กลุ่มสยามสินธร ยึดมั่นแนวทางองค์กรธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีแห่งความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง จับมือพันธมิตร Wake Up Waste แพลตฟอร์มบริหารจัดการ ซื้อขายขยะรีไซเคิล และรถบีบอัดช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการขยะ จากบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC เจ้าของรางวัล Gold Award จากเวที Marketing Award of Thailand 2023 ตอกย้ำความเป็นผู้นำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่คำนึงถึงผลกระทบในทุกมิติทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชน มาตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี
นายอภิชัย สิริดำรงพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามสินธร จำกัด เผยว่า แนวคิดเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนของกลุ่มสยามสินธร ตามวิสัยทัศน์ที่ต้องการขับเคลื่อนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ควบคู่ไปกับการใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม และดำเนินธุรกิจในวิถีแห่งความยั่งยืน โดยมุ่งเน้นในเรื่องของการประหยัดพลังงาน การจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ การเลือกคู่ค้าที่มีแนวความคิดด้านสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกัน รวมถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจที่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ในการใช้ทรัพยากรและบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้อย่างถูกวิธี เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนและนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยความร่วมมือระหว่าง สยามสินธร และ สตาร์ทอัพ “Wake Up Waste” แพลตฟอร์มและรถบีบอัด จาก SCGC เจ้าของรางวัล Gold Award จากเวที Marketing Award of Thailand 2023 ได้เข้ามาช่วยให้กระบวนการตั้งแต่ต้นทางไปจนสู่การรีไซเคิลครบวงจร โดยเริ่มที่ โครงการสินธร วิลเลจ ประกอบไปด้วย คอนโดมิเนียม 5 อาคาร คือ สินธร เรสซิเดนซ์ (Sindhorn Residence), สินธร ต้นสน (Sindhorn Tonson), สินธร ลุมพินี (Sindhorn Lumpini), เดอะ เรสซิเดนซ์ แอท สินธร เคมปินสกี้ โฮเทล แบงค็อก (The Residences at Sindhorn Kempinski Hotel Bangkok) และบ้านสินธร (Baan Sindhorn); โรงแรม 5 ดาว 3 โรง คือ โรงแรมสินธร เคมปินสกี้ กรุงเทพฯ (Sindhorn Kempinski Hotel Bangkok), โรงแรมคิมป์ตัน มาลัย กรุงเทพฯ (Kimpton Maa-Lai Bangkok Hotel) และโรงแรมสินธร มิดทาวน์ กรุงเทพฯ, วีนแยทท์ คอลเลคชั่น (Sindhorn Midtown Hotel Bangkok, Vignette Collection); อาคารสำนักงาน 1 อาคาร คือ อาคารสินธร (Sindhorn Offices); คอมมูนิตี้มอลล์ คือ เวลา สินธร วิลเลจ หลังสวน (Velaa Sindhorn Village Langsuan) รวมไปถึงธุรกิจอื่นๆ ภายใต้สยามสินธร ทั้ง ดิ โอลด์ สยาม พลาซ่า (The Old Siam Plaza), อาคารศรีจุลทรัพย์ (Srijulsup Premium Midsize Office), สนามฟุตบอล โปโล พาร์ค (Polo Football Park) และธุรกิจร้านอาหารอย่างเสน่ห์จันทน์ (Saneh Jaan) และคาเฟ่ ไอเฟล (Café Eiffel)
“ปัญหาที่พบของกลุ่มผู้อยู่อาศัยตามคอนโด โรงแรม อาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร หรืออาคารที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก มักจะมีปัญหาเรื่องขยะตกค้างเป็นจำนวนมากต่อวัน โดยที่ขยะจำนวนมากนี้ยังขาดการแยกประเภทขยะอย่างถูกวิธี และมักจะเอาขยะรีไซเคิลทั้งหมดรวมกันในถุงเดียว ทำให้มีการปนเปื้อน ไม่สะอาด บางส่วนก็หลุดรอดลงไปเป็นขยะในแม่น้ำหรือทะเล ทำให้เกิดมลภาวะต่างๆ” นายอภิชัย กล่าว
โดยการจัดการขยะของ Wake Up Waste จะทำการบันทึกข้อมูลการรับซื้อแบ่งตามประเภทขยะ น้ำหนัก ราคา เพื่อจัดรถขนส่งไปรับเป็นรถบีบอัดขยะรีไซเคิลที่ติดตั้งเครื่องบีบอัดบนรถกระบะสี่ล้อจัมโบ้ เพื่อส่งต่อวัตถุดิบคุณภาพให้โรงงานรับซื้อเฉพาะทาง ไม่ว่าจะเป็นของเอสซีจี โรงงานพันธมิตรเอสซีจีซี หรือโรงงานภายนอก ทำให้มีส่วนต่างราคาที่สูงขึ้น ผ่าน Web Application ที่ช่วยให้การรับซื้อและขนส่งไปยังโรงงานปลายทางเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส เก็บข้อมูลได้ พร้อมรายงานสรุปภาพรวมขยะรีไซเคิล ปริมาณการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ การเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ เพื่อให้ผู้ขายได้รับรู้ถึงการมีส่วนช่วยในการรักษ์โลก
“การร่วมมือกับ Wake Up Waste เป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการใช้งานทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และเมื่อใช้แล้ว ก็ต้องสามารถนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธี เพราะหากจัดการเป็นอย่างดีแล้วจะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้มาก ซึ่งเป็นไปตามหลักคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ว่าด้วยการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน” นายอภิชัยกล่าว
ทั้งนี้ แนวคิดสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อสังคมและการจัดการขยะเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนดังกล่าวเป็นหนึ่งในหลายกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายใต้การขับเคลื่อนของ บริษัท สยามสินธร จำกัด ที่มุ่งมั่นพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มาตรฐานสูง โดยคำนึงถึงการสร้างสังคมคุณภาพ ผ่านกระบวนการออกแบบ การก่อสร้าง การบริหารจัดการ ที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการอยู่ร่วมกันของเมืองกับธรรมชาติ
“เราร่วมสร้างอนาคตที่ดีกว่าสำหรับการใช้ชีวิต การทำงาน และการพักผ่อน ด้วยบริการที่ยอดเยี่ยม สิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน เพื่อสิ่งแวดล้อมแห่งความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคน และเน้นสร้างคุณค่าระยะยาวสำหรับการอยู่อาศัยในอนาคต” นายอภิชัย กล่าว
ที่มา: https://www.thansettakij.com/climatecenter/sustainability/600682