ที่ผ่านมาโลกขับเคลื่อนภาคธุรกิจด้วยเศรษฐกิจเส้นตรงซึ่งนำทรัพยากรธรรมชาติมาผลิต ใช้ แล้วทิ้ง เศรษฐกิจรูปแบบนี้เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างไม่คุ้มค่า ทั้งยังก่อให้เกิดขยะมหาศาล ซึ่งสร้างผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างมาก โดยเฉพาะขยะพลาสติกซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก
แม้ว่าการรีไซเคิลจะสามารถรักษาคุณค่าของวัสดุได้ แต่ก็ยังไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะโดยเฉลี่ยแล้วทั่วโลกรีไซเคิลได้ 9% แต่ทำได้อย่างมีประสิทธิผลเพียง 2% เท่านั้น เนื่องจากพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติกมีความซับซ้อน
ความซับซ้อนของพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติกเกิดจากการพัฒนาพอลิเมอร์ชนิดใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มคุณสมบัติและเพื่อตอบสนองฟังก์ชั่นการใช้งาน เช่น การผสมมอนอเมอร์ตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปเพื่อสังเคราะห์
โคพอลิเมอร์ หรือเพื่อผลิตพอลิเมอร์เบลนด์ การเติมตัวเสริมแรง เช่น เส้นใยแก้วหรือเส้นใยคาร์บอน การเติมตัวเติม เช่น ทัลคัมหรือแคลเซียมคาร์บอเนต รวมถึงการเติมสารเติมแต่ง เช่น ผงสี สารหน่วงการติดไฟ สารต้านจุลชีพ หรือสารเพิ่มเสถียรภาพทางความร้อน
นวัตกรรมด้านโพลิเมอร์ทำให้เกิดพลาสติกใหม่ไม่ต่ำกว่า 80 ชนิด แต่มีเพียง 6 ชนิดที่มีสัญลักษณ์ระบุชนิดของพลาสติก (resin identification code) และแต่ละชนิดยังแบ่งเป็นอีกหลายเกรด ผลก็คือการระบุชนิดของพลาสติกทำได้ยาก คัดแยกยาก และเก็บรวบรวมแบบแบ่งแยกชนิดให้ชัดเจนได้ไม่มากนัก อีกทั้งการรีไซเคิลพลาสติกที่มีสารเติมแต่งที่อาจเป็นสารอันตรายหรือเปลี่ยนเป็นสารอันตรายได้นั้นอาจทำให้ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ได้มีสารอันตรายตกค้างปนเปื้อนอยู่ด้วย
แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) เน้นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้น้อยที่สุดและเกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน การคิดใหม่หรือการออกแบบโซลูชั่น (ผลิตภัณฑ์ บริการ กระบวนการ หรือระบบ) แนวคิดนี้พิจารณาตลอดวงจรชีวิต ตั้งแต่การออกแบบ การเลือกใช้วัตถุดิบ กระบวนการผลิต การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ การใช้งาน และการจัดการเมื่อสิ้นอายุการใช้งานหรือไม่ใช้แล้ว
ในกรณีของพลาสติก คือการคงคุณค่าของพลาสติกให้อยู่ในระบบเศรษฐกิจนานที่สุด หรือสามารถเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ที่สิ้นสุดการใช้งานให้กลับมาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ด้วยกระบวนการซ่อมแซม (repair) การปรับปรุงใหม่ (refurbish) การผลิตใหม่ (remanufacture) การเปลี่ยนวัตถุประสงค์การใช้งาน (repurpose) และท้ายที่สุดคือการรีไซเคิลเพื่อให้ได้ทรัพยากรรอบสอง
การผลิต การพัฒนา และการใช้พลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติกตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดปริมาณขยะและมลพิษ ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคม และนำไปสู่ความยั่งยืนในที่สุด