ครั้งแรกในไทย! ‘เรือดักขยะ’ ใช้ AI กวาดพลาสติก คลีนเจ้าพระยา ชัชชาติ-รมต.ปลื้มมาก

ผู้ว่าฯ ลั่น ขยะทุกชิ้นมีเจ้าของ – ครั้งแรกในไทย! ชัชชาติ-รมว.ทรัพยากรฯ-ทูตเนเธอร์แลนด์ เปิดตัวเรือดักขยะ’ ใช้ AI กวาดพลาสติก คลีนเจ้าพระยา

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม เวลา 14.00 น. ที่สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ ถนนพระรามที่ 3 แขวงบางโคล่ เขตบางคอแหลม กรุงเทพฯ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งเวดล้อม (ทส.) พร้อมด้วย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายแร็มโก โยฮันเนิส ฟัน ไวน์คาร์เดิน เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย เป็นเจ้าภาพร่วมในพิธีเปิดตัวเรือดักเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์ (Interceptor) “Unveiling Interceptor 019: the new cleanup solution in the Chao Phraya River”

เนื่องด้วยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) แห่งราชอาณาจักรไทย และองค์กร The Ocean Cleanup Interception B.V. แห่งราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อศึกษาวิจัยและเก็บรวบรวมขยะพลาสติกในแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยใช้เครื่องดักขยะพลังงานแสงอาทิตย์ (Interceptor)

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และองค์กร The Ocean Cleanup ในฐานะผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินโครงการ โดยมีกรุงเทพมหานคร ทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย และบริษัทโคคาโคล่าเป็นหน่วยงานภาคี จึงร่วมเปิดตัว ‘เรือเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์’ (Interceptor) เพื่อสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเชิงนวัตกรรมในการป้องกันการเล็ดลอดของขยะพลาสติกจากแม่น้ำลงสู่มหาสมุทรทั่วโลก ผ่านทางอ่าวไทย

เวลา 14.45 น. นายแร็มโก โยฮันเนิส ฟัน ไวน์คาร์เดิน เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย กล่าวว่า โครงการนี้มีความสำคัญในการลดขยะพลาสติกลงสู่แม่น้ำ ก่อนที่จะไหลลงสู่มหาสมุทร ซึ่งประเทศไทยก็มีมาตรการในการลดขยะพลาสติกเช่นกัน และหลายโครงการก็ปรากฏให้เห็น

“พิสูจน์ให้เห็นว่านวัตกรรมมีส่วนช่วยโลกได้ ผมจึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มาร่วมเปิดงานวันนี้ ทางสถานทูตมีส่วนสำคัญในการร่วมมือโครงการนี้ มากกว่า 3 ปี ซึ่งประเทศเนเธอร์แลนด์เอง ก็ตระหนักถึงความสำคัญของมลภาวะอยู่เสมอ ถึงแม้จะเป็นก้าวแรก แต่เป็นก้าวสำคัญของอนาคต ในการจำกัดขยะพลาสติกและมลพิษทางน้ำ ผมดีใจอย่างมากที่ได้เห็นความร่วมมือในครั้งนี้” นายแร็มโกกล่าว

จากนั้น นายชัชชาติ ผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า ดีใจที่ทางสถานทูตเนเธอร์แลนด์และโอเชี่ยนกรีน ที่เลือก กทม.เป็นจุดที่ตั้ง ของเรือหมายเลข 019 ในการติดตั้งเรือเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์

“โลกทั้งโลกเชื่อมกันด้วยสายน้ำ และสายน้ำก็นำพาขยะไปด้วย ถ้าเราไม่จัดการที่ต้นทาง สุดท้ายจะไปกองที่มหาสมุทร ซึ่งเดือนที่ผ่านมา เราใช้เรือเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์ (Interceptor) เก็บขยะไปนับ 10 ตันแล้ง” นายชัชชาติเผย

นายชัชชาติกล่าวอีกว่า ประสิทธิภาพที่สำคัญทำให้เห็น 2 ด้าน คือ 1.แสดงให้เห็นความสำคัญของการร่วมมือกัน ไม่มีทางที่เราคนใดคนหนึ่งจะทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นได้ เราทุกคนต้องร่วมมือกัน นี่คือพลังอันแรก ซึ่งตนไม่เคยเห็นหน่วยงานมาร่วมกันมากขนาดนี้ ทั้งภาครัฐและเอกชน กทม. กรมเจ้าท่า กระทรวงทรัพยากรฯ สถานทูต และเอกชน ส่วนประสิทธิภาพที่สองคือการเป็นเครื่องเตือนใจ

