"ตรีชฎา" ซัด "เท่าพิภพ" หาข้อมูลหลังโพสต์ทำคนเข้าใจผิด ร่าง กม.ฉลากคำเตือน "น้ำเมา" แจงยังต้องผ่านอีกหลายขั้นตอน

สธ.แจงฉลากคำเตือน น้ำเมา ยังอยู่ระหว่างรับฟังความเห็นถึง 29 ก.พ.นี้ ต้องผ่าน คกก.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบอร์ดนโยบายอีก ซ้ำต้องแจ้งเวียนประเทศสมาชิก WTO ให้ความเห็นก่อน ชลน่าน จึงลงนามฐานะ รมวงสธ.ได้ ตรีชฎา ติง เท่าพิภพ อย่าสร้างความเข้าใจผิด ปชช. แนะศึกษาขั้นตอนออกกฎหมายก่อน

จากกรณีนายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊กและสื่อโซเชียลส่วนตัว ระบุถึง (ร่าง) ประกาศกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ฉลาก พร้อมทั้งข้อความ คำเตือน สำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้า พ.ศ. ... จะมีการกำหนดให้มีข้อความคำเตือนถึงโทษและพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บนภาชนะบรรจุและหีบห่อบรรจุของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยอ้างร่างดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รอการลงนามจาก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

เมื่อวันที่ 27 ก.พ. น.ส.ตรีชฎา ศรีธาดา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ฝ่ายการเมือง กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า เป็นการสื่อสารที่บิดเบือนและสร้างความเข้าใจผิดต่อสังคมเป็นอย่างมาก ข้อเท็จจริง คือ ร่างประกาศดังกล่าว เป็นความรับผิดชอบของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งปฏิบัติตามมาตรา 26(1) ของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ที่บัญญัติให้ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า ต้องจัดให้บรรจุภัณฑ์ ฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือนสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้า เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กำหนด โดยเป็นความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

น.ส.ตรีชฎา กล่าวว่า ขณะนี้ร่างยังอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ระหว่างวันที่ 12-29 กุ.พ. 2567 เมื่อรับฟังความคิดเห็นแล้ว ยังต้องส่งข้อมูลที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็น ส่งไปที่อนุกรรมการร่าง และแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย เพื่อพิจารณาปรับปรุงแก้ไขในวันที่ 5 มี.ค. 2567 และเมื่อคณะอนุกรรมการพิจารณาเสร็จสิ้น ก็จะส่งร่างเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันที่ 11 มี.ค. 2567 จากนั้นจึงจะส่งต่อไปยังคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ในวันที่ 28 มี.ค. 2567 ตามลำดับ หากผ่านความเห็นของคณะกรรมการทั้งสองชุด จึงจะนำเสนอ รมว.สธ. ในฐานะประธานกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อลงนามให้มีผลใช้บังคับต่อไป

“การออกประกาศยังมีขั้นตอนอีกหลายขั้นตอน ทั้งความเห็นของภาคประชาชน และการเสนอของกรรมการอีก 2 คณะใหญ่ ซึ่งอาจจะไม่ผ่านความเห็นชอบของกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และกรรมการนโยบายฯ ก็ได้ จึงไม่อยากให้นายเท่าพิภพ สร้างความสับสน เข้าใจผิดให้กับประชาชนคิดไปก่อนว่ารัฐบาลไม่ส่งเสริมสุราประชาชน ไม่ส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อย ขอให้นายเท่าพิภพไปศึกษากฎหมายและขั้นตอนทางกฎหมายให้ดีก่อน ที่จะออกมาโพสต์ข้อความบิดเบือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การพูดหรือแสดงความคิดเห็น ควรมีความน่าเชื่อถือ ไม่สร้างความสับสนให้ประชาชนเข้าใจผิด“ น.ส.ตรีชฎากล่าว

ด้าน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเด็นการออกข้อบังคับบรรจุภัณฑ์ ฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือนสำหรับติดบนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดทุกประเภท ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างรอ รมว.สธ.ลงนามและจะมีผลใช้บังคับได้ทันทีนั้น ไม่เป็นความจริง โดยร่างประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ ฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือนสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้า พ.ศ. ... ขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องผ่านระบบกลางทางกฎหมาย และสอบถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่าน Google Form ระหว่างวันที่ 12-29 ก.พ.2567 ซึ่งขั้นตอนหลังจากที่รับฟังความคิดเห็นเสร็จสิ้นแล้วจะนำมาสรุปผล เพื่อนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการร่าง และแก้ไขปรับปรุงกฎหมายหรืออนุบัญญัติ ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ประกอบการปรับปรุงแก้ไขร่างประกาศอีกครั้ง ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากร่างประกาศฉบับนี้มีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับพันธกรณีในข้อตกลงว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (Technical Barriers to Trade Agreement : TBT Agreement) ที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องแจ้ง (Notification) กฎระเบียบ ที่อาจส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อการค้าของประเทศสมาชิกอื่น จึงต้องมีการแจ้งเวียนร่างประกาศดังกล่าวให้กับประเทศสมาชิก WTO เพื่อพิจารณาให้ความเห็น หลังจากดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าวเสร็จสิ้น จึงจะสามารถเสนอ รมว.สธ. ในฐานะประธานกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลงนามเพื่อให้มีผลใช้บังคับต่อไป

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีระบบเฝ้าระวังการละเมิดกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (TAS) โดยสามารถเข้าใช้งานผ่านเว็บไซต์ https://tas.go.th ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถร้องเรียนผ่านระบบดังกล่าวได้ และขอความร่วมมือจากประชาชนปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยสามารถโทรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนบุหรี่และสุรา โทร.0 2590 3342 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

 

ที่มา: https://mgronline.com/qol/detail/9670000017735 

วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567