นับถอยหลังใช้กฏหมาย EPR รีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ ธุรกิจไทยพร้อมแค่ไหน

เมื่อทุกองค์กรมีเป้าหมายการพัฒนาธุรกิจมุ่งสู่ความยั่งยืน ที่ต้องขยายความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และกฎเกณฑ์การค้าโลกที่เปลี่ยนไป ได้กำหนดให้ผลิตภัณฑ์ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสามารถมีขบวนการตรวจสอบย้อนกลับของสินค้า

เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค ในผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยทำให้เป็นเครื่องมือประเทศในกลุ่มยุโรป นำมาเป็นกำแพงการกีดกันสินค้า หากปราศจากความรับผิดชอบของผู้ผลิต ซึ่งไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกจึงไม่มสามารถหลีกเลี่ยงกฎเกณฑ์ดังกล่าวได้ โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้ว

ตามหลักการ EPR (Extended Producer Responsibility) หรือหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต ซึ่งสหภาพยุโรป เตรียมประกาศใช้กับประเทศศู่ค้าในปีนี้ ส่งผลให้ทั้งภาครัฐ เอกชน ไทยต้องเร่งเตรียมความพร้อมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและกฎหมาย เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ หนึ่งในนั้นคือ พ.ร.บ.การจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน หรือ กฎหมาย EPR ซึ่งเตรียมนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในปีนี้ และคาดว่าจะเริ่มประกาศใช้ในปี 2570

นายธงชัย ศิริธร รองประธานสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต หรือ EPR เป็นการขยายความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของผู้ผลิต ครอบคลุมตลอดทั้งวงจรชีวิตของสินค้าและบรรจุภัณฑ์ ตั้งแต่การออกแบบ การผลิต ไปจนถึงขั้นตอนการจัดการหลังการบริโภค ให้ถูกต้องตามหลักการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นกติกาใหม่ตามหลัก EPR บทบาทของผู้ผลิตจึงไม่ใช่แค่ผลิตสินค้าขายแล้วจบเท่านั้น แต่ยังต้องขยายความรับผิดชอบไปถึงการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการรับคืน การเก็บรวบรวม การใช้ซ้ำ การนำกลับมาใช้ใหม่ การบำบัด เพื่อให้เกิดเป็นกระบวนการที่ยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

ความสำคัญที่ภาคเอกชนต้องเตรียมรับมือกับกฎหมาย EPR ที่เตรียมประกาศใช้ในปี 2570 โดย TIPMSE ในฐานะองค์กรหลักของภาคเอกชน ได้เดินหน้าขับเคลื่อนและพัฒนากลไก EPR ร่วมกับเครือข่ายภาคส่วนต่าง ๆ ในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านการพัฒนากฎหมาย และข้อเสนอมาตรการแรงจูงใจภาษี, การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ,การส่งเสริมการออกแบบตามหลัก Eco-Design ,การพัฒนาระบบข้อมูล ( Data Management) ,การสื่อสารสร้างความเข้าใจ และสร้างความร่วมมือ

นอกจากนี้ ยังได้เริ่มนำร่องโครงการ EPR ภาคสมัครใจ (Voluntary EPR) เพื่อให้เกิดการทดลอง และเก็บข้อมูลลดอุปสรรค ในการดำเนินจริงในอนาคต ผ่านโครงการ PackBack เก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อวันที่ยั่งยืน ในปี 2564 ในพื้นที่ 3 เทศบาล จ.ชลบุรี ได้แก่ เทศบาลเมืองแสนสุข เทศบาลเมืองบ้านบึง และเทศบาลตำบลเกาะสีชัง และเตรียมขยายผลอีก 11 เทศบาลในปี 2567 เพื่อทดลองเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยหลัก EPR

ขณะที่ทุกภาคส่วนมีความตื่นตัวในการขับเคลื่อน EPR โดยมี 100 องค์กร เข้าร่วมแสดงเจตจำนงความร่วมมือในงาน SUSTAINABILITY EXPO 2023 ที่ผ่านมา และยังมีการประกาศความร่วมมือของ 4 องค์กรภาคี ได้แก่ PPP Plastics, PRO Thailand Network, Aluminium Closed Loop Packaging System (Al Loop) และ TIPMSE PackBack และรวมถึง Collector รายใหญ่ที่พร้อมสนับสนุนอย่าง TBR หรือ SCGP ซึ่งต่างมีโครงการที่จะช่วยผลักดัน สนับสนุน กลไก EPR ให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม

