เปิดโรงงาน“ยูนิลีเวอร์” ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ตั้งป้า Net Zero ในปี 2582

ยักษ์ใหญ่แห่งสินค้า FMCG เปิดบ้าน “โรงงานเกตเวย์” โรงงานในเครือ“ยูนิลีเวอร์” โชว์ผลงานใช้พลังงานหมุนเวียน 100% เป็นไปตามเป้า มุ่งสู่ Net Zero พร้อมขับเคลื่อนการสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกอย่างยั่งยืน

โรงงานเกตเวย์เป็นโรงงานผลิตอาหารและสินค้าให้ร้านค้าปลีกและร้านค้าส่งของยูนิลีเวอร์ที่ดำเนินการด้านความยั่งยืน มุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็น “ศูนย์” (Net Zero) ตั้งแต่การบริหารจัดการขยะฝังกลบเป็นศูนย์เป็นผลสำเร็จตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 การปรับเปลี่ยนเป็นสารทำความเย็นที่มีประสิทธิภาพดีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเรื่อยมาตั้งแต่ธันวาคม พ.ศ. 2564 การบรรลุเป้าหมายสำคัญด้วยการเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนผ่านการพัฒนาระบบเครื่องกำเนิดไอน้ำเชื้อเพลิงชีวมวล (Biomass Boiler) และระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนอาคาร (Solar Roof) ตอกย้ำความมุ่งมั่นของยูนิลีเวอร์ในการขับเคลื่อนด้านพลังงานสะอาด มุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็น “ศูนย์” โดยโรงงานเกตเวย์ได้รับการรับรองให้เป็นหนึ่งในโรงงานยูนิลีเวอร์ที่ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% พร้อมขับเคลื่อนการสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกอย่างยั่งยืน

นางสาวพนิตนาย จำรัสพันธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร กลุ่มบรัทยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัทยูนิลีเวอร์ทั่วโลกมีโรงงานกว่า 280 โรงงาน มีกำลังการผลิต 21 ล้านตันต่อปี มีคลังสินค้ากว่า 430 คลัง และมีออเดอร์ 23 ล้านออเดอร์ต่อปี มีการขยายขอบเขต ระดับภูมิภาค สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้สิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซในสโคป 1-2 ไปกว่า 74% ตอนนี้โรงงานสามารถนำของเสียไปรีไซเคิลได้ทั้งหมดประมาณ 80% ของวัตถุดิบมาจากแหล่งจัดหาที่ยั่งยืน 97.5% ไม่เกินจากการตัดไม้ทำรายป่า และสินค้ากว่า 53% นำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ ยูนิลิเวอร์ในไทย ดำเนินกิจการมากว่า 50 ปี สินค้าเข้าถึงผู้บริโภคกว่า 25 ล้านครัวเรือนใช้ผลิตภัณฑ์เฉลี่ย 3 ครั้งต่อวัน ในไทยมี 7 โรงงาน มีกำลังการผลิต 90% ที่ผลิตมาจาก 7 โรงงานนี้ มีชนิดผลิตภัณฑ์ 2000 สินค้า มีออเดอร์ 1 ล้านออเดอร์ต่อปี

หนึ่งใน 7 โรงงานดังกล่าว โรงงานเกตเวย์มีหน้าที่รับผิดชอบในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่เข้าถึงชีวิตผู้คนจำนวนมากทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ประกอบไปด้วยผลิตภัณฑ์แบรนด์คนอร์ (Knorr), คนอร์ สำหรับผู้ประกอบการมืออาชีพ (Knorr Professional), เบสท์ฟู้ดส์ (Best Foods), เฮลล์แมนน์ (Hellmann′s) และ เลดี้ ชอยซ์ (Lady′s Choice) กับเป้าหมายหลักของโรงงานเกตเวย์ที่ไม่เพียงแต่สร้างและส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังมุ่งมั่นสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ผ่านนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยอีกด้วย

โรงงานเกตเวย์ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ จังหวัดฉะเชิงเทรา มีโซนการผลิตหลัก 2 โซน คือ

1. โรงงานผลิตซอสแบบแห้ง เน้นการผลิตน้ำซุปเนื้อก้อน ข้าวโจ๊กสำเร็จรูป และผลิตภัณฑ์ผสมแห้ง
2. โรงงานผลิตซอสแบบเปียก เน้นการผลิตผลิตภัณฑ์ซอสและผลิตภัณฑ์น้ำสลัด

