หวั่น “บรรจุภัณฑ์” สินค้าอุปโภคบริโภคขาดแคลน โรงงานวอนผู้ว่าฯ ฉะเชิงเทราช่วยด่วน

อุตสาหกรรมพลาสติกหวั่นเกิดปัญหาขาดแคลน “บรรจุภัณฑ์” หลังโรงงานผลิตรายใหญ่ในฉะเชิงเทรา ถูกสั่งห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าไปทำงาน ตามมาตรการคุมเข้ม แม้จะอยู่จังหวัดติดกันก็ตาม เผยหากบังคับใช้ จะทำให้เดินเครื่องผลิตได้แค่ 42% คาดเสียหายกว่า 200 ล้าน และอนาคตบรรจุภัณฑ์สินค้าอุปโภคบริโภคขาดแคลนแน่ วอนผู้ว่าฉะเชิงเทราช่วยด่วน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้รับแจ้งจากกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ถึงแนวโน้มปัญหาการขาดแคลนสินค้าบรรจุภัณฑ์ ที่อาจจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ หลังจากที่โรงงานผลิตสำคัญที่ตั้งอยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ไม่สามารถเดินเครื่องการผลิตได้ เนื่องจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฉะเชิงเทรา สั่งห้ามการเดินทางเคลื่อนย้ายแรงงาน หรือผู้ปฏิบัติงานที่เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ได้แก่ กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร พระนครศรีอยุธยา และชลบุรี โดยห้ามทำงานในลักษณะไปกลับ ทำให้ไม่มีแรงงานเข้าโรงงานและทำการผลิตสินค้าได้ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ค.2564 เป็นต้นไป

โดยสินค้าที่จะได้รับผลกระทบ เช่น ซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซองขนมปัง ซองอาหารแช่แข็ง ฝาปิดถาดอาหาร ซองผงซักฟอก น้ำยาทำความสะอาด ถุงบรรจุภัณฑ์ยาและเครื่องมือแพทย์ ฉลากขวดบรรจุผลิตภัณฑ์และเครื่องดื่ม ซองขนมขบเคี้ยว ซองลูกอม ซองเบเกอรี่ ห่ออาหารแช่แข็ง อาหารแห้ง ไอศกรีม ซองเครื่องปรุงรสทั้งแบบแห้งและเหลว ซองบรรจุภัณฑ์เครื่องสำอาง เป็นต้น ที่จะมีปัญหาการขาดแคลน และกระทบต่อสินค้าในกลุ่มเหล่านี้ที่จำหน่ายในตลาด ทำให้สินค้าหายไปจากท้องตลาดได้

ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทที่ผลิตสินค้าบรรจุภัณฑ์ข้างต้น ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ บางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา แต่พนักงานหรือแรงงาน รวมถึงผู้บริหาร ผู้จัดการและหัวหน้างาน รวมถึงช่างฝีมือ ช่างวิศวกรรม ที่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และสมุทรปราการ ไม่สามารถเข้าไปควบคุมการผลิตและทำงานได้ เพราะติดปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงาน ทำให้ขณะนี้ การผลิตต้องหยุดชะงัก และเดินการผลิตได้บางส่วน ประมาณ 42% ซึ่งจะทำให้บริษัทเสียหายประมาณ 200 ล้านบาท ยังไม่รวมมูลค่าค่าปรับจากลูกค้า ห้างร้าน ห้างสรรพสินค้า และซุปเปอร์มาร์เก็ต และลูกค้าที่เป็นรายใหญ่และส่งออกอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบรนด์มาม่า

อย่างไรก็ตาม โรงงานผลิตดังกล่าว ได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อขอให้พิจารณาผ่อนปรน โดยเฉพาะแรงงานที่อยู่ในพื้นที่ติดกัน เช่น สมุทรปราการ ที่ห่างกันนิดเดียว แต่ไม่สามารถเดินทางเข้าโรงงานได้ โดยปัจจุบันมีพนักงานที่ต้องเดินทางไปกลับ ทั้งรถรับส่งของบริษัท และรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ส่วนตัว ประมาณ 512 คน จากกรุงเทพฯ 76 คน สมุทรปราการ 330 คน ฉะเชิงเทรา 101 คน ชลบุรี 5 คน ซึ่งสมุทรปราการคิดพเป็น 64.45% ของพนักงานทั้งหมด เพราะหากไม่สามารถเข้าโรงงานเพื่อทำการผลิตบรรจุภัณฑ์ได้ ก็จะส่งผลกระทบทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนบรรจุภัณฑ์ และมีผลกระทบต่อเนื่องถึงสินค้าที่จะขาดแคลนในอนาคตด้วย

 

ที่มา: https://mgronline.com/business/detail/9640000071959 

วันที่ 28 กรกฎาคม 2564