สหรัฐผุดไอเดีย ‘แก้วใช้ซ้ำ’ ฝึกนิสัยรักการรียูส ลดใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง

ตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2567 เป็นต้นมา ลูกค้าที่ซื้อเครื่องดื่มในเมืองเปตาลูมา รัฐแคลิฟอร์เนีย จะได้รับแก้วสีม่วงสีสันสดใสที่มีคำว่า “Sip, return, repeat” (จิบ, ส่งคืน, ใช้ซ้ำ) เป็นโครงการที่ออกแบบมาเพื่อปลูกฝังแนวคิดการใช้แก้วรียูสในชีวิตประจำวัน ซึ่งความง่ายและสะดวกสบายนี้จะทำช่วยให้ผู้บริโภคและร้านค้ารู้สึกว่าการใช้แก้วรียูสไม่ได้ลำบากยากเย็น และแทบจะไม่แตกต่างจากการใช้แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง

โครงการ Petaluma Reusable Cup เป็นโครงการนำร่องระยะเวลา 3 เดือน ที่ได้รับเงินสนับสนุนจาก NextGen Consortium กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เมื่อเข้าไปที่ร้านกาแฟและสถานประกอบการที่เข้าร่วมรายการ หากลูกค้าไม่ได้พกแล้วมาเอง ลูกค้าจะได้รับแก้วพลาสติกรียูสสีม่วงสดใส (แต่ยังคงมีแก้วพลาสติกใช้ครั้งเดียวให้บริการ หากลูกค้าไม่ต้องการเข้าร่วมโครงการ)

เมื่อดื่มเครื่องดื่มเสร็จแล้ว ลูกค้าสามารถคืนแก้วได้ที่สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการแห่งใดก็ได้ หรือที่จุดรับคืนแก้ว 60 จุดกระจายอยู่ทั่วทั้งเมืองเปตาลูมา ในรัฐแคลิฟอร์เนีย โดย Muuse ผู้ให้บริการรียูสโลจิสติกส์ จะเป็นผู้รับผิดชอบในการรวบรวม ล้าง ฆ่าเชื้อ และส่งแก้วที่สะอาดกลับไปยังร้านกาแฟและร้านอาหาร

เคท ดาลี กรรมการผู้จัดการบริษัท Closed Loop Partners บริษัทที่ดูแล NextGen Consortium กล่าวว่าโครงการนี้จะเป็นก้าวสำคัญของการนำแก้วกลับมาใช้ใหม่ของสหรัฐ ซึ่งเป็นเมืองแรกที่มีโครงการริเริ่มในร้านอาหารและเครื่องดื่มทั่วเมือง นอกเหนือจากการใช้ตามพื้นที่จำกัด เช่น สนามกีฬา คอนเสิร์ต

สหรัฐผุดไอเดีย ‘แก้วใช้ซ้ำ’ ฝึกนิสัยรักการรียูส ลดใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้งแก้วสีม่วง ของโครงการ Petaluma Reusable Cup
เครดิตภาพ: Closed Loop Partners

- ไม่วุ่นวาย แค่จิบ, ส่งคืน, ใช้ซ้ำ

เป้าหมายของโครงการนี้ คือ เพื่อให้เกิดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ดาลีคาดว่าในแต่ละวันจะช่วยลดการใช้แก้วพลาสติกได้หลายแสนใบ สำหรับสาเหตุที่เลือกเมืองเปตาลูมาเป็นเมืองแรกที่ทำโครงการ เนื่องจากเป็นเมืองที่มีประชากรหนาแน่นและสามารถเดินไปใจกลางเมืองได้ง่าย และคนในชุมชนคุ้นเคยกับการนำกลับมาใช้ใหม่ จากที่เมื่อปี 2023 Starbucks ทดลองโครงการใช้แก้วไซส์เล็ก เป็นแก้วรียูสใน 12 สาขาทั่วเมืองเปตาลูมา และเมืองข้างเคียง

ในอดีตโครงการนำร่องจะจำกัดการใช้แก้วรียูสในร้านค้าเพียงแห่งเดียว ซึ่งมักจะไม่ได้ผล โดยดาลีเล่าว่า ในการทดสอบตลาดพบว่า ลูกค้าต้องการประสบการณ์ที่ง่าย และใช้ได้ในหลาย ๆ แห่ง ดังนั้นเพื่อให้เกิดนิสัยนำกลับมาใช้ใหม่ จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

“การทำให้เกิดประสบการณ์ร่วมกันของผู้บริโภคเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะผู้คนเดินทางตลอดเวลา พวกเขาซื้อของที่หนึ่งและไปทิ้งอีกที่ การนำกลับมาใช้ใหม่ต้องถูกมองว่าเป็นเรื่องง่ายและสะดวกสบาย ไม่ใช่ว่าต้องยึดติดว่าของร้านนี้ ก็ต้องมาทิ้งที่นี่” ดาลีกล่าว

ขณะที่ อเมลี แลนเดอร์ส รองประธานฝ่ายประสบการณ์ผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมของ Starbucks กล่าวว่า โครงการคืนแก้วรียูสที่ Starbucks เคยทำเมื่อปี 2023 ไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะเกิดความท้าทายจากผู้บริโภคที่มักจะไม่สะดวกนำแก้วมาคืนในจุดรับคืนที่มีเฉพาะที่ร้าน Starbucks เท่านั้น ดังนั้นจำนวนแก้วที่ได้คืนกลับมาจึงมีจำนวนไม่มากพอที่จะสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามที่ตั้งเป้าไว้