เป้าหมายการตั้งองค์กร PROVE เพื่อเป็นโมเดลต้นแบบจัดการบรรจุภัณฑ์ ลดภาระต้นทุนภาคเอกชนตามหลัก EPR เป็นอีกหนึ่งแผนงานสำคัญที่ TIPMSE เตรียมขับเคลื่อน คือ การนำร่องพัฒนากลไก PRO (Producer Responsibility Organization) ซึ่งเป็นองค์กรที่จะเข้ามาเป็นตัวแทนผู้ประกอบการ ในการรับผิดชอบจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน ตามร่าง พ.ร.บ. EPR ฉบับใหม่ โดยภาคเอกชนมีแผนจะร่วมกันจัดตั้งองค์กรตัวแทน ในนาม PROVE ( Producer Responsibility Organization Voluntary EFFORT) เพื่อร่วมทดลองการดำเนินงาน EPR ภาคสมัครใจในการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว ถอดบทเรียนการดำเนินงาน และนำเสนอภาครัฐ เพื่อหาบริบทที่เหมาะสมกับประเทศไทย โดยตั้งเป้าเปิดตัวองค์กร PROVE อย่างเป็นทางการในงาน SUSTAINABILITY EXPO 2024 ช่วงเดือน ต.ค.นี้

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. EPR ได้กำหนดแนวทางการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนไว้ 2 รูปแบบ คือ ผู้ประกอบการรับผิดชอบจัดการเอง (Individual Producer Responsibility: IPR) และ ร่วมกันจัดตั้งองค์กรกลางที่เรียกว่า PRO เข้ามารับผิดชอบ ซึ่งจากการระดมความคิดเห็น ผู้ประกอบส่วนใหญ่เห็นพ้องไปในแนวทางจัดตั้งองค์กร PRO ร่วมกัน มากกว่าต่างคนต่างจัดการกันเอง

“เชื่อมั่นว่า ภาคเอกชนสามารถจับมือกันเพื่อบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์ แต่ขอให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนในด้านต่าง ๆ เช่น การออกกฎหมาย กำหนดให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น เทศบาล ให้ภาคครัวเรือนคัดแยกขยะ เพื่อให้ทุกฝ่ายเดินไปด้วยกัน เพราะการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง หรือของภาครัฐเท่านั้น แต่ต้องมีภาคเอกชน ประชาสังคม ประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกัน ”

ที่ผ่านมา ประเทศไทยมี 7 บริษัทเอกชนรายใหญ่ที่รวมตัวกัน ภายใต้ PRO-Thailand Network นำร่องจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว 3 ประเภท ขวดพลาสติก PET กล่องเครื่องดื่ม และถุงขนม นอกจากนี้ ยังมี Aluminum Loop ที่ดำเนินการด้านอะลูมิเนียม มี PPP Plastic ที่ดำเนินการด้านพลาสติก ตอนนี้จากที่แยกกันทำอยู่ ทำอย่างไรที่ขยายประเภทบรรจุภัณฑ์มากขึ้น และบูรณาการการทำงานร่วมกันเป็นองค์กร PRO หนึ่งเดียวที่จัดการบรรจุภัณฑ์ได้อย่างครอบคลุม

ความท้าทายก่อนที่จะมีการประกาศใช้กฎหมาย EPR ในปี 2570 คือ การสร้างความรู้ความเข้าใจ และเตรียมความพร้อมทุกภาคส่วน ไม่ใช่เพียงแค่ผู้ประกอบการ แต่รวมถึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตลอดทั้ง Value Chain ไม่ว่าเป็นผู้บริโภค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฯลฯ โดย TIPMSE ได้เดินหน้าจัดกิจกรรมเพื่อเตรียมความพร้อมอย่างต่อเนื่อง

ที่มา: https://www.thansettakij.com/climatecenter/sustainability/602995 

วันที่ 04 สิงหาคม 2567