โรงงานเกตเวย์มีความสามารถในการผลิตสูง สามารถผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศ และยังส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังต่างประเทศได้ โดยปัจจุบันส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ เช่น กัมพูชา ลาว พม่า สิงคโปร์ มาเลเซีย และประเทศโดยรอบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงออสเตรเลีย

ความมุ่งมั่นของโรงงานเกตเวย์กับการเป็นโรงงานพลังงานหมุนเวียน 100% (Renewable Energy)

โรงงานเกตเวย์ได้เริ่มดำเนินงานเกี่ยวกับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง เราได้ริเริ่มโครงการที่สนับสนุนนโยบายด้านความยั่งยืน และดำเนินภายใต้แผนการเปลี่ยนแปลงการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Transition Action Plan: CTAP) เพื่อลดการเกิดของเสียจากกระบวนการผลิต และลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด ตัวอย่างความสำเร็จจากการดำเนินงานด้านความยั่งยืนเรื่องสภาพภูมิอากาศ ได้แก่

1. พลังงานไอน้ำ: เราได้พัฒนาระบบหม้อต้ม (Boiler) ที่ใช้ในกระบวนการผลิตและการล้างทำความสะอาดเครื่องจักร เพื่อเปลี่ยนจากการใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงซึ่งมีการผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มาเป็นการใช้หม้อต้มที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวลมาผลิตพลังงานไอน้ำ โดยในโรงงานเกตเวย์มีหม้อต้มขนาดใหญ่ 3 ตัน

ด้วยประเทศไทยมีความโดนเด่นในด้านอุตสาหกรรมเกษตรและมีความยั่งยืนในด้านปริมาณของเชื้อเพลิงชีวมวล ในปี พ.ศ. 2560 ทีมงานของโรงงานเกตเวย์จึงได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลสำหรับหม้อต้มน้ำของโรงงาน จากกระบวนการนี้ มีความท้าทายเป็นอย่างมาก อาทิ

- การปฏิบัติตามมาตรฐานการจัดหาแหล่งพลังงานชีวมวลของยูนิลีเวอร์: เชื้อเพลิงชีวมวลที่นำมาใช้จะต้องมีคุณสมบัติตามมาตรฐานการจัดหาแหล่งพลังงานชีวมวลของยูนิลีเวอร์ (Unilever’s Biomass, Biogas & Bioliquids Sourcing Standard) เช่น ไม้ที่ใช้ต้องเป็นพืชที่ปลูกเพื่อเป็นแหล่งพลังงานเท่านั้น ไม่มาจากการตัดไม้ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และต้องเป็นผลิตภัณฑ์พลอยได้หรือไม้ที่เป็นขยะจากอุตสาหกรรมที่ใช้ไม้ หรือของเหลือจากอุตสาหกรรมการเกษตร (Post-industrial waste) โดยต้องไม่ใช่พืชที่ปลูกเพื่อเป็นแหล่งอาหารของมนุษย์ นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงคาร์บอนที่เกิดระหว่างการขนส่งเชื้อเพลิงมายังโรงงานอีกด้วย

- การหาผู้ผลิตเศษไม้ที่มีแหล่งที่มาของไม้ เศษไม้ และกระบวนการผลิต Wood Pellet รวมถึงการขนส่งที่ผ่านมาตรฐานการจัดซื้อแหล่งเชื้อเพลิงชีวมวล: ต้องมีการตรวจสอบแหล่งผลิต และใบรับรองแหล่งผลิตไม้ ที่สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของไม้ก่อนนำมาใช้งานได้ และยังต้องหาผู้ผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวมวลสำรองสำหรับกรณีที่แหล่งผลิตมีปัญหาไม่สามารถจัดส่ง Wood Pellet ได้

- การมองหาเชื้อเพลิงชีวมวลในรูปแบบอื่นสำรอง: เชื้อเพลิงชีวมวลที่มีค่าความร้อนสูง หรือมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับ Wood Pellet เช่น วัสดุเหลือใช้อื่น ๆ จากภาคการเกษตร เพื่อนำมาใช้ทดแทนกรณีที่แหล่งผลิต Wood Pellet มีปัญหา

- การตรวจรับ เก็บรักษาเชื้อเพลิงชีวมวล: ตรวจรับ เก็บรักษาเชื้อเพลิงชีวมวล และบริหารปริมาณการจัดเก็บเชื้อเพลิงให้เหมาะสมกับอัตราการใช้งาน โดยในส่วนของพื้นที่จัดเก็บ โรงงานได้จำกัดพื้นที่เก็บ Wood Pellet ในอาคารที่มีการระบายอากาศได้ดี ไม่มีความเสี่ยงจากลมและฝน เพื่อไม่ให้มีความชื้นสูงเกินไปซึ่งจะส่งผลถึงประสิทธิภาพของหม้อต้มได้ ขณะที่ขั้นตอนการตรวจรับ Wood Pellet ได้มีการเก็บตัวอย่างเพื่อวัดค่าความชื้นก่อนนำเข้าจัดเก็บอยู่เสมอ

