6 เรื่องที่ผู้ประกอบการต้องรู้ โดยเฉพาะกลุ่ม SME เกี่ยวกับ “ฉลากอาหาร” แบบใหม่ ที่กระทรวงสาธารณสุขปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติม และมีผลบังคับใช้ 2 ก.ค. 2567
หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุข ได้ปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติม ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 445-448 เกี่ยวกับฉลากโภชนาการ, อาหารที่ต้องแสดงฉลากโภชนาการ ค่าพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม แบบจีดีเอ (GDA : Guideline Daily Amount), การกล่าวอ้างทางสุขภาพของอาหารบนฉลาก และผลิตภัณฑ์อาหารเสริม และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 ทำให้ผู้ประกอบการต้องทำความเข้าใจ และเตรียมความพร้อมในการปรับเปลี่ยนฉลากอาหาร โดยเฉพาะ SME
“ฉลากอาหาร” เป็นสิ่งที่จะช่วยบ่งบอกถึงรายละเอียดและส่วนประกอบสำคัญในตัวสินค้า ที่จะช่วยกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค แต่ฉลากอาหารที่ใช้อยู่ในปัจจุบันอาจไม่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ที่หันมาสนใจในเรื่องของโภชนาการอาหารเพิ่มมากขึ้น ทำให้กระทรวงสาธารณสุข ได้ปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติม ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 445-448 เกี่ยวกับฉลากโภชนาการฯ ขึ้น
นางสาวนฤมล ฉัตรสง่า ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยอาหารและการบริโภคอาหารจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในงานสัมมนาพิเศษ “เตรียมความพร้อมด้านฉลากสินค้าตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 445-448” จัดโดยศูนย์ 7 สนับสนุน SME บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่นอีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่
ที่จัดขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการ ในการปรับตัวให้ทันต่อกฎหมายใหม่ เพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการจำหน่ายสินค้า เพราะเมื่อถึงกำหนดบังคับใช้ฉลากอาหารฉบับใหม่แล้วผู้ประกอบการที่ไม่เปลี่ยนฉลาก สินค้าก็จะถูกถอนออกจาก Shelf จำหน่ายโดยอัตโนมัติในทันที
โดยประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 445-448 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้บริโภครับทราบถึงข้อมูลชนิดและปริมาณสารอาหารที่ได้รับจากการบริโภค เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบปริมาณสารอาหารกับอาหารประเภทเดียวกันได้ พร้อมรายละเอียดต่างๆ กำหนดคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ตลอดจนหลักเกณฑ์ในการกล่าวอ้างทางสุขภาพของอาหาร
6 สิ่งควรรู้เกี่ยวกับ “ฉลากอาหาร” ปลอดภัย
1. รูปแบบกรอบข้อมูลโภชนาการ
ต้องเป็นกรอบแบบมาตรฐาน (ไม่มีกรอบแบบย่อ) กรณีนอกเหนือจากรูปแบบที่กำหนด ต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยารวมถึงมีการปรับข้อความ “หนึ่งหน่วยบริโภค” และ “จำนวนหน่วยบริโภค” เป็น “กินได้.. ครั้งต่อ...”
ตลอดจนกำหนดจำนวนรายการสารอาหารบังคับน้อยลง จาก 15 รายการ เป็น 9 รายการได้แก่ พลังงาน ไขมันทั้งหมด ไขมันอิ่มตัว คอเลสเตอรอล โปรตีน คาร์โบไฮเดรตน้ำตาลทั้งหมด โซเดียม และโพแทสเซียมพร้อมกำหนด “โพแทสเซียม” เป็นสารอาหารบังคับเพิ่มเติม
2. ปรับข้อกำหนดเงื่อนไขการแสดงกรอบข้อมูลโภชนาการ
การแสดงกรอบข้อมูลโภชนาการนั้น การแสดงสีของพื้นกรอบข้อมูลให้ใช้สีขาว ตัวอักษรต้องใช้สีที่เห็นและอ่านได้ชัดเจน และต้องเป็นสีเดียวกันสีเส้นกรอบ ขนาดของตัวอักษรต้องมีขนาดดังต่อไปนี้
ส่วนที่ 1 และ 2 ความสูงไม่น้อยกว่า 1.5 มม.
ส่วนที่ 3,4 และ 5 ความสูงไม่น้อยกว่า 1 มม.
