แบ่งเป็น 1. บริหารต้นทุนพลังงาน 2. โฟกัสธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโต 3. ปรับปรุงการจัดเก็บ ขนส่ง กระจายสินค้า 4. ประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 5. มุ่งส่งมอบโซลูชั่นที่ฟังก์ชั่นและราคาตรงกับความต้องการของลูกค้า
สำหรับเป้าหมายระยะสั้น หากมองภาพครึ่งปีหลังของปี 2567 ในอาเซียนยอมรับว่าประเทศไทยเติบโตช้า โดยยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง กำลังซื้อลดลง ถือเป็นปัญหาระยะยาว อีกทั้ง สินค้าจีนเข้ามาตีตลาด ถ้าปรับตัวไม่ทันก็จะแย่ เศรษฐกิจไทยยังไม่สดใส หากมองอินโดนีเซีย เวียดนาม ยังมีการลงทุนที่ดี เพราะส่วนหนึ่งมาจากการเมืองนิ่ง ดังนั้น เอสซีจีจะโตในประเทศเหล่านี้ โดยออกผลิตภัณฑ์ที่รับกับกำลังซื้อเพิ่มขึ้น
“เราเป็นห่วงเอสเอ็มอีที่ยังปรับตัวไม่ได้จึงเปิดบ้านเพื่อดูแล สนับสนุนซัพพลายเชนที่ต้องการปรับตัว เราเตรียมพร้อมรับมือทุกสถานการณ์จึงมั่นใจว่าจะผ่านไปได้ ส่วนตัวยังเชื่อว่าเอสซีจีอีก 100 ปี ข้างหน้า จะมีการเปลี่ยนแปลงไปไกล และสิ่งที่ไม่เปลี่ยนคือ บุคลากร ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการพัฒนาคน เพราะเงินหาได้จากการกู้ เทคโนโลยีซื้อได้ แต่กำลังคนที่มีพลังและความคิดที่ตรงกันสำคัญ”
ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1142520