การพัฒนาที่ยั่งยืน คือพัฒนาที่ตัวมนุษย์ มนุษย์เป็นผู้สร้างปัญหา ถ้าจัดการขยะอย่างเดียวไม่จัดการมนุษย์ก็คือไม่ยั่งยืน แต่ถ้าบริหารคนให้มีความรู้ มีศรัทธา มีวิธีการ ทำอย่างไรเราจะจัดการขยะได้ นั่นแหละก็คือวิธีการที่ทางวัดได้ทำ
Eco-Curious หลายตอนที่ผ่านมา เราเห็นขยะหลายประเภทแปลงเป็นของเก๋ ไม่ว่าจะเป็นรองเท้าผ้าใบที่ทำจากเตียงยางพาราและขวดพลาสติก ชุดเสื้อผ้าและกระเป๋าทำจากฝาขวดน้ำ หรือแม้แต่เฟอร์นิเจอร์ของแต่งบ้านที่แปลงขยะกำพร้าให้กลายสิ่งใหม่ ฯลฯ แต่สำหรับผ้าไตรจีวรของพระสงฆ์ การลุกขึ้นมาจัดการขยะของเจ้าอาวาสวัดจากแดงไม่เพียงแต่ช่วยชุมชนจัดสรรและจัดการขยะ แต่ยังตามมาด้วยชุดผ้าไตรจีวรที่นำขวดพลาสติกมารีไซเคิล ไปสู่พระเครื่องทำจากขวดแก้ว จนถึงศูนย์แยกขยะ ที่ทำให้ชุมชนบางกระเจ้าและชาวบ้านในคุ้ง 6 ตำบล มีงานและรายได้
Eco-Curious ตอนนี้เราจะไปดูศูนย์รีไซเคิลวัดจากแดง ที่เขารับแยกขยะและส่งขวดพลาสติกบางส่วนไปแปลงเป็นจีวรพระ แนวคิดของพระอาจารย์คืออะไร และจีวรพระสงฆ์ที่ทำจากขวดพลาสติกใช้ได้ดีเหมือนผ้าอื่นๆ หรือเปล่า ติดตามได้ใน Eco-Curious EP.9 จีวรพระสงฆ์ที่ทอจากขยะ
What is ‘จีวร วัดจากแดง’?
จีวร วัดจากแดง เป็นโปรเจกต์รีไซเคิลขยะของวัดจากแดง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ที่มีหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่เป็น ‘พระมหาประนอม ธมฺมาลงฺกาโร’ เจ้าอาวาสวัดจากแดง มีจุดตั้งต้นมาจากความต้องการคัดแยกและจัดการขยะในวัด ที่มักลอยมากับแม่น้ำ โดยพระมหาประนอม ธมฺมาลงฺกาโร ได้มีโอกาสไปดูงานโมเดลการรีไซเคิลขยะ และเห็นว่าขวดพลาสติกสามารถนำไปแปลงเป็นเสื้อผ้าได้ ในเมื่อทำเป็นเสื้อผ้าได้ แล้วทำไมจะทำเป็นผ้าไตรจีวรบ้างไม่ได้
“ในพระไตรปิฎกมีผ้าบังสุกุลจีวร เป็นผ้าเปื้อนฝุ่นเก็บจากกองขยะหรือผ้าห่อศพ หรือผ้าทิ้งๆ ทั่วไปก็ดี นำมาทำความสะอาดแล้วเย็บใหม่เป็นจีวรพระ ถ้าอย่างนั้นเราเอาขวดน้ำมาทำเป็นผ้าบังสุกุลจีวรได้”
How sustainable is it?
การผลิตผ้าบังสุกุลจีวร 1 ผืน ต้องใช้ขวดพลาสติก PET 15 ขวด แต่ถ้าเป็นชุดไตรจีวรจะใช้ทั้งหมด 60 ขวด ตามความยาวผ้าที่ต้องใช้มากขึ้น โดยทางวัดจะคัดเลือกและส่งขวด PET ไป Upcycling ที่โรงงาน แปรรูปให้เส้นใยรีไซเคิล ก่อนนำไปย้อม ถักทอ และเย็บ ตามหลักพุทธให้กลายเป็นเครื่องนุ่งห่ม
นอกจากนำขวดพลาสติกไปรีไซเคิลเป็นผ้าไตรแล้ว ทางวัดยังจัดตั้งศูนย์รีไซเคิลวัดจากแดงให้กลายเป็นศูนย์รีไซเคิลและคัดแยกขยะประจำย่าน ซึ่งมีโครงการมากมายที่เกี่ยวข้องกับขยะ และยังนำขยะอื่นๆ กลับไปรีไซเคิลเป็นข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ ไปจนถึงพระเครื่องด้วย แต่สิ่งที่เราชอบคือความยั่งยืน ที่สุดท้ายแล้วพระอาจารย์ยังสร้างงาน สร้างอาชีพ ชักชวนคนในชุมชนมาดูแลจัดการและทำงานร่วมกัน
ที่มา: https://thestandard.co/life/monks-robes-wat-chak-daeng/