พร้อมแสดงข้อมูลพลังงานและสารอาหารทุกรายการตามที่กำหนด แม้ว่าจะมีปริมาณที่ไม่มีนัยสำคัญก็ตาม การแสดงข้อมูลสารอาหารอื่นนอกเหนือจากที่กำหนดให้แสดงในกรอบข้อมูลโภชนาการ ต้องแสดงตามลำดับก่อนหลังตามเงื่อนไขที่กำหนด กำหนดค่าการแปลงหน่วย (Conversion factors) และการคำนวณค่าพลังงาน
การคำนวณค่าพลังงานจากคาร์โบไฮเดรตทั้งหมด, ค่าการแปลงหน่วยของวิตามินและแร่ธาตุ ปัดตัวเลขวิตามินและแร่ธาตุกรณีปริมาณไม่มีนัยสำคัญจาก “<ร้อยละ 2” เป็น“น้อยกว่าร้อยละ 5 ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน”ตามมาตรฐานโคเด็กซ์ (Codex : คณะกรรมาธิการโครงการมาตรฐานอาหารFAO/WHO มีหน้าที่กำหนดมาตรฐานอาหารให้เป็นมาตรฐานสากล)
3. วิธีการกำหนดปริมาณอาหารหนึ่งหน่วยบริโภคกับจำนวนหน่วยบริโภคต่อภาชนะบรรจุ
ปรับแก้ไขนิยามของ “หนึ่งหน่วยบริโภค หรือ ปริมาณที่กินต่อครั้ง” โดยเน้นใช้คำว่า “ปริมาณที่กินต่อครั้ง” ให้สอดคล้องกับข้อความที่ใช้ในกรอบข้อมูลโภชนาการ ขยายกลุ่มอาหารจาก 7 กลุ่ม เป็น 14 กลุ่ม พร้อมชนิดอาหาร และปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภคอ้างอิง ปรับหลักเกณฑ์การก าหนดปริมาณที่กินต่อครั้ง วิธีการกำหนดจำนวนครั้งที่กินได้ต่อภาชนะบรรจุ ปรับเศษเป็นจำนวนเต็ม ให้ใช้ตามหลักการทางคณิตศาสตร์สากล
4. ปรับชื่อบัญชี
“ค่าอ้างอิงสารอาหารต่อวันสำหรับคนไทย (THAI REFERENCE DAILY INTAKES-THAI RDIs)” เพื่อเป็นค่ากลางสำหรับอ้างอิงการแสดงคุณค่าทางโภชนาการบนฉลากอาหาร ปรับลดช่วงอายุอ้างอิงจาก “อายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป” เป็น “อายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป” ไม่กำหนดค่า Thai RDIs ของฟลูออไรด์
5.ค่าอ้างอิงต่อวันของสารอาหาร
กำหนดค่าอ้างอิงต่อวัน (Thai RDIs) ของสารอาหารจำนวน 33 รายการ พิจารณาบนพื้นฐานของปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวัน (Daily Intake Reference Value, DIRVs) ของประชากรทั่วไปสุขภาพดีในช่วงอายุ 19-50 ปี และค่าพลังงานที่ควรได้รับต่อวัน 2,000 กิโลแคลอรี
ปรับลดช่วงอายุอ้างอิงจาก “อายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป” เป็น “อายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป” อ้างอิงตามมาตรฐาน CODEX เพื่อแบ่งกลุ่มประชากรให้ชัดเจน โดยแยกกลุ่มทารกและเด็กเล็ก (อายุ 0-3 ปี) ออกจากกลุ่มประชากรทั่วไป ไม่กำหนดค่า Thai RDIs ของฟลูออไรด์ สอดคล้องกับหลักการพิจารณากำหนดค่า DRIs ของกรมอนามัย
6. เกณฑ์และเงื่อนไขการกล่าวอ้างทางโภชนาการ
ปรับเงื่อนไขการคำนวณปริมาณสารอาหารกรณีอาหารที่มีปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภคอ้างอิงไม่เกิน 30 กรัม หรือไม่เกิน 2 ช้อนโต๊ะ จากการคำนวณ “ต่อ 50 กรัม” เป็น“ต่อ 2 เท่า ของปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภคอ้างอิง” และมีการเพิ่มเงื่อนไขปริมาณ “น้ำตาลทั้งหมด มากกว่า 13กรัม” สอดคล้องกับเงื่อนไขการแสดงข้อความ“เพื่อสุขภาพ” และการกล่าวอ้างทางสุขภาพของอาหาร
ปรับเงื่อนไขข้อความกล่าวอ้าง ไขมันอิ่มตัวต่ำ” “โซเดียมน้อย” “ไม่เติมน้ำตาล/ไม่ใส่น้ำตาล” “เป็นแหล่งของ, มี” “สูง, อุดม”กรณีเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารค่าต่ำสุด = 15% THAI RDIs ค่าสูงสุด = ปรับชนิดและปริมาณตามบัญชีแนบท้ายประกาศฯ
สำหรับผู้ประกอบการที่ผลิตอาหารที่ยื่นขออนุญาตแสดงฉลากโภชนาการก่อนวันที่ประกาศฉบับใหม่บังคับใช้ ผู้ประกอบการยังคงสามารถจำหน่ายต่อไปได้ โดยต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวง สาธารณสุข (ฉบับที่ 182) พ.ศ. 2541 เรื่อง ฉลากโภชนาการ แต่ต้องไม่เกินสามปี นับแต่ฉบับใหม่บังคับใช้คือ ไม่เกินวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2570 หลังจากนั้นต้องแสดงฉลากโภชนาการตามประกาศฯฉบับใหม่