“พานาโซนิค” ผนึกยูเอ็มซี เม็ททอลและซีพี ออลล์ เดินหน้ารีไซเคิลถ่านไฟฉายใช้แล้ว ด้วยเทคโนโลยีเตาเผา ECOARC™ แยกเอาวัสดุกลับมาสร้างมูลค่าใหม่ ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy
“ทาคุยะ ทานิโมโตะ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท พานาโซนิค เอเนอร์จี (ประเทศไทย) เล่าให้ฟังว่า ในแต่ละปี ประเทศไทยมีปริมาณการบริโภคถ่านไฟฉายกว่า 300 ล้านชิ้น มักถูกทิ้งหรือทำลายโดยการฝังกลบไม่คัดแยกก่อให้เกิดปัญหาเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันพื้นที่ในการฝังกลบก็มีจำกัด พานาโซนิคจึงมีแนวคิดในการรับคืนถ่านไฟฉายที่ใช้แล้วจากผู้บริโภค เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธี และนำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดมูลค่าใหม่ในระบบเศรษฐกิจ ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy
พานาโซนิคฯ จึงเดินหน้า “โครงการรีไซเคิลถ่านไฟฉายที่ใช้แล้วตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)” ขึ้น โดยเริ่มต้นจากการส่งตัวอย่างถ่านไฟฉายให้โครงการศึกษาวิจัยเทคโนโลยีรีไซเคิลของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรมจนสามารถได้รับอนุญาต และต่อยอดความร่วมมือกับ ยูเอ็มซีฯ รีไซเคิลเศษโลหะและวัสดุอื่นๆ และซีพี ออลล์ ขยายจุดรับทิ้งถ่านไฟฉายใช้แล้วที่ร้านเซเว่นฯ 31 สาขาในปี 2565 เพิ่มเป็น 50 สาขาในปี 2566
โดยโครงการนี้ ใช้กระบวนการหลอมถ่านไฟฉายร่วมกับเศษเหล็กอื่นๆ ด้วยเตาหลอม ECOARC™ ซึ่งเป็นต้นแบบเตาหลอมประสิทธิภาพสูง ที่ได้รับการพัฒนาจากประเทศญี่ปุ่น โดยเน้นในเรื่องการประหยัดพลังงาน คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สามารถบำบัดมลพิษ และกำจัดสารไดออกซิน ก่อนปล่อยสู่อากาศ โดยตั้งอยู่ที่ ยูเอ็มซี เม็ททอล จ. ชลบุรี ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐบาลญี่ปุ่น โดยองค์กรพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (NEDO)
“ถ่านไฟฉายที่เราทิ้งหน้าร้านเซเว่นฯ นั้นไม่ได้หายไปไหน แต่ถูกนำมาแปรรูปเป็นเหล็กแท่ง โดยยูเอ็มซีฯ ในจังหวัดชลบุรีเพื่อเข้าสู่กระบวนการหลอมรวมกับเศษเหล็กในอัตราส่วนที่กำหนด และส่งเข้าเตาหลอม ECOARC™ ใช้รถยกตะแกรง (Skip car) และเมื่อกระบวนการหลอมเสร็จสิ้นลง จะได้ออกมาเป็นน้ำเหล็ก และถูกส่งต่อไปยังเตาปรุงน้ำเหล็ก เพื่อปรับค่าเคมีของเหล็ก ก่อนจะนำไปหล่อเป็นผลิตภัณฑ์เหล็กแท่ง (Billet) เพื่อส่งขายในอุตสาหกรรมเหล็กต่อไป”
ทั้งนี้เป้าหมายสูงสุดของโครงการ คือการนำถ่านไฟฉายที่ใช้แล้วกลับไปผลิตเป็นถ่านไฟฉายก้อนใหม่ ซึ่งถือเป็นการรีไซเคิลถ่านไฟฉายใช้แล้วเต็มรูปแบบครั้งแรกของไทย และตั้งเป้าหมายเพิ่มจุดรับถ่านไฟฉายที่ใช้แล้วเป็น 1,000 สาขาภายในปี 2567 เพื่อนำถ่านไฟฉายที่ใช้แล้วเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล โดยทั้งหมดนี้เพื่อสนับสนุนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืน
ที่มา: https://www.thansettakij.com/sustainable/zero-carbon/592304