กรมอนามัยเปิด 6 วิธี ชวนลด ‘ขยะพลาสติก’ สกัดภาวะโลกเดือด
วันนี้ (5 มิถุนายน 2567) พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า วันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี เป็นการรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักและเห็นความสำคัญด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม รวมทั้งลดการใช้พลาสติก กรมอนามัยจึงสำรวจความคิดเห็นของประชาชนด้วยอนามัยโพล ผลการสำรวจพบว่า ประชาชนร้อยละ 50.8 ใช้พลาสติก จำนวน 2 – 3 ชิ้นต่อวัน โดยร้อยละ 72.2 ใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วมากที่สุด รองลงมา คือ ขวดน้ำพลาสติก และหลอดพลาสติก สอดคล้องกับ ข้อมูลสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย โดยกรมควบคุมมลพิษ ปี 2565 พบว่า มีขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (single-use plastics) ร้อยละ 11 ของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมด หรือ 2.83 ล้านตันต่อปี โดยมีการนำขยะพลาสติกกลับไปใช้ประโยชน์ซ้ำเพียงร้อยละ 25 หรือประมาณ 0.71 ล้านตัน เท่านั้น ส่วนที่เหลือประมาณ 2.04 ล้านตัน จะถูกนำไปฝังกลบรวมกับขยะอื่นๆ ในขณะที่ 0.08 ล้านตัน ไม่ได้รับการจัดการและตกค้างในสิ่งแวดล้อม
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ขยะพลาสติกนั้น หากทิ้งและกำจัดไม่ถูกวิธี อาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของสัตว์และแมลงพาหะนำโรค หรือหลุดรอดลงสู่แหล่งน้ำ ส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำได้ รวมถึงการกำจัดรวมกับขยะอื่นที่ไม่ถูกต้อง เช่น การเผาขยะกลางแจ้ง จะก่อให้เกิดควันและสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เป็นต้น นอกจากนี้ กระบวนการผลิตพลาสติกยังมีการใช้วัตถุดิบจากปิโตรเลียมและพลังงานปริมาณมาก ทำให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ สาเหตุสำคัญของปัญหาภาวะโลกเดือด กรมอนามัย จึงขอเชิญประชาชนและทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมเพื่อลดผลกระทบดังกล่าวลดภาวะโลกเดือด ด้วยการลดใช้พลาสติก เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) รวมทั้งในชีวิตประจำวัน
“นอกจากนี้ กรมอนามัยขอเชิญชวนโรงพยาบาล และสถานประกอบการทุกแห่ง ร่วมกันรณรงค์ลดการใช้พลาสติกด้วย 6 วิธี 1.ใช้หลัก 3 Rs ได้แก่ Reduce (ลดการใช้ ใช้น้อยเท่าที่จำเป็น) Reuse (ใช้ซ้ำ และใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น) และ Recycle (แปรรูปมาใช้ใหม่) 2.รณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติก แก้วพลาสติก และภาชนะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง 3.ส่งเสริม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หันมาใช้แก้วน้ำ ภาชนะส่วนตัว 4.จัดให้มีการแยกขยะและรณรงค์การทิ้งขยะให้ถูกต้อง 5.ประชาสัมพันธ์ถึงผู้มารับบริการ ให้นำถุงผ้า กระเป๋า ตะกร้า มาใส่ของหรือยากลับบ้าน และ 6.จัดอาหารว่าง อาหารกลางวัน โดยใช้วัสดุที่สามารถใช้ซ้ำ หรือย่อยสลายได้ง่ายแทน เพื่อพัฒนาสถานบริการสาธารณสุขที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการจัดการของเสีย ทุกประเภทอย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับประชาชนสามารถช่วยลดขยะพลาสติกได้ง่าย ด้วย 5 วิธี 1.ปฏิเสธไม่รับถุงพลาสติก 2.ใช้แก้วน้ำ ภาชนะส่วนตัว ใส่น้ำและอาหาร 3.ใช้ถุงผ้า ตะกร้า ใส่ของแทนถุงพลาสติก 4.หลอดดูดน้ำ ช้อนส้อมพลาสติก ถ้าไม่จำเป็น ไม่ต้องใช้ และ 5.ทิ้งขยะถูกถัง และแยกขยะพลาสติก ทั้งนี้ การลดขยะ 1 กิโลกรัม จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 0.8 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จากการฝังกลบขยะแบบถูกหลักสุขาภิบาล” พญ.อัจฉรา กล่าว
ที่มา: https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_4611755