นอกจากนี้ ดาลียังกล่าวว่าการสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้าเอาแก้วกลับมาคืนที่ร้านยังเป็นเรื่องยากอยู่ โดยเธอยอมรับว่าบางครั้งการสร้างแรงจูงใจทางการเงินก็ไม่ได้ผลเสมอไป ถ้าหากมันยุ่งยากมากเกินไป

“เราลองทำกระบวนการคืนแก้วให้ง่ายที่สุด และคืนเงินให้เมื่อลูกค้าเอาแก้วมาคืน แต่มันก็ยังสร้างแรงจูงใจได้ไม่มากพอ เพราะเราจะคืนเงินได้ก็ต่อเมื่อพวกเขาสมัครแอปพลิเคชัน ใส่ข้อมูลบัตรเครดิต ซึ่งเป็นเรื่องยุ่งยาก เป็นอุปสรรคใหญ่ในการชักจูงให้คนนำแก้วกลับมาคืน” ดาลีกล่าว

ร้านที่เข้าร่วมโครงการมีมากถึง 30 แบรนด์ ตั้งแต่ร้านกาแฟและร้านอาหารในท้องถิ่น ไปจนถึงแบรนด์ใหญ่ระดับโลก ได้แก่ Starbucks, Peet’s Coffee, Dunkin’, KFC, Taco Bell และ The Habit Burger Grill รวมถึงร้านกาแฟและร้านอาหารในท้องถิ่น เช่น Petaluma Pie Company และ Tea Room Cafe

โครงการ Petaluma Reusable Cup เริ่มต้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2567 เมื่อธุรกิจในท้องถิ่นเริ่มแจกแก้วที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ ส่วนร้านค้าแฟรนไชส์แบรนด์ดัง เริ่มแจกแก้วสีม่วงวันที่ 5 สิงหาคมเป็นวันแรก และจะสิ้นสุดโครงการในเดือนพฤศจิกายนนี้

บริษัทและสตาร์ทอัพจำนวนมากร่วมกันออกแบบ จัดระเบียบ และจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการนี้ ส่วนแบรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มระดับโลกที่เข้าร่วมโครงการ ต่างเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบแก้วนี้ ซึ่งในตอนนี้มีแก้ว 2 ประเภท แยกใส่สำหรับเครื่องดื่มร้อนและเย็น แก้วแต่ละใบจะมีรหัส QR ที่ติดตามได้เพื่อช่วยติดตามผลลัพธ์

นอกจากนี้ รัฐบาลท้องถิ่น Zero Waste Sonoma และโครงการรีไซเคิลในท้องถิ่นอย่าง Recology ยังร่วมกันศึกษาว่าโครงการนี้มีความเหมาะสมและสามารถขยายผลไปยังเมืองอื่น ๆ ได้หรือไม่ หนึ่งในตัวชี้วัดที่สำคัญที่สุดที่พวกเขาเฝ้าติดตามคือ จำนวนแก้วที่ถูกส่งคืนจริงผ่านรหัส QR ที่อยู่บนแก้ว รวมถึงรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับระยะทางที่ถ้วยเดินทาง ปริมาณน้ำ และพลังงานที่ใช้ในการล้างด้วย

อันที่จริงโลหะ แก้ว และเซรามิกก็เป็นวัสดุที่เหมาะสำหรับแก้วส่วนตัว และแก้วที่นำมาใช้ซ้ำได้ แต่การใช้พลาสติกผลิตแก้วสำหรับซื้อกลับบ้านยังคงสมเหตุสมผลมากกว่า เนื่องจากแก้วพลาสติกมีน้ำหนักเบากว่า ขนส่งได้ง่ายกว่า และมีโอกาสแตกน้อยกว่า

จนถึงตอนนี้ ร้านอาหารและลูกค้าดูเหมือนว่าจะปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้ดี แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าพฤติกรรมของมนุษย์อาจจะเป็นอุปสรรคได้

“การเริ่มโครงการที่เมืองขนาดเล็กสามารถช่วยลดมลพิษได้ แต่ยังคงเกิดการขนส่งจำนวนมาก ทั้งการรับแก้วและการล้าง โครงการจะต้องมีการติดตามและตรวจสอบถังรับคืนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้ถังเต็มจนเกินไป รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคว่าเต็มใจที่จะคืนแก้วหรือไม่ ตลอดจนความต้องการของธุรกิจ เพราะบรรทัดฐานทางสังคมในการใช้แก้วแบบใช้แล้วทิ้งฝังรากลึกอยู่ในชีวิตยุคปัจจุบันอย่างมาก” อลาสแตร์ ไอเอลส์ ศาสตราจารย์ด้านการเปลี่ยนผ่านเพื่อความยั่งยืนที่ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ กล่าวกับ The Gaurdian

แม้ว่าโครงนี้จะจำกัดแค่ในเมืองเดียวและมีระยะเวลาเพียง 3 เดือน แต่อาจเป็นแรงบันดาลใจในการทำโครงการริเริ่มในเมืองอื่น ๆ ที่ต้องการกำจัดบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิต

สหรัฐผลิตขยะพลาสติกเกือบ 40 ล้านเมตริกตันทุกปี และมีเพียง 5% เท่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิล ส่วนที่เหลือจะถูกส่งไปยังหลุมฝังกลบหรือเตาเผา หรือลงเอยเป็นขยะ

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/environment/1141862 

วันที่ 31 สิงหาคม 2567