“เตือนใจเราว่าสุดท้ายอยู่ที่พฤติกรรมของเรา ‘ขยะทุกชิ้นมีเจ้าของ’ โครงการนี้นอกจากช่วยลดขยะในแม่น้ำแล้ว ยังมีประสิทธิภาพในการปรับพฤติกรรมของเราด้วย” นายชัชชาติกล่าว

ต่อมาเวลา 14.55 น. พล.ต.อ.พัชรวาทกล่าวถึงความร่วมมือและบทบาทภารกิจกระทรวง ในด้านจัดการขยะพลาสติกของไทยว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีวิสัยทัศน์ในการฟื้นฟูและรักษาสิ่งแวดล้อม โดยได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ซึ่งถือเป็นวาระแห่งชาติ

“เพราะสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ความร่วมมือในการติดตั้ง Interceptor 019 ในแม่น้ำเจ้าพระยาในครั้งนี้ จะสนับสนุนการทำงานเชิงรุกด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และรักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการจัดการปัญหาขยะพลาสติกในประเทศไทย ซึ่งเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน” พล.ต.อ.พัชรวาทกล่าว

ด้าน นายโบยาน แสลต ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้งองค์กร The Ocean Cleanup กล่าวว่า เรามี 2 ภารกิจสำคัญ คือ 1.จำกัดขยะในแหล่งน้ำ 2.ป้องกันขยะที่จะเข้าสู่แหล่งน้ำ โดยนับเป็นเครื่องแรกที่ได้ทดลองติดตั้งที่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเราเริ่มเริ่มดำเนินการตั้งแต่เมื่อ 4 ปีที่แล้ว เพราะเห็นว่าเป็นสายน้ำที่สำคัญอย่างยิ่ง และติดอันดับขยะในแม่น้ำ จึงเลือกมาทำจุดนี้

ซึ่งเรือดักจับขยะ Interceptor 019 ถือเป็นก้าวสำคัญในการป้องกันไม่ให้มลพิษจากขยะพลาสติกในกรุงเทพฯ ไหลลงสู่มหาสมุทร นับเป็นก้าวแรกของเราในประเทศ ไทยสำหรับการร่วมมือกับกรุงเทพมหานครและพันธมิตร เพื่อลดปัญหาขยะในแม่น้ำเจ้าพระยา

“สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากการดำเนินงานด้านการกำจัดพลาสติกในมหาสมุทรในเมืองต่างๆ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการโครงการติดตั้ง Interceptor ทั่วโลก ซึ่งเรามีแผนจะขยายไปอีกหลายแห่ง ภายใต้โครงการ Rivers ของเรา” นายโบยานกล่าว

จากนั้นเวลา 15.00 น. มีวงเสวนาเรื่องความร่วมมือโครงการของ The Ocean Cleanup และพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง

เวลา 15.15 น. นายชัชชาติ พล.ต.อ.พัชรวาท พร้อมด้วยผู้บริหารลงเรือไปสำรวจ เรือดักเก็บขยะบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา Interceptor 019 โดยผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมให้ข้อมูลว่า ภายในเรือมีถังขยะขนาดใหญ่จำนวน 6 ถัง ซึ่งใช้เซ็นเซอร์และเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยในการช่างน้ำหนักและเกลี่ยขยะ เพื่อทำให้เรือบาลานซ์

ทั้งนี้ เรือดักจับขยะ Interceptor 019 ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ ซึ่งนับเป็นลำที่ 5 หลังจากดำเนินการติดตั้งที่ อินโดนีเซีย 1 ลำ, เวียดนาม 1 ลำ และมาเลเซีย 2 ลำ

โดยแม่น้ำเจ้าพระยาถือเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่เราเลี้ยงผู้คนในกรุงเทพฯ และนับเป็นสายสำคัญของเอเชีย จึงดำเนินการติดตั้งเรือเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์ที่ริมฝั่งแม่น้ำ บริเวณหน้าสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา ซึ่งเป็นช่วง 16 กิโลเมตรที่สำคัญของแม่น้ำเจ้าพระยา และมีลำคลอง 61 สาย ที่ไหลมาบรรจบบริเวณดังกล่าว ซึ่งจะมีการเก็บข้อมูลขยะที่ดักได้ เพื่อทำความเข้าใจประเภทของพลาสติกในแม่น้ำเจ้าพระยา

 

ที่มา: https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_4493682 

วันที่ 29 มีนาคม 2567