เนื่องจาก Wood Pellet เป็นวัสดุที่ติดไฟได้ดีจึงจัดเก็บในอาคารที่มีขนาดเล็ก และมีการบริหารการขนส่ง เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดเพลิงไหม้

อย่างไรก็ตาม Wood Pellet หรือเชื้อเพลิงชีวมวลอื่น ๆ ก็มีข้อเสียด้วยเช่นกัน คือเมื่อเผาไหม้แล้วจะมีเขม่า และมีฝุ่นออกจากปล่องระบาย ทำให้ต้องติดตั้งระบบบำบัดอากาศโดยโรงงานเกตเวย์ได้ติดตั้งระบบดักฝุ่นด้วยไซโคลน (Cyclone system) และ Wet Scrubber โดยใช้น้ำ พร้อมจัดหาพื้นที่จัดเก็บขี้เถ้า จัดสรรงบประมาณในกำจัดขี้เถ้า การบำรุงรักษาและการตรวจคุณภาพอากาศหลังผ่านระบบบำบัดมลพิษอากาศ เพื่อให้มั่นใจว่าอากาศที่ปล่อยออกจากปล่องผ่านมาตรฐานที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนด

- การควบคุมอุณหภูมิระหว่างการเปลี่ยนรอบ: การคำนวณความร้อนในการเผาเชื้อเพลิงให้คงที่แม้จะมีการเปลี่ยนกะทำงานนั้นก็ถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทาย ต้องมีการปรับเปลี่ยนการตั้งค่า เพื่อให้ระบบทำงานอย่างมีเสถียรภาพ เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ ทักษะทางเทคนิคของผู้ดูแลเครื่องกำเนิดไอน้ำเชื้อเพลิงชีวมวลมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

- การลำเลียงขี้เถ้าเพื่อผลิตไอน้ำในหม้อต้มชีวมวล: เชื้อเพลิงชีวมวลจะถูกลำเลียงด้วยสายพานอย่างต่อเนื่องเข้าสู่ห้องเผาไหม้เพื่อให้ความร้อนกับเครื่องกำเนิดไอน้ำเพื่อผลิตไอน้ำ เมื่อเลือกใช้เชื้อเพลิงจากชีวมวลเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ภายหลังการใช้งานจะมีขี้เถ้าที่เหลือจากการเผาชีวมวล ทีมงานจึงต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์นำขี้เถ้าออกจากหม้อต้มเพื่อให้สามารถใช้หม้อต้มได้อย่างต่อเนื่องเต็มประสิทธิภาพ ประหยัดทรัพยากรบุคคลในการเก็บขี้เถ้าและป้องกันอุบัติเหตุกับพนักงานได้ด้วย โดยระบบสายพานลำเลียงขี้เถ้าออกจากห้องเผาไหม้ ช่วยให้ใช้งานเครื่องกำเนิดไอน้ำชีวมวลได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องหยุดทำความสะอาดขี้เถ้าคงค้างในห้องเผาไหม้อย่างน้อย 3 สัปดาห์

- การบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลง: การเปลี่ยนแปลงมีความสำคัญต่อการพัฒนาและเติบโตขององค์กร ที่มาพร้อมความท้าทาย ทั้งการนำทุกฝ่ายมาทำงานร่วมกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเดียวกัน และการบริหารจัดการกับการทำงานร่วมกันท่ามกลางบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน การเปิดรับวิธีคิดหรือการดำเนินการใหม่ ๆ จึงนับเป็นเรื่องที่ท้าทาย พนักงานหรือบางฝ่ายอาจกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลง การสร้างการมีส่วนร่วม และความเป็นผู้นำเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการยอมรับและส่งเสริมวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมและการปรับตัว

2. พลังงานไฟฟ้า: เราได้ดำเนินการขั้นตอนสำคัญสู่แนวทางปฏิบัติด้านพลังงานที่ยั่งยืน โดยได้ร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อให้แน่ใจว่าพลังงานทั้งหมดมาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน 100% ความมุ่งมั่นนี้รวมถึงการซื้อพลังงานหมุนเวียนจากผู้ที่ได้ใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable energy certificates: RECs) ในประเทศไทยเพื่อทดแทนการปลดปล่อยคาร์บอนจากการผลิตพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ 100% นอกจากนี้ยูนิลีเวอร์ยังได้ทำหนังสือบันทึกความร่วมมือเพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์เพื่อทำการศึกษาร่วมกับกฟผ. ในการหาแหล่งพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 100% มาจัดจำหน่ายให้กับยูนิลีเวอร์ ซึ่งตอกย้ำความมุ่งมั่นของเราต่อความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

3. พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนอาคาร (Solar Roof): นอกจากความร่วมมือกับภาครัฐ โรงงานเกตเวย์ยังได้ริเริ่มโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ โดยเรามุ่งเน้นไปที่การควบคุมพลังงานไฟฟ้าจากแสงแดดบนอาคารที่มีกำลังผลิตพลังงานที่สะอาดและยั่งยืนจำนวน 560 กิโลวัตต์ (หรือ 0.56 MWP) เพื่อลดการใช้พลังงานที่มาจากแหล่งเชื้อเพลิงที่เป็นแหล่งก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม และเพิ่มอัตราการใช้พลังงานหมุนเวียน มาตรการความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในระหว่างการดำเนินการและการปฏิบัติงานที่โรงงานของเรา โดยเราจะต้องตรวจสอบโครงสร้างอาคารและปรับปรุงโครงสร้างอาคารก่อนการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ เพื่อให้มั่นใจว่าอาคารมีความแข็งแรงเพียงพอที่จะรับน้ำหนักของแผงโซล่าเซลล์ ระบบควบคุมไฟฟ้า (Inverter) ตู้ควบคุมไฟฟ้า และอุปกรณ์อื่น ๆ เช่น ระบบทำความสะอาดแผงโซล่าเซลล์ และระบบความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน เป็นต้น ซึ่งกระบวนการนี้มีความท้าทายเป็นอย่างมาก เช่น กระบวนการในการขอใบอนุญาตในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จาก 3 ภาคส่วน คือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และกระทรวงพลังงาน อาจมีความซับซ้อนเนื่องจากมีเอกสารจำนวนมากที่ต้องนำส่งเสนอ ซึ่งเอกสารเหล่านี้มักประกอบด้วยข้อมูลทางเทคนิค การประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการปฏิบัติตามข้อกำหนดทั้งหมดจำเป็นต้องมีการวางแผนเรื่องทรัพยากรและเวลาเป็นอย่างดี

4. สารทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม: สารทำความเย็นส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศเนื่องจากมีคุณสมบัติของก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเมื่อปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศมีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ดังนั้น เราจึงให้ความสำคัญในการเลือกใช้สารทำความเย็นในระบบต่าง ๆ ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด โดยยกเลิกการใช้สารทำความเย็นที่มีคุณสมบัติเป็นก๊าซเรือนกระจก ไม่ว่าจะเป็นสารคาร์โรฟลูออโรคาร์บอน (CFCs) หรือ สารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (HCFCs) เช่น R22 R304 และ R407 ซึ่งใช้ในระบบทำความเย็นที่มีปริมาณในระบบมากกว่า 5 กิโลกรัม โดยโรงงานของยูนิลีเวอร์ได้ทำการเปลี่ยนเป็นสารทำความเย็นทั้งหมดให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแต่ยังคงมีประสิทธิภาพดี ตั้งแต่ธันวาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นมา โดยกระบวนการนี้ได้มาตรฐานตามค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming Potential: GWP) น้อยกว่า 5 GWP และค่าแสดงระดับการทำลายโอโซน (Ozone depletion potential: ODP) เป็น “ศูนย์” เท่านั้น นอกจากนี้ การจัดการเรื่องการกำจัดสารทำความเย็นยังต้องได้รับการดำเนินการจากบริษัทฯ ที่ได้รับการรับรองว่ามีการกำจัดสารทำความเย็นด้วยวิธีการที่ถูกต้องและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เพราะยูนิลีเวอร์ไม่เพียงให้ความสำคัญกับปริมาณคาร์บอนที่เกิดขึ้นจากการผลิตเท่านั้น แต่ยังตระหนักถึงการปล่อยสารที่ต้องไม่ทำลายชั้นโอโซนอีกด้วย

จากความสำเร็จจากการดำเนินงานด้านความยั่งยืนเรื่องสภาพภูมิอากาศของโรงงานเกตเวย์ข้างต้น ทำให้โรงงานเกตเวย์ได้รับการรับรองให้เป็นหนึ่งในโรงงานยูนิลีเวอร์ที่ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ในปี พ.ศ. 2566

แผนงานด้านความยั่งยืนในอนาคต

โรงงานเกตเวย์เป็นความภาคภูมิใจของยูนิลีเวอร์ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการลดสภาวะก๊าซเรือนระจกในระดับประเทศและระดับชุมชน รวมไปถึงการจัดการของเสียที่ผ่านการ ลดการใช้งาน (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) การนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) การคืนสภาพ (Recover) เพื่อที่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราสามารถนำไปผสมกับหัวอาหารและนำไปเลี้ยงสัตว์ หรือโครงการห้ามนำขยะอุตสาหกรรมที่ไม่อันตรายไปฝังกลับโดยร่วมมือกับสำนักงานการนิคมเกตเวย์นำตะกอนจากกระบวนการบำบัดน้ำเสียด้วยกระบวนการชีวภาพบางส่วนให้เกษตรกรโดยรอบนิคมนำไปทำปุ๋ยเพื่อใช้ประโยชน์ นอกจากนี้ทางโรงงานเกตเวย์ยังร่วมมือกับหน่วยงานสาธาณูปโภค นิคมเกตเวย์ให้ความรู้กับชุมชนและธุรกิจขนาดย่อยในการทำโครงการด้านความยั่งยืนเพื่อที่จะสามารถไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในอนาคตอีกด้วย

นอกจากนี้การเปลี่ยนไปใช้พลังงานแสงอาทิตย์ถือเป็นการดำเนินงานเชิงรุกในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากการใช้พลังงานไปไฟฟ้าในรูปแบบเชื้อเพลิง โดยในเฟสแรกโรงงานเกตเวย์ได้ติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์บนอาคาร พร้อมใช้งานเต็มกำลังเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะที่เฟส 2 นั้นมุ่งเน้นไปที่การศึกษาตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุดสำหรับแผงโซลาร์เซลล์บริเวณพื้นที่ของโรงงานเพิ่มเติม โดยแนวทางการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จะเน้นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานในโรงงานไปพร้อมกัน มีการพิจารณาอย่างรอบคอบในการเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมและปลอดภัยสำหรับการติดตั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าจะเป็นการรบกวนพื้นที่สีเขียวภายในบริเวณโรงงานน้อยที่สุด ด้วยการบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานพลังงานแสงอาทิตย์ในลักษณะที่กลมกลืนกับภูมิทัศน์ธรรมชาติของโรงงาน

จากความสำเร็จของโรงงานเกตเวย์ ในกลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย ในการเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนผ่านการติดตั้งระบบเครื่องกำเนิดไอน้ำเชื้อเพลิงชีวมวล (Biomass Boiler) และระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนอาคาร (Solar Roof) รวมถึงการเลือกใช้สารทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่เริ่มมีการปรับเปลี่ยนเรื่อยมาตั้งแต่ธันวาคม พ.ศ. 2564 จนได้รับการรับรองให้เป็นหนึ่งในโรงงานยูนิลีเวอร์ที่ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ที่จับต้องได้ของโครงการริเริ่มที่ยั่งยืน ยูนิลีเวอร์เดินหน้าขยายความสำเร็จสู่ก้าวต่อไปยังโรงงานมีนบุรี โดยใช้ประโยชน์จากข้อมูลเชิงลึกที่ได้รับจากประสบการณ์ในอดีต และแปลให้เป็นกลยุทธ์ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ด้วยเหตุนี้ โรงงานมีนบุรีจึงได้รับการยอมรับว่าเป็นอีกหนึ่งโรงงานสีเขียวในพอร์ตโฟลิโอของยูนิลีเวอร์ ทั้งนี้ยูนิลีเวอร์ยังแบ่งปันองต์ความรู้ต่าง ๆ ให้กับหน่วยงาน หรือองค์กรที่สนใจ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนในอนาคตอีกด้วย

โรงงานเกตเวย์ ไม่เพียงเน้นย้ำถึงความสำคัญของความยั่งยืน แต่ยังชี้ให้เห็นถึงพลังของการแบ่งปันความรู้และความพยายามในการทำงานร่วมกันภายในองค์กร ด้วยการเรียนรู้และการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งนวัตกรรมและความยั่งยืน โดยโรงงานมีนบุรีและองค์กรต่าง ๆ ที่สนใจสามารถศึกษาความสำเร็จนี้ได้ผ่านบทเรียนจากการดำเนินงานของโรงงานเกตเวย์ เพื่อปูทางสู่อนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืนยิ่งขึ้น

ที่มา: https://www.thansettakij.com/climatecenter/net-zero/599143 

วันที่ 17 มิถุนายน 2567